ข่าวดี! นักวิทย์ตัดต่อยีนสกัดไม่ให้โควิดแพร่กระจายในเซลล์มนุษย์สำเร็จ
นักวิทย์ใช้เทคโนโลยีตัดต่อยีนสกัดกั้นไม่ให้เชื้อโคโรนาไวรัสเข้าไปติดในเซลล์ของมนุษย์ได้สำเร็จ
สำนักข่าว AFP รายงานว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์ออสเตรเลียใช้เทคโนโลยี CRISPR ตัดต่อยีนเพื่อสกัดกั้นการแพร่กระจายของเชื้อโคโรนาไวรัส (SARS-CoV-2) ในเซลล์มนุษย์ที่ติดเชื้อได้สำเร็จ เป็นการกรุยทางไปสู่ยารักษา Covid-19
รายงานการวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications ระบุว่า เทคโนโลยีดังกล่าวมีประสิทธิภาพกับการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสในการทดลองในห้องปฏิบัติการ และคาดว่าจะเริ่มทดลองในสัตว์เร็วๆ นี้
ทีมวิจัยใช้เอนไซม์ CRISPR-Cas13b ที่จับกับรหัสพันธุกรรม RNA ของเชื้อโคโรนาไวรัส และทำลายจีโนมที่ไวรัสใชในการแบ่งตัวในเซลล์ของมนุษย์
ชารอน ลูวิน ผู้วิจัยอาวุโสจากสถาบันเพื่อการวิจัยโรคติดเชื้อและภูมิคุ้มกันปีเตอร์โดเฮอร์ตีของออสเตรเลียเผยกับ AFP ว่า ทางทีมออกแบบให้ CRISPR จดจำเชื้อโคโรนาไวรัส และเมื่อเชื้อถูกจดจำแล้ว เอนไซม์ CRISPR-Cas13b จะตรงเข้าไปทำลายไวรัสดังกล่าว
“เราพุ่งเป้าไปที่หลายส่วนของเชื้อไวรัส ทั้งส่วนที่มีความเสถียรมากๆ และไม่เปลี่ยนแปลง และส่วนที่เกิดการเปลี่ยนแปลงง่าย และทั้งหมด (เอนไซม์ CRISPR-Cas13b) ทำลายไวรัสได้ดีมาก” ลูวินเผย
นอกจากนี้ เทคโนโลยีตัดต่อยีนนี้สกัดไวรัสไม่ให้แบ่งตัวในตัวอย่างที่เก็บจากสายพันธุ์ที่น่ากังวลอย่างอัลฟาซึ่งพบครั้งแรกในอังกฤษ
อย่างไรก็ดี ลูวินเผยอีกว่า การนำเทคโนโลยี CRISPR มาใช้กับยาที่มีอยู่ทั่วไปอาจต้องใช้เวลาอีกหลายปี แต่ถึงอย่างนั้นวิธีดังกล่าวก็มีประโยชน์ในการจัดการกับ Covid-19
ลูวินเผยอีกว่ายารักษานี้จะเป็นยาต้านไวรัสง่ายๆ โดยการรับประทาน ซึ่งผู้ป่วยสามารถได้รับทันทีที่ทราบว่าติด Covid-19 เพื่อป้องกันไม่ให้อาการป่วยหนัก และลดความกดดันให้กับโรงพยาบาลและระบบสาธารณสุข
ทั้งนี้ เทคโนโลยี CRISPR ซึ่งช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ปรับเปลี่ยนลำดับดีเอ็นเอและเปลี่ยนแปลงการทำหน้าที่ของยีน เคยประสบความสำเร็จในการขจัดรหัสพันธุกรรมที่ทำให้เกิดมะเร็งในเด็กมาแล้ว
Photo by ERIC LALMAND / BELGA / AFP