posttoday

ทบ. อเมริกันบุกไทยไม่แคร์โควิด ตั้งฐานทัพ-หาแนวร่วมสู้จีน?

06 กรกฎาคม 2563

นี่เป็นบทวิเคราะห์ความเป็นไปได้ว่าทำไมผู้บัญชาการทหารบกของสหรัฐต้องมาไทยในเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานแบบนี้

ที่บอกว่า "ช่วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวาน" ไม่ใช่แค่เพราะไทยอยู่ในช่วงที่ต้องระวังการระบาดเท่านั้น แต่ยังเป็นช่วงเวลาสำคัญที่สหรัฐจะต้องรุกเข้ามาในเอเชียแปซิฟิกก่อนที่จีนจะปักหมุดในทะเลจีนใต้ถาวรมากกว่านี้

สหรัฐยังคงเป็นประเทศที่เอาตัวไม่รอดจากการระบาด ผิดกับจีนที่กลับมาเป็นปกติอีกครั้งแล้ว และเมื่อจีนเป็นปกติก็สามารถที่จะผลักดันยุทธศาสตร์เชิงรุกได้สะดวกกว่า

ตอนนี้จีนลงไปปักหมุดที่ทะเลจีนใต้ถาวรขึ้นเรื่อยๆ ข้อมูลล่าสุดคือเกาะบางแห่งที่จีนยึดครองไว้ถึงขนาดมีสระน้ำจืดเอาไว้บนเกาะ ซึ่งว่าไปก็ถือเป็นความสำเร็จเชิงวิศวกรรมที่น่าทึ่งที่สามารถสร้างแหล่งน้ำใหญ่ไว้บนเกาะดอนทรายกลางทะเลไกลโพ้นได้

แต่ในแง่หนึ่งหมายความว่าจีนมีฐานทัพที่พร้อมสำหรับการรบและรับเรือรบของตัวเอง

ในช่วงเดียวกับที่มีข่าวว่า พลเอก เจมส์ แมคคอลเวล (Gen. James C. McConville) ผู้บัญชาการทหารบกสหรัฐอเมริกาจะเข้ามาไทยจนเป็นเรื่องวุ่นวายนั้น กองทัพเรือสหรัฐก็ส่งเรือไปวัดกำลังกับจีนที่ทะเลจีนใต้ 3 ลำตอนแรกจ่ออยู่ที่ริมทะเลจีนใต้ ตอนนี้ส่วนเข้าไปแวะเวียนแล้ว 2 ลำคือ USS Nimitz กับ USS Ronald Reagan ปราฎว่าจีนโมโหใหญ่

คงจะจำกันได้ว่าตอนที่โควิด-19 ระบาดใหม่ๆ กองทัพสหรัฐติดเชื้อกันระนาว โดยเฉพาะบนเรือบรรทุกเครื่องบิน USS Theodore Roosevelt ซึ่งมีผู้ติดเชื้อมากถึง 1,156 รายจากลูกเรือทั้งหมด 3,200 นาย เมื่อกัปตันเรือร้องขอให้ผู้ใหญ่เหลียวแล กลับถูกผู้ใหญ่ในกระทรวงปลดจากตำแหน่งเสียอีก กลายเป็นเรื่องอื้อฉาวครั้งใหญ่ของกองทัพสหรัฐและในช่วงการระบาดของโควิด-19

ขณะที่เรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐกำลังป่วยกันงอมแงม จีนก็ไสเรือบรรทุกเครื่องบินลงทะเลไปอีก 1 ลำคือเรือ Shandong ปล่อยกันลงทะเลเพื่อทดสอบเมื่อวันที่ 15 มิถุนายนหลังจากที่จีนคลายล็อคดาวน์กันหมาดๆ แต่ในช่วงล็อคดาวน์ลูกเรือก็ไม่อยู่นิ่งทำการฝึกซ้อมรบมาตลอด เจ้าหน้าที่นายหนึ่งบนเรือบอกกับ CCTV ว่า "เราจะทำสุดความสามารถที่จะทำให้เรือบรรทุกเครื่องบินของเราสามารถต่อสู้และเอาชนะได้"

คำถามคือจะไปสู้กับใครและเอาชนะใคร?

คำตอบคือใครก็ตามที่จีนเป็นคู่กรณีด้วยในเวลานี้ ตั้งแต่ญี่ปุ่นไปจนถึงประชาชาติในอาเซียนที่แย่งน่านน้ำทะเลจีนใต้ และเป้าหมายใหญ่สุดคือสหรัฐ ที่ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียเรื่องแย่งน่านน้ำ แต่เพราะเป็นเจ้าสมุทรแห่งแปซิฟิกมาแต่ไหนแต่ไร และไม่มีทางจะยอมให้จีน "เสนอหน้า" ขึ้นมาได้

สหรัฐพยายามที่จะล็อบบี้ประเทศแถบอาเซียนให้มาเป็นพันธมิตรต้านจีนร่วมกัน ตัวอย่างล่าสุดคือฟิลิปปินส์ที่ตอนแรกประธานาธิบดีดูเตร์เตแสดงอาการจะไม่ต่อสัญญาความร่วมมือด้านการทหารกับสหรัฐ แต่แล้วก็ตัดสินใจทำสัญญาต่อแบบเหนือความคาดหมาย

พลเอก เจมส์ แมคคอลเวล เป็นผู้บัญชาการทัพบกแล้วเกี่ยวอะไรกับทะเลจีนใต้?

ขณะที่สหรัฐกำลังวัดกับจีนด้วยเรือบรรทุกเครื่องบิน สิ่งที่สหรัฐไม่มีคือ "ฐานทัพ"

พลเอก แมคคอลเวล เคยให้สัมภาษณ์ว่าแทนที่จะส่งหน่วยทหารอเมริกันไปยังพื้นที่ต่างๆ ของโลกจำเพาะพื้นที่ไปตามสถานการณ์จำเป็น เขาบอกว่ากองทัพควรจะส่งทหารออกไปประจำการก่อนที่เหตุการณ์หนึ่งๆ มันเกิดขึ้นมาแล้ว

แมคคอลเวล ยังเคยบอกด้วยว่าเป้าหมายอันดับต้นๆ คือการส่งทหารสหรัฐไปปฏิบัติหน้าที่ยังจุดต่างๆ และ "สร้างฐานทัพมาตรฐาน" และเผยว่าพื้นที่แปซิฟิกและเอเชียถือเป็นความสำคัญอันดับต้นๆ

ฐานทัพของสหรัฐในเอเชียแปซิฟิกอยู่ที่ญี่ปุ่น เกาหลีและออสเตรเลีย แต่ญี่ปุ่นกับเกาหลีนั้นไม่ได้มีไว้รับมือแค่จีน แต่ยังรวมถึงเกาหลีเหนือและรัสเซีย ส่วนออสเตรเลียก็ไกลเกินไป แม้ว่าสหรัฐจะพยายามเสริมความแข็งแกร่งของฐานทัพในออสเตรเลียเพื่อรับมือกับจีนก็ตาม

แมคคอลเวลบอกว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงเรื่องการส่งกำลังทหารสหรัฐในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เรื่องนี้ไม่ใช่แค่ความคิดของระดับผู้บัญชาการกองทัพบก เพราะมีคนที่ใหญ่กว่าเขาอีก นั่นคือระดับรัฐมนตรี เช่น ไรอัน ดี. แมคคาร์ธี (Ryan D. McCarthy) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกองทัพบกสหรัฐกล่าวไว้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ว่าสหรัฐกำลังสำรวจความเป็นไปได้ในการจัดตั้งฐานทัพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นเดียวกับที่มีอยู่ในทวีปยุโรป

นี่คือสาเหตุที่แมคคอลเวลเดินทางมาไทย

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์แมคคอลเวลบอกเองว่าเขาเดินทางมาหารือกับ "หุ้นส่วน" ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งพวกเขาแสดงความกระตือรือร้นเรื่องที่สหรัฐจะขยายการประจำการของกองทัพในภูมิภาคนี้ เพื่อใช้เป็นฐานสำหรับการซ้อมรบในเอเชียแปซิฟิก

ที่สำคัญคือแมคคอลเวลบอกว่าการมีฐานทัพมีระยะห่างพอที่จะยิงขีปนาวุธพิสัยไกลได้ จะช่วยรับมือกับภัยคุกคามจากจีนที่มีเทคโนโลยีล้ำสมัยมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเทคโนโลยีการป้องกันการโจมตี

แมคคอลเวลไม่ได้บอกว่าประเทศไหนที่ตื่นเต้นกับการตั้งฐานทัพในอาเซียน แต่เขาบอกว่า "ตอนนี้เรายังไม่ได้คุยเรื่องรายละเอียด ยังไม่มีอะไรมีแต่ความตื่นเต้น"

เป็นเรื่องบังเอิญที่เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบกเดินทางไปสหรัฐที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ตามคำเชิญของพลเอก แมคคอลเวล แล้วก็บังเอิญอีกที่ตอนนั้นไทยกับสหรัฐกำลังซ้อมรบ Cobra Gold กันพอดี

พลเอก อภิรัชต์ได้พบกับ ลัดดา แทมมี ดักเวิร์ธ (Ladda Tammy Duckworth) วุฒิสมาชิกชาวอเมริกันเชื้อสายไทย และสมาชิกคณะกรรมาธิการกิจการกองทัพ ซึ่ง ส.ว. ลัดดาบอกในแถลงการณ์ว่า "เราควรร่วมมือกันมากขึ้นเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้"

เรื่องนี้ต้องจับตาให้ดีเพราะเกี่ยวพันกับความเป็นมิตรความเป็นศัตรูของไทยกับจีนและสหรัฐ

หากเดินเกมผิดพลาดอาจทำให้ไทยตกที่นั่งลำบากได้

บทวิเคราะห์โดย กรกิจ ดิษฐาน

ภาพของ พลเอก เจมส์ แมคคอลเวล จาก United States Army