ทับทิมที่ซื้อได้ทั้งประเทศ อัญมณีคู่บัลลังก์เมียนมาหายไปไหน
ย้อนตำนานทับทิมหงามุก อัญมณีคู่บัลลังก์เมียนมาที่ทุกวันนี้ก็ยังคงไม่กระจ่าง
ทับทิมหงาเม่าก์/หงามุก (Padamyar Ngamauk) หรือ Royal Ruby เป็นทับทิมสีแดงสดงดงามขนาดประมาณ 82 กะรัตหรือเทียบเท่ากับไข่นกพิราบถูกค้นพบที่เมืองโมก๊อก ประเทศเมียนมา โดยนาย "หงามุกคยี" คหบดีในเมืองแปร ต่อมาได้ทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระเจ้าแผ่นดินในเวลานั้นจนกลายเป็นอัญมณีคู่บัลลังก์นับตั้งแต่นั้นมา
ทับทิมดังกล่าวตกทอดมาจนถึงราชวงศ์คองบอง ในรัชสมัยพระเจ้ามินดง พระองค์ได้นำทับทิมหงามุกให้คณะทูตการค้าชาวฝรั่งเศสตีราคา ซึ่งได้คำตอบว่าทับทิมเม็ดนี้มีค่าควรเมืองหรือมูลค่าเทียบเท่า "ประเทศหนึ่งประเทศ" เลยทีเดียว
และนั่นเหมือนจะเป็นเรื่องจริง ทับทิมหงามุกอยู่คู่บัลลังก์พม่ามาจนถึงสมัยพระเจ้าสีป่อ จนกระทั่งปี 1885 พม่าตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ พระเจ้าสีป่อและพระนางศุภยาลัต พระมเหสี ถูกเนรเทศไปยังประเทศอินเดีย
ขณะที่ทุกคนกำลังสาละวนอยู่กับการเก็บสมบัติข้าวของที่จะนำไปอินเดีย พันเอกสลาเดน นายทหารชาวอังกฤษทำทีเข้ามาขอดูทับทิมหงามุกและอาสาดูแลพระราชทรัพย์ให้ เมื่อเดินทางไปถึงอินเดียทั้งสองพระองค์ก็พบว่าเครื่องเพชรต่างๆ รวมถึงทับทิมหงามุกหายไป
พระเจ้าสีป่อไม่ได้นิ่งนอนใจ พระองค์ทรงร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่อังกฤษครั้งแล้วครั้งเล่าแต่ก็เหมือนจะไม่มีหวัง แม้กระทั่งในปี 1911 พระเจ้าสีป่อทรงเขียนพระราชหัตเลขาไปถึงสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 ที่เพิ่งเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์อังกฤษพระองค์ใหมว่าทับทิมหงามุกของราชวงศ์พม่าหายไปโดยกล่าวหาพันเอกสลาเดนว่ามีส่วนกับเรื่องนี้
พระเจ้าสีป่อทรงทำสำเนา 5 ฉบับและส่งให้พระเจ้าจอร์จที่ 5 ราชเลขาส่วนพระองค์ สภาสูงและสภาล่างของอังกฤษ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (ของอินเดีย) จดหมายต้นฉบับของพระเจ้าสีป่อไม่สามารถหาพบได้ในขณะนี้แต่ข้อมูลย่อสามารถดูได้ในบันทึกของ อู ซาน ชเวซึ่งบันทึกไว้ว่าพระเจ้าสีป่อเสียพระทัยไม่ได้รับอนุญาตให้พบกับพระเจ้าจอร์จที่ 5 และพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องทับทิมหงามุกและต่างหูเพชรเต็มสองกล่องใหญ่ที่ฝากไว้ให้สลาเดนดูแลยังไม่ได้ส่งคืนให้พระองค์ ซึ่งสลาเดนรับปากว่าหลังจากสรุปข้อตกลงที่จำเป็นแล้วจะส่งคืนไปให้
พระเจ้าสีป่อทรงไม่รู้ว่า พ.อ. สลาเดนเสียชีวิตไปแล้วเมื่อพระองค์เขียนจดหมาย และจดหมายดังกล่าวยังไม่ได้ถึงมือจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง สุดท้ายก็ได้รับคำตอบเพียงว่า "พ.อ. เอ็ดเวิร์ด สลาเดน ถึงแก่กรรมตั้งแต่ปี 1890 แล้ว"
ประมาณ 26 ปีหลังจากการเสียชีวิตของสลาเดน พระเจ้าสีป่อสวรรคตถึงแก่กรรมในปี 1916 พระราชินีศุภยาลัตและพระธิดาทั้งสองกลับไปเมียนมาและประทับที่เลขที่ 24 ถนนโคมินโคชิน ในกรุงย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 14 กันยายน1924 นักข่าวจาก Bandoola Journal ไปถามพระราชินีกับพระธิดาเกี่ยวกับทับทิมหงามุก ราชินีตอบว่าไม่ได้นำทับทิมไปอินเดียด้วย แต่มอบให้สลาเดน และทรงไม่รู้ว่าใครเป็นผู้เก็บรักษาไว้
ตั้งแต่นั้นมารัชทายาทแห่งราชวงศ์พม่ายังคงไม่ลดละความพยายามที่จะตามหาทับทิมหงามุกแต่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีวี่แววว่าพม่าจะได้ทับทิมหงามุกกลับคืน
อย่างไรก็ตามมีข่าวลือว่าสลาเดนอาจถวายหงามุกแด่สมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรีย และทุกวันนี้หงามุกอาจกลายเป็นทับทิมเม็ดเล็กเม็ดน้อยที่ประดับตกแต่งอยู่บนมงกุฎของราชวงศ์อังกฤษก็เป็นได้
นอกจากนี้ยังมีคนตั้งข้อสังเกตถึงมงกุฎของจักรพรรดิแห่งอินเดียซึ่งขณะนี้ถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์หอคอยแห่งลอนดอน มงกุฎแพรวพราวด้วยอัญมณีไม่แพ้ของราชวงศ์อังกฤษ ประดับด้วยเพชรกว่า 6,100 เม็ด แล้วยังมีอัญมณีอื่นๆ อีกจำนวนมากรวมถึงทับทิม ซึ่งระบุเพียงแต่ว่าเป็น "ทับทิมอินเดียน้ำงาม" ไม่ปรากฏชื่อหรือแหล่งที่มาแต่อย่างใด ผิดกับอัญมณีสำคัญอื่นๆ ของโลกที่มักมีชื่อเรียกขานและระบุแหล่งที่มาของอัญมณี
เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 1925 พระราชินีศุภยาลัตสวรรคต พระราชธิดาองค์ที่ 4 ของพระเจ้าสีป่อส่งจดหมายถึงรัฐบาลอังกฤษลงวันที่ 15 ธันวาคม 1931 ขอส่งคืนอัญมณีของราชวงศ์แต่ไม่เป็นผล แถมพระองค์ยังถูกส่งไปควบคุมตัวที่เมืองมะละแหม่ง พระธิดาสิ้นพระชนม์ในเมืองมะละแหม่งในปี 1936 ต่อมาโอรสของพระธิดายังคงขอให้อังกฤษคืนทับทิมและเครื่องเพชรพลอยจนถึง 1959
สุดท้ายแต่เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำเมียนมาในนั้นคือ อาณ์. เอช. แอลเลน ตอบในจดหมายลงวันที่ 9 พฤษภาคม 1959 ว่ารู้สึกเสียใจที่ต้องแจ้งว่าไม่สามารถพิจารณาเรื่องนี้ได้ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน
ปัจจุบันยังคงไม่มีคำตอบว่าทับทิมหงามุกอยู่ที่ใด ขณะที่รัชทายาทและชาวเมียนมายังคงตามหาทับทิมเม็ดนั้นและหวังลึกๆ ว่าจะสามารถนำกลับคืนมาได้ แม้ว่าในความเป็นจริงแล้วอาจไม่เหลือร่องรอยของหงามุกอยู่บนโลกนี้แล้วก็ตาม
จากประเทศที่เคยเป็นเจ้าของอัญมณีที่ทั่วโลกจับตามองมาวันนี้ธุรกิจอัญมณีของเมียนมากลับถูกแบนจากต่างประเทศ โดยนับตั้งแต่เกิดรัฐประหารเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาส่งผลให้นานาประเทศออกมาตรการคว่ำบาตรกองทัพเมียนมาและการลงทุนที่อาจนำเงินไปสู่กองทัพเมียนมา
ล่าสุดสำนักงานควบคุมทรัพย์สินต่างประเทศ (OFAC) ของกระทรวงการคลังสหรัฐกำหนดมาตรการคว่ำบาตรและห้ามนำเข้าทับทิมจาก 3 บริษทเมียนมา ได้แก่ Myanmar Ruby Enterprise, Myanmar Imperial Jade Co. และ Cancri (Gems and Jewellery) Co.