เมื่อตะวันตกตีแผ่พฤติกรรมร้ายๆ ของจีนกับคนในซินเจียง
ประเด็นการกล่าวหาว่าจีนบังคับใช้แรงงานและกดขี่ชาวอุยกูร์ในซินเจียงถูกนำเสนอมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่กรณีล่าสุดจุดชนวนการแบนแบรนด์สินค้าชื่อดังหลายแบรนด์
เพียงชั่วข้ามคืนก็เกิดประเด็นร้อนขึ้นในโลกโซเชียลเดียของจีน เมื่อแบรนด์ดังระดับโลกหลายแบรนด์ อาทิ H&M และ Nike ถูกชาวโซเชียลจีนพร้อมใจกันแบน เนื่องจากทางแบรนด์ประกาศว่าจะไม่ใช้ฝ้ายจากซินเจียง เพราะกังวลเรื่องการบังคับใช้แรงงาน
ทั้ง H&M และ Nike ที่ถูดพูดถึงในเวยปั๋วของจีนตอนนี้ ออกแถลงการณ์กล่าวถึงการบังคับใช้แรงงานในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ของจีนเมื่อปีที่แล้ว แต่ประเด็นนี้เพิ่งเป็นที่สนใจและสร้างความขุ่นเคืองให้ชาวจีนเมื่อวานนี้ (24 มี.ค.) หลังจากชาติตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ อังกฤษ แคนาดา และสหภาพยุโรป พร้อมใจกันเป็นครั้งแรกประณามการละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียงและคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ในรัฐบาลจีนในข้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชน
อันที่จริงฝั่งตะวันตกนำเสนอว่าทางการจีนละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียงมาต่อเนื่องหลายปีแล้ว
ค่ายล้างสมอง
มีการตีแผ่ข่าวเรื่องระบบค่ายกักกันชาวมุสลิมในซินเจียงครั้งแรกปี 2017 โดยนักวิจัยพบหลักฐานภาพถ่ายดาวเทียมโดยใช้ซอฟต์แวร์กูเกิลเอิร์ธเห็นค่ายดังกล่าวตั้งอยู่นอกเมืองเล็กๆ ที่ชื่อต๋าปั่นเฉิง ซึ่งห่างจากเมืองอูลู่มู่ฉีซึ่งเป็นเมืองหลักของเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ราว 1 ชม. โดยทางรถยนต์
ปี 2018 เกย์ แม็คดูกัล รองประธานคณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติขององค์การสหประชาชาติระบุว่า ค่ายนี้ใช้เป็นที่ควบคุมตัวคนมุสลิมซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอุยกูร์กว่า 1 ล้านคนที่ถูกจับมาโดยไร้ข้อหาและการพิจารณาคดี เพื่อนำมาปรับทัศนคติ กลายเป็นค่ายกักกันชนกลุ่มน้อยที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ชาวอุยกูร์ที่อยู่ใน “ค่ายฝึกอาชีพ” ตามคำที่ทางการจีนใช้เรียก ถูกควบคุมอย่างเข้มงวด ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดการปฏิบัติศาสนกิจ การปลูกฝังแนวคิดทางการเมือง รวมถึงการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน อาทิ บังคับทำหมัน คุมกำเนิด ทำแท้ง และข่มขืน
นอกจากนี้ สำนักข่าว The New York Times ยังเผยแพร่เอกสารลับเกี่ยวกับการควบคุมชาวอุยกูร์ของรัฐบาลจีนจำนวน 403 หน้าซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นสคริปต์ถามตอบสำหรับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นใช้ตอบคำถามนักเรียนนักศึกษาอุยกูร์ที่เพิ่งกลับมาจากโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยต่างถิ่นแล้วพบว่าพ่อแม่ญาติพี่น้องของตัวเองถูกทางการจับกุมตัวไป
สคริปต์ถามตอบที่ปรากฏในเอกสาร อาทิ หากเจ้าหน้าที่ถูกถามว่า “ครอบครัวพวกเราหายไปไหน” ต้องตอบว่า “อยู่ในโรงเรียนฝึกอาชีพที่จัดตั้งโดยรัฐบาล” เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นยังต้องบอกแก่เยาวชนเหล่านั้นว่า พฤติกรรมของพวกเขามีผลกับการลดหรือเพิ่มระยะเวลาที่คนในครอบครัวจะถูกกักตัวไว้ด้วย
ข้อความหลักๆ ในเอกสารยังระบุว่า ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง เผยแผนควบคุมชาวอุยกูร์กับเจ้าหน้าที่เป็นการส่วนตัวหลายครั้งระหว่างและหลังเดินทางเยือนซินเจียงเมื่อปี 2014 ไม่กี่สัปดาห์หลังจากชาวอุยกูร์ก่อเหตุแทงชาวจีนกว่า 150 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 31 ราย ที่สถานีรถไฟที่คุนหมิงในมณฑลยูนนาน
ขณะที่ BBC รายงานว่า ผู้หญิงหลายรายที่เคยถูกควบคุมตัวอยู่ในค่ายฝึกอาชีพตีแผ่ว่าเจ้าหน้าที่ในค่ายล่วงละเมิดทางเพศผู้หญิง ทั้งการข่มขืน รุมโทรม ทรมานทางเพศ เช่น ใช้กระบองไฟฟ้าสอดใส่อวัยวะเพศหรือทวาร ทาน้ำพริกลงบนอวัยวะเพศ
ทำลายมัสยิดและสุสาน
The Guardian รายงานว่า ระหว่างปี 2016-2018 เกือบ 1 ใน 6 ของมัสยิดและศาสนสถานในจีนถูกทำลายราบคาบ ส่วน CNN รายงานเมื่อต้นปี 2020 โดยการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมจาก Google Maps ว่า ทางการจีนทำลายสุสานในซินเจียงโดยเฉพาะของชาวอุยกูร์กว่า 100 แห่ง โดย CNN ได้เชื่อมโยงการทำลายสุสานดังกล่าวกับความพยายามของรัฐบาลจีนในการขยายการควบคุมชาวมุสลิมอุยกูร์ และยังบังคับใช้กฎหมายที่มุ่งกำจัดอัตลักษณ์และการถือปฏิบัติตามหลักศาสนาอิสลาม อาทิ ห้ามไว้เครา ห้ามใส่ผ้าคลุมหัว ห้ามสอนศาสนาให้เด็กๆ หรือ แม้กระทั่งห้ามใช้ชื่อที่ฟังดูเป็นคนนับถือศาสนาอิสลาม
บังคับใช้แรงงาน
รายงานของสถาบันนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ออสเตรเลียเผยว่า ชาวอุยกูร์ราว 80,000 รายถูกนำตัวออกจากซินเจียงไปบังคับใช้แรงงานในโรงงานอย่างน้อย 27 แห่งทั่วประเทศ และยังมีการบังคับใช้แรงงานเด็กในโรงงานที่สภาพแวดล้อมการทำงานไม่ได้มาตรฐาน
ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
วันสุดท้ายก่อนอำลาตำแหน่งเมื่อปีที่แล้ว ไมค์ ปอมเปโอ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เรียกเหตุการณ์ที่เกิดในซินเจียงอย่างเต็มปากเต็มคำว่าเป็นการ “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ก่อนที่รัฐบาลประธานาธิบดี โจ ไบเดน จะประกาศอย่างเป็นทางการอีกครั้งว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งถือเป็นประเทศแรกที่ใช้คำนี้
หลังจากนั้นรัฐสภาของแคนาดาและเนเธอร์แลนด์ผ่านญัตติซึ่งไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ยอมรับว่าการกระทำของทางการจีนเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เช่นกัน
ติดกล้องส่งพฤติกรรม
สื่อตะวันตกยังรายงานว่า ซินเจียงเป็นเป้าของการใช้มาตรการรักษาความมั่นคงที่เข้มงวดที่สุดที่ทางการจีนเคยใช้กับประชาชนไม่ว่าจะเป็นกล้องวงจรปิดที่สามารถจดจำใบหน้าได้เครื่องมือที่สามารถอ่านข้อมูลในมือถือได้ และการเก็บฐานข้อมูลทางชีวภาพหรือไบโอเมตริกส์
เหล่านี้คือความเลวร้ายของรัฐบาลจีนต่อชาวอุยกูร์จากสายตาและคำบอกเล่าของชาติตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐกับอังกฤษที่มีประเด็นพิพาทกับจีนอยู่เนืองๆ
CHINA OUT AFP PHOTO