posttoday

เมื่อแคนาดาคิดเป็นศัตรูกับพญามังกร ผลก็คือ?

12 สิงหาคม 2564

จะให้จีนนั่งเฉยๆ ก็คงไม่ได้ถ้าถูกท้าทาย จากคำเตือนของจีนว่าจะมีผลลัพธ์อันเลวร้ายตามมา ตอนนี้มันเริ่มชัดขึ้นเรื่อยๆ

คนอเมริกันมักจะแซวคนแคนาดาว่ามักจะตื่นตูมกับเรื่องธรรมดาๆ อย่างเรื่องตีรันฟันแทงที่เกิดขึ้นแบบรายวันในสหรัฐ นานๆ จะเกิดขึ้นในแคนาดา ดังนั้นคนที่นั่นมักจะตื่นเต้นในเรื่องร้ายๆ ที่คนอเมริกันชาชินเสียแล้ว

ภาพลักษณ์ของคนแคนาดาคือพวกไม่มีพิษมีภัย ไปไหนก็ไม่มีคนตั้งแง่ เพราะไม่ค่อยไปยุ่มย่ามกับการเมืองโลก ในสายตาของจีนก็เหมือนกันที่มองคนแคนาดาเป็นมิตร ยิ่งคนที่อินกับประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์จีนยิ่งรู้สึกผูกพันกับแคนาดา เพราะเคยมีชาวแคนาดาร่วมหัวจมท้ายกับการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วย

แต่ความรู้สึกดีๆ ต่อแคนาดาเสื่อมทรามลงหลังจากที่แคนาดามีนายกรัฐมนตรีชื่อ จัสติน ทรูโด ผู้ที่ลากแคนาดาไปยุ่งกับการเมืองโลก พยายามทำให้แคนาดาเป็นผู้พิทักษ์ค่านิยมตะวันตก และยังไปแหย่หนวดมังกรให้พิโรธ ทรูโดทำทุกอย่างที่แคนาดาไม่เคยทำ แต่ทำทุกอย่างที่ผู้นำโลกตะวันตกที่ห้าวๆ มักทำ

เขาไม่เหมือนผู้นำอเมริกันเสียทีเดียว แต่คล้ายกับผู้นำอังกฤษที่พยายามผลักดันประเทศให้มีบทบาทในเวทีโลกแต่ลงท้ายแล้วถูกมองว่าเป็นแค่ลูกหาบของรัฐบาลสหรัฐ

กรณีที่รัฐบาลแคนาดาจับเมิ่งหว่านโจว ลูกสาวเจ้าของบริษัทหัวเหวย (Huawei) เป็นการทำลายความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับแคนาดาจนแทบสะบั้น ทอดทิ้งมรดกที่พ่อของเขาเคยปลุกปั้นมันขึ้นมา

โปรดทราบว่าพ่อของจัสติน ทรูโด คือ ปิแอร์ ทรูโด เป็นนายกรัฐมนตรีแคนาดาคนแรกที่ไปเยือนจีนเมื่อปี 1973 โดยพบกับเหมาเจ๋อตงด้วยตนเอง ปีนั้นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศงอกงามอย่างไม่เคยมีมาก่อน และดีวันดีคืน ผ่านรัฐบาลแล้วรัฐบาลเล่า จนมันพังพินาศในยุคทรูโดรุ่นลูก

ตอนแรกทรูโดนั้นก็พูดคุยกับจีนดีอยู่แค่ประมาณ 2 ปี แต่การเจรจาดูเหมือนจะติดขัดไปเสียหมด มันส่อเค้ารางว่าจีนกับแคนดาน่าจะคุยกันไม่รู้เรื่องแล้ว ดูเหมือนว่าเหตุที่ทำให้คุยกันไม่รู้เรื่องอีกก็เพราะแคนาดากับจีนตกลงเรื่องการค้ากันไม่ได้ ทั้งๆ ที่ทรูโดไปเยือนจีนถึง 2 ครั้งและครั้งสุดท้ายก็เพื่อคุยเรื่องนี้

ทั้งสองประเทศเริ่มระหองระแหงกันทั้งเรื่องการค้าและเรื่องการเมืองภายในจีน ซึ่งแคนาดาเริ่มเข้ามายุ่มย่ามชัดขึ้นกรณีของหลิวเสี่ยวปัว ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพของจีนในเดือนกรกฎาคม 2017 ซึ่งเสียชีวิตจากอวัยวะล้มเหลวขณะที่เขาถูกควบคุมตัวโดยรัฐบาลจีน ตอนนั้นคริสเตีย ฟรีแลนด์ (Chrystia Freeland) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของแคนาดากล่าวในแถลงการณ์แสดงความเสียใจอย่างจริงใจต่อครอบครัวและเพื่อนฝูงของหลิว และเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทุกคน

ถึงขนาดนี้แล้วจีนก็ยังไม่สวนกลับแคนาดาแรงๆ ทั้งๆ ที่แคนาดาล้ำเส้นพอควร แต่รัฐบาลแคนาดาบีบต่อโดยโวยวายว่าทางการจีนปิดคอมเมนต์ของเพจสถานทูตในเครือข่ายเวยปั๋วเพื่อไม่ให้เอ่ยถึงหลิวเสี่ยวปัว

ท่าทีของจีนในตอนนั้นค่อนข้างใจเย็นต่อการกระทำของบางประเทศที่เข้าข่ายแทรกแซงกิจการภายใน ดังนั้นเราจะไม่เห็นจีนโวยวายและตอบโต้แรงๆ เหมือนกับตอนนี้ แคนาดาก็คงจะได้ใจจึงเล่นจีนหนักขึ้นเรื่อยๆ เช่น สั่งห้ามขายกิจการของแคนาดาให้รัฐวิสาหกิจจีน (กรณีขาย Aecon ให้รัฐวิสาหกิจจีนเมื่อปี 2018) นี่เป็นการตัดสินใจที่สอดคล้องกับความพยายามของชาติตะวันตกนำโดยสหรัฐที่พยายามสกัดกั้นรัฐวิสาหกิจจีน เพราะเป็นทัพหน้าของจีนในการรุกตลาดโลก

รัฐบาลทรูโดยังตกลงกับรัฐบาลทรัมป์ (ข้อตกลง USMCA ระหว่างสหรัฐ แคนาดา และเม็กซิโก) ที่มีเงื่อนไขเป็นประโยชน์ทางการเมืองกับสหรัฐ เช่นระบุว่า หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตั้งใจจะเริ่มเจรจาการค้ากับประเทศอื่น หากรัฐบาลสหรัฐไม่พอใจกับเนื้อหาของข้อตกลงการค้านั้น สหรัฐก็สามารถยกเลิก USMCA ได้ เงื่อนไขแบบนี้ไม่เป็นคุณต่อแคนาดารุ่นก่อน คือแคนาดาที่คบกับใครก็ได้ แต่ที่แคนาดายอมรับเงื่อนไขยอมตามพี่ใหญ่ทุกอย่าง แสดงว่าแคนาดาเลือกข้างแล้ว และข้างนั้นคือข้างที่จ้องจะเล่นงานจีน

จนกระทั่งเรื่องราวร้าวฉานหนักเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2018 หัวหน้าเจ้าหน้าที่การเงินของรองประธาน Huawei และ CFO ของบริษัทคือเมิ่งหว่านโจวถูกจับในแวนคูเวอร์ตามคำร้องขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนโดยทางการสหรัฐในข้อหาละเมิดมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐต่ออิหร่าน

ทนายของเมิ่งพยายามชี้ให้เห็นว่ามีการสมรู้ร่วมคิดที่ผิดกฎหมายทั้งระหว่างหน่วยงานรัฐในแคนาดาและระหว่างหน่วยงานรัฐในแคนาดากับสหรัฐ เรื่องนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี แต่สิ่งหนึ่งที่เรารู้แน่ๆ ก็คือ บอสใหญ่จีนโกรธมากกับการกระทำของแคนาดา

สีจิ้นผิง ทราบเรื่องนี้หลังจากรับประทานอาหารเย็นหลังการประชุมสุดยอดกับโดนัลด์ ทรัมป์ ปรากฏว่าสีจิ้นผิงโกรธที่เขาต้องมารู้เรื่องนี้จากเจ้าหน้าที่จีนแทนที่ฝ่ายแคนาดาจะแจ้งให้รัฐบาลจีนทราบ แม้แต่สถานทูตจีนในออตตาวาก็รู้เรื่องนี้จากปักกิ่งไม่ใช่จากรัฐบาลแคนาดา สถานกงสุลจีนในแวนคูเวอร์ยังกล่าวว่า "ไม่ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่การต่างประเทศของแคนาดาเกี่ยวกับการจับกุมเมิ่งหว่านโจว"

เอาเข้าจริงคนที่บอกเรื่องนี้คือเมิ่งหว่านโจวที่โทรหาหัวหน้าฝ่ายกฎหมายของ Huawei เมื่อ 4 ชั่วโมงหลังถูกจับ จากนั้นฝ่ายกฎหมายของ Huawei ถึงแจ้งไปที่รัฐบาลจีนที่ปักกิ่ง จากนั้นสีจิ้นผิงถึงทราบ จากนั้นสถานทูตและกงสุลจีนในแคนาดาถึงจะทราบเรื่อง

เราจะเห็นได้ว่าแคนาดาตบหน้าจีนเข้าจังๆ แบบนี้ ไม่ต้องแปลกใจที่จีนจะไร้ความปราณีกับแคนาดาอีก

จีนออกปากเตือนแกมขู่ก่อน โดยเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2018 รัฐบาลจีนบอกกับเอกอัครราชทูตแคนาดา คือ จอห์น แมคคอมลัม ว่าการจับกุมเมิ่ง "ละเมิดสิทธิและผลประโยชน์ทางกฎหมายและถูกต้องตามกฎหมายของพลเมืองจีนอย่างรุนแรง ไร้เหตุผล และไร้ความปรานี และเป็นการเลวร้ายอย่างยิ่ง" และเตือนว่าจะมี "ผลลัพธ์ที่ร้ายแรง" เว้นแต่เมิ่งจะได้รับการปล่อยตัว

ผลที่ตามมารวดเร็วทันใจ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2018 อดีตนักการทูตแคนาดา ไมเคิล คอร์วิก (Michael Kovrig) และที่ปรึกษาชาวแคนาดาที่เชื่อมโยงกับเกาหลีเหนือ ไมเคิล สเปเวอร์ (Michael Spavor) ถูกควบคุมตัวโดยสำนักความมั่นคงแห่งรัฐของจีนในกรุงปักกิ่ง

คอร์วิกทำงานให้กับ International Crisis Group (ICG) ซึ่งเป็นหน่วยงานแก้ไขความขัดแย้งที่มีสำนักงานในกรุงบรัสเซลส์และไม่ใช่หน่วยงานที่ทำงานแทรกแซงการเมืองจีนอย่างโจ่งแจ้ง ตามเนื้อผ้าแล้วไม่น่าจะถูกตามเพราะข้อหานี้ แต่โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศจีนในขณะนั้นบอกว่า “เมื่อพนักงานขององค์กรนี้ทำกิจกรรมในจีน ก็ถือว่าละเมิดกฎหมายแล้ว”

อย่างไรก็ตาม โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศจีนยังยืนยันข้อเรียกร้องของจีนให้ปล่อยตัวเมิ่งหว่านโจวโดยบอกว่า "ฝ่ายแคนาดาควรปล่อยตัวเมิ่งหว่านโจวที่ถูกคุมขังทันที และเพื่อปกป้องสิทธิและผลประโยชน์อันชอบธรรมของเธอ" ทำให้มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าการที่คอร์วิกกับสเปเวอร์ไม่น่าจะเกี่ยวกับที่เขาทำงานให้ ICG แต่เขาตกเป็นเหยื่อแรงพยาบาทของจีนต่อแคนาดามากกว่า

ทรูโดตอบโต้การจับกุมตัวแคนาดาทั้งสองคนว่า "ยอมรับไม่ได้" แต่เขาต้องยอมรับให้ได้เพราะจีนก็ไม่ยอมอ่อนข้อเช่นกัน

ไม่กี่วันหลังก่อนการจับกุมตัวเมิ่งหว่านโจวเช่นกัน รอเบิร์ท เชลเลนเบิร์ก (Robert Schellenberg) ชาวแคนาดาที่ถูกทางการจีนควบคุมตัวในเดือนธันวาคม 2014 โดยตั้งข้อหาลักลอบขนยาเสพติดในเดือนมกราคม 2015 และถูกตัดสินจำคุก 15 ปีในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2018 ตัดสินใจยื่นอุทธรณ์ในเดือนธันวาคม 2018

อาจเป็นเพราะความซวยแท้ๆ ที่ดลใจให้เขาดันตัดสินใจที่จะยื่นอุทธรณ์ต่อศาลจีนในเวลาลูกผีลูกคนแบบนี้ เพราะเมื่อเขาอุทธรณ์ได้ไม่กี่วันจีนกับแคนาดาก็เผชิญหน้ากัน ผลก็คือในเดือนมกราคม 2019 ศาลอุทธรณ์ประชาชนต้าเหลียนในมณฑลเหลียวหนิงของจีนได้พิจารณาคดีใหม่อีกครั้งกับเชลเลนเบิร์กและพิพากษาให้เขารับโทษประหารชีวิต!

เชลเลนเบิร์กขออุทธรณ์อีกจนกระทั่งวันที่ 10 สิงหาคม 2021 ศาลจีนก็ยังยืนคำพิพากษาเดิม การเพิ่มโทษจาก 15 ปีเป็นประหารนั้นค่อนข้างรุนแรงจนผิดสังเกต ทนายในกรุงปักกิ่งยังกล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า การบังคับใช้บทลงโทษที่รุนแรงขึ้นหลังจากการอุทธรณ์นั้นขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายวิธีพิจารณาความของจีน

ฝ่ายแคนาดาก็ทราบดีว่าการตัดสินประหารพลเมืองของตนน่าจะเกี่ยวกับที่แคนดาจับกุมตัวเมิ่งหว่านโจวไว้แน่ๆ หนึ่งในนั้นคือ โดมินิก บาร์ตัน (Dominic Barton) เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศจีนกล่าวว่า "ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ" ที่จีนประกาศผลการอุทธรณ์ของเชลเลนเบิร์กในขณะที่คดีที่เกี่ยวข้องกับผู้บริหาร Huawei คือเมิ่งหว่านโจวยังคงดำเนินอยู่ในแคนาดา

หนึ่งวันหลังย้ำโทษประหารของเชลเลนเบิร์ก ศาลจีนที่เมืองตานตงสั่งจำคุกไมเคิล สเปเวอร์เป็นเวลา 11 ปี ฐานสายลับ นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด ประณามอย่างรวดเร็วว่า “ยอมรับไม่ได้และไม่ยุติธรรม” และกล่าวว่า “คำตัดสินต่อสเปเวอร์เกิดขึ้นหลังจากการกักขังโดยพลการมานานกว่าสองปีครึ่ง การขาดความโปร่งใสในกระบวนการทางกฎหมาย และการพิจารณาคดีที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำที่กฎหมายระหว่างประเทศกำหนด”

สหภาพยุโรปก็ร่วมวงประณามจีนว่ามิได้มี "การพิจารณาคดีที่ยุติธรรมและกระบวนการที่เหมาะสม" สถานทูตสหรัฐประจำปักกิ่งบอกว่า "การดำเนินการกับชาวแคนาดาสเปเวอร์และคอร์วิก เป็นความพยายามใช้มนุษย์เป็นตัวต่อรอง" ขณะที่ในขณะเดียวกัน เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำสหประชาชาติ ลินดา โธมัส-กรีนฟิลด์ เรียกคำตัดสินดังกล่าวว่า "อุกอาจ" และ "ยอมรับไม่ได้โดยสิ้นเชิง"

แต่สำหรับจีนแล้ว การที่ชาติตะวันตกรุมสกรัม Huawei แบบหมดอนาคตทั้งยังจับลูกสาว/ผู้บริหารของบริษัทเอาไว้ มันเป็นการกระทำที่อุกอาจพอๆ กัน ดังนั้นแคนาดาต้องตระหนักว่าจีนไม่ยอมให้โดนเล่นงานฝ่ายเดียวแน่นอน

ที่สำคัญคือนับตั้งแต่จับตัวเมิ่งหว่านโจว แคนาดาแสดงท่าที "แหย่หนวดมังกร" มาโดยตลอด

เอาเฉพาะกรณีฮ่องกง เช่น โจมตีการปฏิบัติงานของตำรวจฮ่องกงในการปราบผู้ชุมนุม กระทรวงการต่างประเทศแคนาดายังแถลงเรื่องฮ่องกงไม่หยุดหย่อน ออกปากจะอุ้มชูผู้ลี้ภัยจากฮ่องกง เมื่อรัฐบาลจีนใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติเพื่อจัดการกับฮ่องกง แคนาดาก็ร่วมกับพันธมิตร Five Eyes แถลงแสดงความกังวลและอ้างว่าขัดต่อหลักการสหประชาชาติและข้อตกลงระหว่างจีนกับอังกฤษ

และแคนาดายังเสนอให้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติส่งผู้แทนพิเศษไปฮ่องกงเพื่อปกป้องสิทธิของชาวฮ่องกงตามข้อตกลงจีนกับอังกฤษ และถึงกับมีเสียงเรียกร้องจากอดีตทูตแคนาดาประจำฮ่องกงให้บอยคอตกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่ปักกิ่งจะเป็นเจ้าภาพในปีนี้ เพื่อตอบโต้ที่จีนบั่นทอนเสรีภาพที่ฮ่อกงกง

แคนาดายังเล่นงานจีนเรื่องอุยกูร์ โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2021 รัฐสภาแห่งแคนาดาได้อนุมัติญัตติด้วยคะแนนเสียง 266–0 เสียง โดยยอมรับอย่างเป็นทางการว่าจีนกำลังก่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (genocide) กับชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมอุยกูร์ในซินเจียง

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด และคณะรัฐมนตรีส่วนใหญ่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการลงคะแนนเสียง ซึ่งอาจเป็นการถ่วงดุลไม่ให้จีนโกรธเกรี้ยวจนเกินไปกับการใช้ข้อหา genocide เล่นงานจีนอันเป็นการกล่าวหาที่หนักมากและประเทศตะวันตกบางแห่งยังไม่กล้าใช้คำนี้กับกรณีซินเจียง

กับพฤติกรรมเหล่านี้ของแคนาดาจะให้จีนมีเมตตาได้อย่างไร?

ว่ากันตามตรงแล้ว ระหว่างจีนสหรัฐที่เป็นคู่กัดกันโดยตรง หากสหรัฐจะก่อกวนจีนแบบนี้ก็ยังถือว่าสมเหตุผล แต่แคนาดาบาดหมางอะไรกับจีนขนาดนั้นถึงได้ทำตัวเป็นศัตรูกับจีนยิ่งกว่าสหรัฐ?

และเป็นอีกครั้งที่จัสติน ทรูโดเอยคำว่า “ยอมรับไม่ได้" แต่เขาก็ทำอย่างอื่นไม่ได้ ตอนนี้เมิ่งหว่านโจวกำลังต่อสู้เพื่อไม่ให้แคนาดาส่งตัวเธอไปยังสหรัฐ หากแคนาดาทำเช่นนั้นก็เตรียมรับผลลัพธ์ที่เลวร้ายยิ่งกว่าการถูกจีนประหารพลเมืองของแคนาดาและสั่งจับชาวแคนาดาแล้วยัดข้อหาได้เลย

กระนั้นก็ตาม เกมนี้ดูเหมือนว่าจีนคงทำใจแล้วว่าจะเสียเมิ่งหว่านโจวก็เสียไป แต่เสียศักดิ์ศรีและถูกรังแกไม่ได้ ไม่ว่าแคนาดาจะเลือกทางไหน ก็ไม่พ้นถูกเดชพญามังกรขย้ำเป็นแน่

โดย กรกิจ ดิษฐาน

Photo by Andrej Ivanov / AFP