posttoday

เจาะลึกกรณี Didi อีกครั้งที่จีนกวาดล้างบริษัทเทคไม่ให้มีที่ยืน

05 กรกฎาคม 2564

กรณี Didi กับเหตุการณ์ที่เซอร์ไพรส์อย่างหนักเมื่อทางการจีนสั่งถอนผลิตภัณฑ์ Didi Chuxing จากผู้บริการแอปในวงกว้าง

เป็นข่าวที่สั่นสะเทือนวงการธุรกิจจีนอีกครั้ง ในวันอาทิตย์ผู้ควบคุมไซเบอร์สเปซของจีนได้สั่งให้ร้านแอพหยุดให้บริการแอพของ Didi ผู้ให้บริการรถแท็กซี่แบบเดียว Uber หลังจากพบว่าบริษัทได้รวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้อย่างผิดกฎหมาย

หากใครที่เดินทางไปจีนบ่อยๆ และจำเป็นต้องเรียกแท็กซี่ แอพ Didi Chuxing เป็นสิ่งที่จะขาดไปไม่ได้ ทุกวันนี้การเรียกแท็กซี่ในจีน จะมายืนรอโบกเอาเองนั้นยากแล้ว เพราะรถถูกเรียกผ่าน Didi Chuxing เป็นส่วนใหญ่

Didi จึงเป็นส่วนหนึ่งที่โยงใยชีวิตประจำวันของคนจีน คำสั่งถอดแอพจึงกระทบประชาชนในวงกว้าง แต่ยังดีที่สั่งห้ามดาวน์โหลดหลังจากนี้ ส่วนคนที่ดาวน์โหลดมาใช้ก่อนหน้าคำสั่งก็ยังใช้กันได้ต่อไป

คำสั่งของทางการจีนจึงเป็นการการหวดเข้าจังๆ จน Didi จนแทบทรุด ยิ่งบริษัทเพิ่งจะเปิดตัวในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน หรือแค่ 4 วันก่อนเจอรัฐบาลจีนเชือด

ไม่ให้คิดว่าเป็นการกลั่นแกล้งก็คงยากแล้ว!

หลังจากสั่งลงดาบไป Global Times ซึ่งเป็นแท็บลอยด์ที่ตีพิมพ์โดยหนังสือพิมพ์ People's Daily สื่ออย่างเป็นทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีนกล่าวในบทวิจารณ์ภาษาจีนเมื่อวันจันทร์ว่าความสามารถในการ "วิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่" ที่เห็นได้ชัดของ Didi อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน

หมายความว่าจีนกลัวพลังของ Didi ในด้าน big data analysis ซึ่งฟังแล้วไม่สมเหตุผล เพราะแทนที่จะสนับสนุนบริษัทสัญชาติตัวเองที่มีศักยภาพแห่งอนาคต แต่กลับฆ่าตัดตอนซะงั้น ขณะที่ประเทศอื่นๆ ต่างก็อยากมีพลังแห่ง big data ด้วยกันทั้งนั้น

เรื่องนี้สามารถมองได้สองแง่

เรื่องแรก จีนเล่นงานบริษัทเทคใหญ่ๆ เรื่องละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลมาระยะหนึ่งแล้วไม่ใช่แค่ปีสองปีนี้ แต่พอเริ่มจะมีสัญญาณว่าบริษัทพวกนี้ล้วงข้อมูลผู้บริโภคมากขึ้น ผู้บริโภคจีนก็เริ่มร้องเรียนและรัฐบาลก็เข้ามาแทรกแซงทันที นี่เป็นสัญญาณเตือนมานานแล้ว แต่บริษัทใหญ่ๆ ก็ยังก่อเรื่องแบบนี้ไปเรื่อยๆ

จะบอกว่าเป็นการ "ก่อเรื่อง" ก็ไม่ถูกเพราะบริษัทเทคอยู่ได้ด้วย big data หากไม่รวบรวมข้อมูลพวกเขาจะทำธุรกิจอย่างไร? ในกรณีของ Didi มีรายว่าพวกเขาเก็บข้อมูลลูกค้าที่หลากหลายแบบเรียลไทม์ในวงกว้างทุกๆ วัน เพื่อนำ data มาวิเคราะห์การจราจรและการพัฒนยานยนต์อัตโนมัติ อันเป็นแกนหลักของธุรกิจพวกเขา

แต่ทางการเล่นงาน Didi ฐานล่วงละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล คำถามก็คือ Didi ล้ำเส้นหรือไม่? เพราะแม้แต่ประเทศตะวันตกก็ซีเรียสเรื่องนี้ ดังนั้นกรณีนี้จึงต้องทำการสอบสวนกันต่อไป ในเบื้องต้นรายได้ของ Didi ตกแน่นอน เอาแค่หุ้นก็แดงเถือกไปเรียบร้อยแล้ว

เรื่องที่สอง จีนอาจกังวลเรื่องที่ Didi ไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐโดยที่กุมเอาข้อมูล big data ของประเทศปริมาณมหาศาลเอาไว้ ความกังวลนี้สะท้อนออกมาในข้อเขียนของ Global Times ที่กล่าวว่า “ไม่อนุญาตให้ยักษ์ใหญ่อินเทอร์เน็ตกลายเป็นฐานข้อมูลสุดยอดของข้อมูลส่วนบุคคลของคนจีนที่มีรายละเอียดมากกว่าประเทศ และบริษัทเหล่านี้ไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้ข้อมูลดังกล่าวตามต้องการ”

พูดง่ายๆ ก็คือรัฐบาลเท่านั้นที่จะคุม big data ได้ ส่วนเอกชนทำได้ในระดับที่จำกัด ส่วนจะทำได้แค่ไหนนั้น "ลองดูคิดกันเองแล้วกัน" ถ้ามันล้ำเส้นก็จะเจอแบบ Alibaba และ Tencent และล่าสุดคือ Didi

อย่าลืมว่าจีนปกครองด้วยระบบอำนาจนิยมที่ใช้ระบอบทุนนิยมทางเศรษฐกิจ ดังนั้นรัฐบาลจีนจึงต้องทำตัวให้เป็น big brother ผู้กุม big data แต่ฝ่ายเดียว

รัฐบาลจีนในเวลานี้เลือกแล้วว่าจะเอาความมั่นคงนำหน้าความก้าวหน้าทางธุรกิจ เป็นการกลับลำจากไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ที่จีนพยายามส่งออกธุรกิจไปต่างแดน แต่ตอนนี้คงตระหนักแล้วว่าธุรกิจจีนในต่างแดนเป็นจุดอ่อนเปล่าๆ

แน่นอนว่าการเล่นงาน Didi Chuxing ส่งผลกระทบต่อผู้คนหลายล้าน แต่คนจีนบางคน (และไม่น่าจะน้อยด้วย) แสดงท่าทีเห็นด้วยกับการเล่นของของรัฐบาล สาเหตุหนึ่งเพราะคล้อยตามรัฐบาลเรื่องความมั่นคงที่ Didi เอาข้อมูลของคนจีนไปพ่วงกับธุรกิจ และไหนจะกังวลที่ Didi ไปจดทะเบียนที่ตลาดหุ้นสหรัฐอีก

(อนึ่ง ผู้บริหารระดับสูงของ Didi กล่าวเมื่อวันเสาร์ว่า บริษัทจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้และข้อมูลการใช้ถนนของจีนทั้งหมดที่เซิร์ฟเวอร์ในประเทศ และ "เป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน" ที่จะส่งข้อมูลไปยังสหรัฐ)

กระแสชาตินิยมในหมู่คนจีนกำลังขึ้นสูงมาก ในโซเชียลมีเดียมีการขุดหาข้อมูลของ Didi ออกมาแฉเพื่อที่จะยืนยันความเชื่อของพวกเขาว่า Didi ไม่รักชาติ

ตัวอย่างเช่นสมาชิกของคณะกรรมการบริหารรายหนึ่งของ Didi เป็นคนต่างชาติคือ Adrian Perica เขาไม่ใช่แค่คนต่างชาติ แต่เป็นอเมริกันที่จบการศึกษาจาก United States Military Academy at West Point (ปริญญา Bachelor in Physics )

ไม่ต้องสาธยายให้มากความใครๆ ก็ทราบว่า West Point คือโรงเรียนนายร้อยสหรัฐ เป็นสถาบันทหารอันดับชั้นต้นๆ ของโลก

ข้อมูลนี้ทำให้ชาวเน็ตจีนชี้ว่า Didi มี "แนวที่ห้า" จากประเทศคู่กรณีสงครามการค้ามานั่งเป็นบอร์ดและนายคนนี้ยังเคยเป็นทหารมาก่อน แต่คนส่วนใหญ่มักจะทราบนอกจากจะเป็นฝ่ายบริการของ Didi แล้วเขายังเป็นรองประธานฝ่ายพัฒนาองค์กรของ Apple ที่รายงานต่อซีอีโอคือทิม คุกด้วย

แต่คนจีนสนใจที่เขาเคยเป็นทหารมากกว่า จากข้อมูลของเว็บไซต์ West Point ระบุว่าคาเด็ตหรือนายร้อยจากที่ West Point จะต้องไปรับใช้ชาติในกองทัพเป็นเวลาอย่างน้อย 8 ปี (ทั้ง Active Duty และ Reserve Component Service เพราะเป็นการใช้หนี้ภาษีประชาชนที่อุดหนุนการเรียนเป็นนักเรียนนายร้อย ที่ใช้งประมาณมากกว่า 225,000 ดอลลาร์)

นี่สะท้อนถึงอาหารตื่นตระหนกของคนจีนหัวชาตินิยม พวกเขาพร้อมที่จะสนับสนุนรัฐบาลด้วยการขุดข้อมูลมาสนับสนุนการกวาดล้าง "ศัตรูของชาติ" และกรณีของ Adrian Perica ยังอาจทำให้คนจีนรู้สึกว่านี่เป็นการตอบโต้สหรัฐที่เล่นงานบริษัทจีนที่สหรัฐกล่าวหาว่าพัวพันกับกองทัพจีน

อีกตัวอย่างของการขุดขึ้นมาประจานคือ หลิ่วชิง ประธาน Didi

ชาวเน็ตนักขุดพบว่า หลิ่วชิง ประธาน Didi เป็นลูกสาวของหลิ่วฉวนจื้อ นักธุรกิจเจ้าของ Lenovo หลิ่วฉวนจื้อ ลูกชายของหลิวกู่ซู เป็นทนายความที่ช่วย Vitasoy ให้ได้เครื่องหมายการค้าในจีน

เวลาไล่ๆ กับที่ Didi โดนเล่นงานนั้นบริษัทเครื่องดื่ม Vitasoy ของฮ่องกงที่มีธุรกิจใหญ่ในจีนถูกชาวเน็ตจีนรุมคว่ำบาตร เพราะพนักงวานในบริษัทมีหนังเสือเวียน (ที่มีรายงานว่ามีตราประทับของบริษัท) แสดงความเสียใจกับการตายของพนักงานคนหนึ่งในบริษัทที่เป็นมืดมีดทำร้ายตำรวจฮ่องกงก่อนที่เขาจะฆ่าตัวตายไป

รู้ๆ กันว่าเพราะการประท้วงที่ฮ่องกงทำให้คนฮ่องกงจำนวนไม่น้อยเกลียดตำรวจ (หาว่าตำรวจรับใช้คอมมิวนิสต์จีน) ขณะที่คนจีนให้กำลังใจตำรวจฮ่องกง (ในฐานะผู้ปกป้องอธิปไตยของชาติ)

ด้วยเหตุผลทางการเมืองชาวฮ่องกงบางส่วนยกย่องมือมีดคนนี้เป็นฮีโร่ ส่วนคนจีนเดือดดาลอย่างหนัก ยิ่งยิ่งบันดาลโทสะเมือทราบว่าบริษัท Vitasoy ไปพัวพันด้วย จนรวมพลังกันแบนครั้งใหญ่ตั้งแต่ระดับดาราดังจนถึงประชาชนทั่วไป บริษัท Vitasoy จึงกระอักเลือดแม้จะพยายามอธิบายว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องก็ตาม

อีกเรื่องที่พัวพันต่างชาติ คือการที่หุ้นของ Didi อยู่ในกำมือของตางชาติ เพราะ SoftBank Group Corp. จากญี่ปุ่นเป็นเจ้าของบริษัทประมาณ 20% ตามรายการ ในขณะที่ Uber Technologies Inc. ของสหรัฐเป็นเจ้าของประมาณ 12% เฉิงเหวยผู้ก่อตั้ง ถือหุ้นประมาณ 6.5% เหนือกว่าสัดส่วนหุ้นของ Tencent Holdings Ltd. ที่ 6.4% เพียงเล็กน้อย

นี่ก็เป็นอีกประเด็นที่คนจีนคล้อยตามการตัดสินใจของรัฐบาลว่า Didi ไม่น่าไว้ใจ

จีนกำลังเข้าสู่โหมด "เอ็งมาข้ามุด" คือหลบมาตั้งหลักในบ้านเพื่อตั้งรับการโจมตีจากสหรัฐ-ชาติตะวันตก-ญี่ปุ่น อะไรก็ตามที่จะเป็นช่องโหว่ให้ชาติตะวันตกเข้ามาโจมตีได้จีนจะไม่ปลอ่ยให้ลอยนวล บริษัทเทคใหญ่ๆ ก็เข้าข่ายนั้น

จีนอาจจะตระหนักในเรื่องนี้ตั้งแต่กรณี Huawei หลังจากพบว่าการปล่อยให้บริษัทเทคชั้นนำออกไปโลดแล่นอย่างเสรีก็พบว่าตลาดเสรีของโลกมันไม่ได้เสรีจริงๆ หากบริษัทจีนเป็นภัยคุกคามต่อโลกตะวันตกเมื่อใด จีนจะไม่มีที่ยืนในตลาดเสรีอีกต่อไป ตอนนี้มันชัดแล้ว

โหมด "เอ็งมาข้ามุด" ยังถูกนำไปใช้กับ Huawei ด้วยซึ่งกำลังซื้อตัวคนเก่งๆ จากทั่วโลกมาทำงานให้ ในแง่หนึ่งมันจะช่วยเสริมแสนยานุภาพให้จีนด้านเทคโนโลยี ในทางหนึ่งก็ "ใช้เงินฟาด" เพื่อดูดสมองให้ไหลเข้าจีนและตัดกำลังฝ่ายตรงข้ามไปพร้อมๆ กัน

ทั้งหมดนี้ต้องทำเพื่อผลประโยชน์ชาติ หากการเร่งรัดพัฒนาของบริษัทเทคทำเพื่อตัวเองเมื่อไร จะถูกมองว่าไม่รักชาติ และถูก "เก็บกวาด" อย่างที่เราเห็นจากกรณี Didi

และตอนนี้จีนเลือกความมั่นคง มากกว่าความมั่งคั่งส่วนบุคคลของบางบริษัท

กรกิจ ดิษฐาน

Photo by Jade GAO / AFP