คอคอดกระชักศึกเข้าบ้าน? จีน สหรัฐ อินเดีย ออสเตรเลีย จะรุมทึ้งไทย
หากขุดคลอง คอคอดกระจะกลายเป็นจุดที่มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกมหาอำนาจโจมตี
แผนการที่จะขุดคลองเชื่อมต่ออ่าวไทยกับทะเลอันดามันมีมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชจวบจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ด้วยเหตุผลทางยุทธศาสตร์ในการควบคุมชายฝั่งทั้งสองของไทยและป้องกันการคุกคามจากศัตรู
เมื่อเข้าสู่ล่าอาณานิคม การขุดคลองผ่านปักษ์ใต้ก็ยังถูกพูดถึงเรื่อยมาและบางครั้งมีอธิปไตยของชาติเป็นเดิมพัน เช่น การที่รัฐบาลอังกฤษกดดันไม่ให้รัฐบาลสยามขุดคลอง เช่นเมื่อปี พ.ศ. 2437 มอริซ เดอ บันเซน (Maurice de Bunsen) ทูตอังกฤษเดินทางมายังกรุงเทพมหานครโดยได้รับคำสั่งว่า อังกฤษไม่อาจปล่อยให้มีอำนาจจากต่างชาติ (ฝรั่งเศส) เข้ามาแทรกแซงดินแดนสยามในคาบสมุทรมลายูได้ และ De Bunsen ได้รับคำสั่งจากรัฐบาลว่าควรป้องกันไม่ให้ฝรั่งเศสพยายามสร้างคลองข้ามคอคอดกระ
รัฐบาลสยามทราบดีว่าอังกฤษกับฝรั่งเศสรู้สึกกังวลกับสถานะของคอคอดกระ และการที่อังกฤษไม่ยอมยึดสยามเป็นอาณานิคมก็เพราะไม่อยากปะทะกับฝรั่งเศสที่ปกครองอินโดจีน ดังนั้นทั้งฝรั่งเศสและอังกฤษจึงตกลงที่จะปล่อยสยามให้เป็นเขตกันชน และดังนั้นจึงไม่มีใครที่จะมีโอกาสได้ขุดคอคอดกระ ทำให้คอคอดกระเป็น "ไพ่ตาย" ของสยามในการถ่วงกับมหาอำนาจ
จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยสามารถหลีกเลี่ยงการตกเป็นประเทศผู้แพ้สงครามได้และทำสัญญาสันติภาพกับอังกฤษโดยอังกฤษตั้งข้อแม้ว่า "รัฐบาลสยามรับปากว่าจะไม่มีคลองเชื่อมมหาสมุทรอินเดียและอ่าวสยาม" หรือถ้าจะขุดต้องได้รับอนุญาตจากอังกฤษเสียก่อน
ทุกวันนี้ "คลองไทย" ก็ยังเป็นไพ่ตายของไทยเช่นเดิมในการถ่วงดุลกับมหาอำนาจ
ปัจจุบันโครงการขุดคอคอดกระของไทยถูกพูดถึงบ่อยครั้ง เพราะหากขุดสำเร็จคลองแห่งนี้จะเปลี่ยนยุทธศาสตร์การเดินเรือของโลก และที่ผ่านมารัฐบาลจีนพยายามผลักดันอย่างหนักให้โครงการนี้เกิดขึ้น
จนมีข่าวออกมาว่า พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมลงนามในเอ็มโอยูกับฝ่ายจีนที่เมืองกวางโจวในศึกษาโครงการขุดคอคอดกระ แต่ต่อมาทั้งคนใกล้ชิดบิ๊กจิ๋วและทางการจีนปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง เป็นเพียงปล่อยข่าวลวงเท่านั้น
แต่ล่าสุดดูเหมือนว่าจะไม่ใช่แค่จีนที่สนใจคอคอดกระของไทย เพราะพลตรี ทรงกลด ทิพย์รัตน์ หัวหน้าพรรคพลังชาติไทย ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการขุดคอคอดกระ เผยกับผู้สื่อข่าวในไทยว่า นอกจากจีนแล้ว ยังมีอินเดีย ออสเตรเลีย และสหรัฐ สนใจสนับสนุนโครงการขุดคอคอดกระของไทยด้วย
สำหรับจีน คอคอดกระเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญหลายด้าน โดยอดีตประธานาธิบดี หูจิ่นเทาของจีนเคยพูดไว้ตั้งแต่ปี 2003 ว่า หากขุดคอคอดกระสำเร็จจะช่วยแก้ปัญหา “วิกฤตมะละกา” ที่จีนเผชิญอยู่
จีนต้องพึ่งพาเส้นทางนี้ในการนำเข้าน้ำมันถึง 80% และวัตถุดิบต่างๆ เพื่อป้อนโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งเป็นช่องทางในการกระจายสินค้าจีนไปทั่วโลก
แต่การจราจรในช่องแคบมะละกาค่อนข้างหนาแน่น แต่ละปีมีเรือกว่า 84,000 ลำขนส่งสินค้า 30% ของสินค้าทั่วโลกสัญจรผ่าน และธนาคารโลกคาดว่าภายในปีนี้จะมีเรือเข้ามากกว่า 122,000 ลำซึ่งเกินความสามารถสูงสุดในการรองรับของช่องแคบมะละกา จีนจึงต้องมองหาเส้นทางใหม่ทดแทน
แต่นอกจากความสำคัญทางเศรษฐกิจและการค้าแล้ว คอคอดกระยังเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญทางการทหาร จีนหวั่นว่าวันหนึ่งช่องแคบมะละกาอาจถูกปิดหากสถานการณ์ความขัดแย้งในอินโดแปซิฟิกทวีความตึงเครียดขึ้น เพราะด้วยภูมิศาสตร์ที่ตั้งแล้ว อินเดียที่ฮึ่มฮั่มอยู่กับจีนที่พรมแดนเทือกเขาหิมาลัย สามารถปิดฝั่งตะวันตกของช่องแคบมะละกาตัดเส้นทางเดินเรือของจีนได้ง่ายๆ
อีกทั้งหากขุดคอคอดกระเชื่อมอ่าวไทยกับทะเลอันดามัน กองทัพเรือของจีนจะสามารถย่นระยะทางเดินเรือข้ามจากทะเลจีนใต้ไปยังมหาสมุทรอินเดีย หรือสามารถสร้างฐานทัพเรือในคอคอดกระเช่นที่ทำกับโครงการสร้างท่าเรือที่จีนเข้าไปลงทุน อาทิ จิบูตี
นิตยสารข่าวออนไลน์ The Diplomat ระบุว่า ช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา การสร้างท่าเรือหรือสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นเป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกันระหว่างประเทศในภูมิภาคมหาสมุทรอินเดีย และในขณะที่จีนยังคงขยับขยายอิทธิพลทางทะเลอย่างต่อเนื่อง การก่อสร้างโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานอย่างคอคอดกระย่อมมีอิทธิพลต่อความมั่นคงในอินโดแปซิฟิก
ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกที่อินเดีย ออสเตรเลีย และสหรัฐซึ่งเป็น 3 ประเทศในกลุ่มภาคี 4 ประเทศมหาอำนาจเพื่อต้านทานอิทธิพลของจีนในทะเลจีนใต้ (Quad) จะเข้ามาแย่งชิงความได้เปรียบเหนือคอคอดกระทำลายฝันหวานของจีนด้วย
สำหรับอินเดีย คลองคอดกระจะกลายเป็นภัยคุกคามความมั่นคงทางทะเลของอินเดียในระยะยาวอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะเรือรบของจีนจากทะเลจีนใต้สามารถไปถึงมหาสมุทรอินเดียได้อย่ารวดเร็ว อินเดียไม่ยอมอยู่นิ่งแน่นอน
เว็บไซต์ TFIPOST ของอินเดียระบุว่า รัฐบาลอินเดียพยายามผลักดันแผนเพิ่มกำลังทหาร รวมทั้งเรือรบและเครื่องบินรบในหมู่เกาะอันดามันที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ดังนั้นเมื่อบวกกับที่อินเดียได้สยายปีกอยู่แล้วในหมู่เกาะแห่งนี้ หากอินเดียยังได้คอคอดกระไปอีกคงเป็นฝันร้ายที่สุดของจีน
เดิมพันครั้งนี้จึงสูงมาก ทั้งอินเดียทั้งจีนไม่มีทางอ่อนข้อให้กันแน่
อีกทั้งหากปล่อยให้บรรดามหาอำนาจ โดยเฉพาะจีนกับสหรัฐ เข้ามายึดหัวหาดในคอคอดกระ ประเทศไทยเองอาจเพลี่ยงพล้ำเสียอำนาจอธิปไตยหรือถูกคุกคามเสียเอง ดังที่เคยเกิดขึ้นกับคลองสุเอซและคลองปานามาที่ถูกมหาอำนาจผลัดกันยึดครองหลายครั้ง
หากขุดคลองคอคอดกระ จุดนี้จะเป็นเส้นทางสำคัญที่จีนใช้เคลื่อนกองทัพเรือจากทะเลจีนใต้ไปยังมหาสมุทรอินเดีย สมทบกับกำลังของจีนในฐานโลจิสติกส์ด้านการทหารในศรีลังกาและปากีสถาน ส่วนสหรัฐก็ผนึกสามารถกำลังกับอินเดีย ออสเตรเลียรับมือจีน คอคอดกระจึงเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของทั้งสหรัฐและจีน
หากเกิดความขัดแย้งของสองมหาอำนาจจนถึงขั้นมีการเผชิญหน้ากันทางทหาร คอคอดกระจะกลายเป็นจุดที่มีความเสี่ยงถูกโจมตีสูง
ด้านความคิดเห็นจากฝั่งของไทยเองมีทั้งที่เห็นด้วยกับการขุดและเห็นต่าง นักวิชาการวิจารณ์ว่า ประเทศที่น่าจะได้ประโยชน์จากโครงการขุดคอคอดกระมากที่สุดน่าจะเป็นจีน เพราะคลองช่วยย่นระยะเวลาในการขนส่งน้ำมันจากตะวันออกกลางไปประเทศจีน
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม มองว่า การขุดคอคอดกระไม่น่าจะเหมาะสมกับประเทศไทย และยังมีข้อจำกัดหลายเรื่องโดยเฉพาะประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม
"ไม่น่าจะเหมาะสมเท่าไรสำหรับไทย เพราะว่าระดับน้ำทะเลฝั่งอันดามันและอ่าวไทยไม่เท่ากัน เมื่อไม่เท่ากันสิ่งที่ต้องทำคือ เวลาเรือวิ่งเข้าไปในคลอง ต้องมีจุดพักเพื่อปรับระดับน้ำ ซึ่งตรงนั้นจะใช้เวลานาน เพราะใช้พื้นที่มาก" นายศักดิ์สยามกล่าว
ส่วนชาวบ้านในพื้นที่ที่มีส่วนร่วมในทรัพยากรท้องถิ่นต่อต้านการขุดคอคอดกระ ยืนยันว่าจะไม่ยอมเป็นผู้เสียโอกาสแบกรับผลเสียของโครงการ รวมถึงยังมีความกังวลเกี่ยวกับการแทรกแซงจากต่างชาติและการแบ่งแยกดินแดน
ขณะที่ประชาชนอีกส่วนหนึ่งมองว่าผลตอบรับที่ได้อาจคุ้มที่จะลงทุน เพราะจะเป็นเส้นทางการค้าใหม่กับจีน เมื่อมีเรือสินค้าเข้ามาพื้นที่ทางภาคใต้อาจเจริญขึ้น รวมถึงได้ผลประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวด้วย
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสองมหาอำนาจอย่างสหรัฐกับจีนที่นับวันมีแต่จะทวีความตึงเครียดและสนใจจะครอบครองคอคอดกระทั้งคู่ หากขุดคลองแล้วเกิดเหตุการณ์ช้างสารชนกันเหนือจุดยุทธศาสตร์นี้
หญ้าแพรกอย่างไทยก็มีแต่จะแหลกลาญ