posttoday

แอสตราเซเนกาเอาอยู่ไหม? เมื่อแอฟริกาใต้ระงับใช้

08 กุมภาพันธ์ 2564

แอฟริกาใต้ระงับวัคซีน 'แอสตราเซเนกา' ชั่วคราวพร้อมหันไปใช้ยี่ห้ออื่น ด้านสหราชอาณาจักรยังคงเชื่อมั่น

หลังจากที่ดร. ซเวลี เอ็มคิเซ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขของแอฟริกาใต้ประกาศว่าจะระงับการใช้วัคซีนต้านโรคโควิด-19 จากอ็อกซ์ฟอร์ด/แอสตราเซเนกา (Oxford/AstraZeneca) ชั่วคราวหลังพบว่าวัคซีนดังกล่าวมีประสิทธิภาพลดลงอย่างมากในการต้านไวรัสโคโรนาชนิดกลายพันธุ์ในแอฟริกาใต้ (B.1.351 หรือ 501Y.V2) เมื่อเทียบกับประสิทธิภาพในการต้านไวรัสสายพันธุ์ก่อนหน้า

โดยผลการทดลองที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยวิทวอเทอร์สแรนด์ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเพียง 2,000 คนอายุเฉลี่ย 31 ปี พบว่าวัคซีนจากแอสตราเซเนกาสามารถต้านไวรัสสายพันธุ์ B.1.351 ได้เพียง 22% จากที่ก่อนหน้านี้ แอสตราเซเนกาเปิดเผยประสิทธิภาพในการป้องกันโรคถึง 75%

ทั้งนี้ ดร. เอ็มคิเซระบุว่าจะหันไปใช้วัคซีนที่พัฒนาโดยไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค (Pfizer/BioNTech) และจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (Johnson and Johnson) แทน

อย่างไรก็ตามเอ็ดเวิร์ด อาร์การ์ รัฐมนตรีสาธารณสุขของสหราชอาณาจักรยังคงเชื่อมั่นในวัคซีนดังกล่าวโดยเผยว่า "ยังไม่มีหลักฐานว่าวัคซีนดังกล่าวไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันไม่ให้มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในโรงพยาบาล ผู้ป่วยขั้นร้ายแรง และผู้เสียชีวิต ซึ่งท้ายที่สุดแล้วนี่ก็คือสิ่งที่เรากำลังมองหาจากวัคซีนในปัจจุบัน"

อาร์การ์ ยังระบุว่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ B.1.351 แพร่ระบาดอยู่ในสหราชอาณาจักรไม่มากนัก โดยสายพันธุ์ที่ชาวอังกฤษกังวลคือสายพันธุ์อังกฤษซึ่งวัคซีนดังกล่าวก็มีประสิทธิภาพในการต้านทานสูง

ด้านแอสตราเซเนกาแถลงว่าการทดลองดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมน้อยเกินไปและเป็นเพียงผลการทดลองในกลุ่มผู้ที่มีอาการไม่รุนแรงเท่านั้น แต่ยังไม่ทราบประสิทธิภาพในผู้ป่วยโรคโควิด-19 ขั้นรุนแรง

พร้อมระบุว่ากำลังทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขของแอฟริกาใต้อย่างใกล้ชิดเพื่อหาแนวทางที่ดีที่สุดในการต้านไวรัสชนิดกลายพันธุ์ และจะเริ่มนำวัคซีนแจกจ่ายให้แก่ชาวแอฟริกาใต้หากพิสูจน์แล้วว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพเพียงพอ

อย่างไรก็ตามทางแอสตราเซเนกายังคงเชื่อมั่นว่าวัคซีนสามารถต้านไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ B.1.351 ได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเว้นช่วงการฉีดวัคซีนเข็มแรกกับเข็มที่สอง 8 ถึง 12 สัปดาห์

ตามแถลงการณ์ก่อนหน้านี้แอสตราเซเนกาเผยว่ากำลังเร่งทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดเพื่อปรับและพัฒนาวัคซีนให้เข้ากับไวรัสสายพันธุ์ B.1.351 และหากจำเป็นก็พร้อมที่จะแจกจ่ายในช่วงฤดูใบไม้ร่วงที่จะถึงนี้

อนึ่ง ผลการทดลองดังกล่าวถือเป็นสัญญาณที่อันตรายเนื่องจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ B.1.351 ได้แพร่ระบาดไปอย่างน้อย 32 ประเทศรวมถึงสหรัฐอเมริกา

ส่งผลให้หลายฝ่ายแสดงความกังวลต่อประสิทธิภาพของวัคซีนจากแอสตราเซเนกา โดยคณะกรรมการวัคซีนอิสระขององค์การอนามัยโลกมีกำหนดหารือเกี่ยวกับวัควีนดังกล่าวรวมถึงแนวทางในการพัฒนาวัคซีนในอนาคตในวันที่ 8 กุมภาพันธ์

Photo by Nikolay DOYCHINOV / AFP

Thailand Web Stat