เบื้องหลังคุกนรก "อินเส่ง" ที่จองจำนักสู้ประชาธิปไตยเมียนมา
นักโทษทางการเมืองเมียนมาจำนวนมากถูกคุมขังอยู่ในคุกที่ขึ้นชื่อว่าไร้มนุษยธรรมและทารุณที่สุด
อินเส่ง (Insein) หนึ่งในเรือนจำสำคัญของเมียนมาขณะนี้กำลังอัดแน่นไปด้วยนักโทษนับหมื่น ซึ่งเกินความจุเรือนจำมากว่าสองเท่า รวมถึงผู้ประท้วงเพื่อประชาธิปไตยหลายร้อยคนก็ถูกคุมขังอยู่ในนี้ ยิ่งไปกว่านั้นบางคนยังมาพร้อมกับบาดแผลและร่องรอยกระสุนปืน
เป็นเวลา 134 ปีแล้วสำหรับเรือนจำที่ได้ยืนหยัดเป็นอนุสรณ์แห่งความโหดร้ายและการปกครองแบบเผด็จการเมียนมา เรือนจำแห่งนี้สร้างขึ้นโดยนักล่าอาณานิคมของอังกฤษในเขตชานเมืองย่างกุ้ง และเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกสำหรับสภาพที่ไร้มนุษยธรรมจากการทารุณกรรมผู้ต้องขังและการทรมานทางจิตใจและร่างกาย รวมถึงการทรมานนักโทษในช่วงครึ่งศตวรรษของการปกครองแบบเผด็จการทหาร ปัจจุบันมีผู้ต้องขังประมาณ 13,000 คนโดยส่วนใหญ่เป็นนักโทษทางการเมือง
และขณะนี้เมื่อกองทัพเมียนมากลับความควบคุมอำนาจได้อีกครั้งหลังการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ. เรือนจำเก่าแก่แห่งนี้ได้กลายเป็นส่วนสำคัญของการปราบปรามขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องโดยรับบาลทหารได้ควบคุมคนไปแล้วกว่า 4,300 คนนับตั้งแต่เดือนก.พ. ซึ่งกลุ่มสิทธิสนุษยชนระบุว่าจุดหมายปลายทางหลักของนักโทษเหล่านั้นคือ อินเส่ง ทัณฑสถานที่โดดเด่นที่สุดจากทั้งหมด 56 แห่ง
จนบางคนเรียกเรือนจำแห่งนี้ว่า Insane (วิกลจริต)
The New York Time ได้ทำการสัมภาษณ์ผู้คุมที่เกษียณอายุแล้วและอดีตนักโทษ 10 คน พวกเขาเล่าถึงเหตุการณ์ที่น่าสยดสยองและความทุกข์ยากของนักโทษที่เกิดขึ้นในนั้น หลายคนกล่าวว่านักโทษทางการเมืองรุ่นใหม่ๆ ที่ถูกจับเข้าไปในนั้นก็จะต้องเผชิญกับการปฏิบัติอันน่าสยดสยองเช่นเดียวกันหากทหารยังเป็นผู้ควบคุม
โบ จี (Bo Kyi) อดีตนักโทษในอินเส่งและผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองกล่าวว่า "ตอนนี้มีนักโทษการเมืองมากกว่าเมื่อหลายสิบปีก่อน หากเราไม่สามารถขับไล่ทหารออกไปและฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยได้ นักโทษเหล่านั้นจะต้องทนทุกข์ทรมานเหมือนพวกเรา
ในช่วงแรกของการปกครองโดยทหารตั้งแต่ปี 1962 จนถึงปี 2011 มักมีการใช้กฎหมายเพื่อคุมขังนักโทษทางการเมืองครั้งละหลายพันคน โดยเฉพาะในอินเส่งพวกเขาถูกขังให้อยู่ในคุกที่สกปรก มีเพียงผ้าห่มบางๆ และพื้นแข็งๆ สำหรับการนอนหลับ สำหรับอาหารพวกขาแทบจะต้องกินเอ็นและกระดุกแทนเนื้อสัตว์ และข้าวที่ปะปนด้วยทรายและเศษหิน
"เป้าหมายหนึ่งของระบบการลงโทษคือการทำร้ายจิตใจพวกเขา อดีตนักโทษบางคนเจ็บปวดไปตลอดชีวิตด้วยเหตุนี้ เมื่อคุณเป็นนักโทษการเมือง คุณไม่มีสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน แม้แต่สิทธิในเรือนจำขั้นพื้นฐาน" โบ จี กล่าว
อดีตนักโทษยุคนั้นเล่าวว่าพวกเขาถูกทุบตีบ่อยครั้งและบางคนก็มีรอยไหม้จากไฟฟ้าช็อต พวกเขาถูกบังคับให้คลานไปตามทางลูกรังและขังไว้ในคอกเหมือนสุนัข ยิ่งไปกว่านั้นนักโทษบางคนถูกโรยเกลือลงบนบาดแผลหรือถูกคลุมหัวด้วยถุงพลาสติกจนสลบไป
หน่วยข่าวกรองทางทหารที่ทรงอำนาจเคยตั้งศูนย์สอบสวนในอินเส่ง และเรียกนักโทษเข้ามารับการทรมานทั้งตอนกลางวันและกลางคืน โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนลรายงานในปี 1995 ว่านักโทษจะถูกทุบตีและล่ามด้วยโซ่ตรวนจนบางครั้งถึงขั้นหมดสติ
ขิ่น มอง มยินต์ (Khin Maung Myint) อดีตผู้คุมซึ่งทำงานในเรือนจำหลายแห่งมาเป็นเวลา 25 ปี รวมทั้งอินเส่งในปี 1986 และ 1987 กล่าวว่านักโทษทางการเมืองมักถูกทรมานจากการกระทำความผิดเพียงเล็กน้อย เคยมีเหตุการณ์ทรมานนักโทษและไล่เจ้าหน้าที่ออกจากเรือนจำเนื่องจากพบหนังสือพิมพ์เพียงชิ้นเดียวในห้องขัง
ขณะที่ อู คัมภีระ (U Gambira) อดีตพระสงฆ์ผู้นำขบวนการประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหารในปี 2007 หรือที่บางครั้งเรียกว่าการปฏิวัติหญ้าฝรั่นเล่าว่าเขาใช้เวลาอยู่หลังลูกกรงนานกว่า 6 ปี รวมทั้งเวลาที่อยู่ในอินเส่ง ซึ่งเขาถูกบังคับให้ดูขณะที่เพื่อนและพี่ชายของเขาถูกทหารเตะและทุบตี
"ทหารต่อยและเตะพวกเขาด้วยรองเท้าบู๊ตทหารต่อหน้าผม จนพี่ชายของผมเสียฟันหน้าไปสองซี่" อดีตพระสงฆ์ซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ในออสเตรเลียกล่าว
พร้อมเล่าว่าครั้งหนึ่งเมื่อถามถึงสิทธิในการเป็นนักโทษเขาก็โดนฉีดยาพิษจนปวดแสบปวดร้อน ร่างกายสั่นจนควบคุมตัวเองไม่ได้ และหลังได้รับการปล่อยตัวเขาได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะป่วยทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง
ออง ซาน ซูจี (Aung San Suu Kyi) ซึ่งถูกควบคุมในการรัฐประหารเคยถูกคุมขังอยู่ในอินเส่ง ในปี 2003 และ 2009 ขณะที่ วิน ติน ( Win Tin) นักข่าวและผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของซูจีอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 19 ปีก่อนที่เขาจะถูกปล่อยตัวในปี 2008 ซึ่งทั้งสองถูกจำคุกเนื่องจากต่อต้านการปกครองของทหาร
แม้กระทั่งในช่วง 5 ปีที่ซูจีเป็นผู้นำรัฐบาลพลเรือนของเมียนมายังคงมีนักโทษการเมืองหลายร้อยคนถูกคุมขังที่อินเส่งฐานล่วงละเมิดต่อกองทัพ โดยนักข่าวของรอยเตอร์ส 2 คนซึ่งเปิดเผยการสังหารหมู่ชาวมุสลิมโรฮิงญาในรัฐยะไข่ถูกกักขังอยู่ที่นั่นนานกว่า 16 เดือน
นักโทษต่างประเทศ
ในเดือนมี.ค. ทางการจับกุมนาทาน หม่อง (Nathan Maung) พลเมืองสหรัฐและ ฮันตาร์ เญง (Hanthar Nyein) ผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ Kamayut Media ด้วยข้อหาบ่อนทำลายกองทัพ โดยก่อนที่จะถูกควบคุมตัวมายังอินเส่งพวกเขาถูกกักตัวไว้ที่ศูนย์สอบปากคำในบริเวณใกล้เคียงเป็นเวลาหลายสัปดาห์และถูกทุบตีและทรมานอย่างรุนแรง ถูกบังคับให้คุกเข่าลงบนน้ำแข็งโดยมือสองข้างไขว้หลังและสวมกุญแจมือ ซ้ำร่างกายยังมีรอยเผาไหม้
แดนนี่ เฟนสเตอร์ (Danny Fenster) นักข่าวชาวอเมริกันอีกคนหนึ่ง บรรณาธิการบริหารของ Frontier Myanmar ถูกจับกุมที่ท่าอากาศยานนานาชาติย่างกุ้งขณะเตรียมเดินทางออกจากเมียนมาก่อนถูกนำตัวส่งเรือนจำ
โดยทางกระทรวงต่างประเทศสหรัฐกล่าวว่า "กังวลอย่างยิ่ง" ต่อการจับกุมนักข่าวชาวอเมริกันพร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลเมียนมาปล่อยตัวพวกเขา
"การจับกุมและใช้ความรุนแรงของทหารพม่าต่อนักข่าวถือเป็นการริดรอนเสรีภาพในการแสดงออกที่มิอาจยอมรับได้" กระทรวงต่างประเทศกล่าวในโดยใช้ชื่อเดิมของเมียนมา
ยูกิ คิตะซุมิ (Yuki Kitazumi) นักข่าวชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งซึ่งถูกกล่าวหาว่าเผยแพร่ข่าวเท็จก็ถูกควบคุมตัวที่นั่นเช่นกันก่อนจะถูกส่งตัวกลับในเดือนพ.ค. นอกจากนี้ยังมีตุระ ออง โก (Thura Aung Ko) รัฐมนตรีศาสนาและวัฒนธรรม และฌอน เทอร์เนล (Sean Turnell) ชาวออสเตรเลียซึ่งเป็นอดีตที่ปรึกษาด้านนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลเมียนมา
การประท้วงในเรือนจำ
ในปี 1991 นักโทษหลายคนได้หยุดงานประท้วงด้วยความอดอยากเพื่อเรียกร้องการดูแลด้านสาธารณสุขที่เหมาะสม และสิทธิในการอ่านหนังสือพิมพ์ อย่างไรก็ตามข้อเรียกร้องของพวกเขาถูกเพิกเฉยและพวกเขายังถูกลงโทษ
ปี 2008 เกิดการประท้วงครั้งรุนแรงจนลามไปถึงการกราดยิงหมู่ โดยนักโทษกว่า 100 คนถูกผู้คุมไล่ยิงในเรือนจำส่งผลให้ผู้ต้องขัง 36 คนเสียชีวิต อีก 4 คนถูกทรมานและสังหารในเวลาต่อมา
การประท้วงเรื่องสิทธิมนุษยชนของนักโทษยังคงเกิดขึ้นเรื่อยๆ โดยอีก 3 ปีต่อมามีนักโทษร่วมประท้วงเรียกร้องสภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในเรือนจำตลอดจนสิทธิในการเยี่ยมครอบครัวก่อนที่พวกเขาจะถูกขังเดี่ยวและไม่ได้รับอนุญาตให้เยี่ยมครอบครัวเช่นเดิม
เมื่ออองซานซูจีเป็นหัวหน้ารัฐบาลพลเรือน สภาพในเรือยนจำค่อยๆ ดีขึ้นโดยมีการอนุญาตให้ผู้ต้องขังดูโทรทัศน์และอ่านหนังสือ รวมถึงมีการสร้างสถานที่เยี่ยมครอบครัวแห่งใหม่ แต่สถานการณ์เลวร้ายลงอย่างรวดเร็วเมื่อทหารกลับมาอีกครั้ง
ซเว วิน (Swe Win) บรรณาธิการและผู้ร่วมก่อตั้งสำนักข่าว Myanmar NOW กล่าวว่า "สถานการณ์ตอนนี้กลับไปคล้ายกับช่วงก่อนปี 2010 ก่อนที่จะถูกคุมขังผู้ต้องขังหลายคนต้องไปที่สถานพยาบาลเพื่อรักษาบาดแผล"
พร้อมยกตัวอย่างกวีไปง์ เย ตู (Paing Ye Thu) ซึ่งถูกส่งตัวไปยังอินเส่งในปี 2019 เขารับโทษจำคุก 6 ปีเมื่อกองทัพเข้ามามีอำนาจจากการรัฐประหาร "สถานการณ์มันย่ำแย่ลงในช่วงข้ามคืน" ซเว วิน กล่าว
ในขณะที่ประวัติศาสตร์ทำให้อินเส่งเป็นเรือนจำสำคัญของเมียนมาแต่อดีตนักโทษต่างเล่าว่าระบบการลงโทษทั้งหมดของประเทศเต็มไปด้วยเรื่องราวที่ทุกข์ทรมารและทารุณ จนพวกเขามองว่าเรือนจำในเมียนมาเป็นเหมือนนรกที่มนุษย์สร้างขึ้นบนดิน