posttoday

ทำไมตอลิบานจึงยึดประเทศได้แบบสายฟ้าแลบ?

18 สิงหาคม 2564

วิเคราะห์แนวทางการต่อสู้ของตอลิบาน ทำไมพวกเขาถึงรุกคืบได้อย่างรวดเร็ว และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่พวกเขาทำได้

‘ฏอลิบาน’ หรือที่เรียกันแบบรวบรัดว่าตอลิบานหรือตาลีบัน ใช้เวลาแค่ 2 เดือนกว่าๆ ก็สามารถยึดจังหวัดต่างๆ ของอัฟกานิสถานได้แห่งแล้วแห่งเล่า ใช้ยุทธวิธีที่เรียกว่า ‘ป่าล้อมเมือง’ ค่อยๆ เขมือบพื้นที่ที่พวกเขาถนัดคือพื้นที่ห่างไกลในชนบท แล้วยึดเมืองเอกของภูมิภาคต่างๆ ทีละแห่งในเวลาไม่ถึง 1 เดือน จากนั้นก็ล้อมเมืองหลวงอย่างรวดเร็ว ในเวลาไม่ถึง 2 วันพวกเขาก็ยาตราทัพเข้าคาบูลได้

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ตอลิบานรุกคืบได้เร็วขนาดนี้ ย้อนกลับไปตอนที่พวกเขาจับอาวุธใหม่ๆ ก็ใช้เวลาไม่กี่เดือนก็ยึดพื้นที่ของอัฟกานิสถานเอาไว้มากมาย

ฐานที่มั่นของตอลิบานคือเมืองกันดะฮาร์ทางภาคใต้ เมื่ออัฟกานิสถานเขาสู่สงครามกลางเมืองช่วงต้นทศวรรษที่ 90 ตอลิบานที่เดิมเป็นเพียงกลุ่มนักศึกษาศาสนาแต่มีจิตใจมุ่งมั่นที่จะสร้างรัฐอิสลามที่แท้จริง ได้ดึงดูดนักศึกษาศาสนาและผู้ร่วมอุดมการณ์นับหมื่นมาเคลื่อนไหวร่วมกัน โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยข่าวกรองของปากีสถาน (ISI ซึ่งเรื่องนี้สามารถแตกประเด็นไปได้อีกเรื่องการยอมรับและถ่วงดุลอำนาจต่างประเทศของตอลิบาน)

ผู้นำของพวกเขาคือ มุลลอฮ์ มุฮัมมัด อุมัร ครูสอนศาสนาชาวกันดาฮาร์ที่ตั้งเป้าที่ว่าจะกวาดล้างพวกขุนศึกที่เฉือนแผ่นดินปกครอง โค่นล้มรัฐบาลกลางที่ไร้น้ำยาและฉ้อฉล กำจัดอาชญากรที่ทำลายบ้านเมือง ทำให้อัฟกานิสถานเป็นรัฐอิสลามที่บริสุทธิ์ตามหลักศาสนา - ด้วยเป้าหมายที่ชัดเจนและถูกใจผู้คนที่เบื่อหน่ายกับความถดถอยไร้อนาคตของประเทศ

นี่คือพิชัยสงครามข้อที่หนึ่งของตอลิบาน พวกเขามีเป้าหมายชัดเจนว่าจะทำอะไร เป็นเป้าหมายที่กระชับและตรงความต้องการของผู้คน พวกเขารู้ว่าผู้คนเบื่อหน่ายอะไร และเผอิญว่าผู้มีอำนาจกลุ่มอื่นๆ ในประเทศคือพวกขุนศึกและรัฐบาลกลางตอบสนองประชาชนไม่ได้แถมยังโกงกินบ้านเมืองอย่างหนัก

มุลลอฮ์ มุฮัมมัด อุมัร เริ่มต้นจากกลุ่มนักศึกษาศาสนาเพียง 50 คนเท่านั้นที่หวังจะกวาดล้างขุนศึกและความฉ้อฉลสร้างรัฐอิสลาม แนวคิดนี้ไม่ใช่แค่ความฝันของคนแค่ 50 คน แต่เป็นความต้องการของคนจำนวนไม่น้อย อย่างๆ น้อยช่วงไม่กี่เดือนหลังก่อตั้งกลุ่มมีผู้ร่วมอุดมการณ์เพิ่มถึง 15,000 คน

ตอลิบานที่ถือกำเนิดได้ไม่กี่ปีจึงแข็งแกร่งเหลือเชื่อ ในวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2537 กลุ่มตอลิบานได้โจมตีเมืองกันดะฮาร์แบบสายฟ้าแลบ จากนั้นใช้เวลาไม่ถึง 2 เดือนพวกเขาควบคุม 12 จังหวัดได้ก่อนวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2538 ดังนั้น การยึดอัฟกานิสถานครั้งนี้ (ปี 2564) จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะตอลิบานเคยทำสำเร็จมาแล้ว

เคล็ดลับความสำเร็จในตอนนั้นก็เพราะตอลิบานได้รับความนิยมในหมู่ประชาชน เพราะพวกเขาปราบปรามการทุจริต ควบคุมความไร้ระเบียบ ทำให้การสัญจรบนท้องถนนและพื้นที่ต่างๆ มีความปลอดภัย และพื้นที่ภายใต้การควบคุมมีการค้าที่เจริญรุ่งเรืองนั่นเพราะบ้านเมืองปลอดภัยแล้วนั่นเอง หลังจากความสำเร็จช่วงนี้ตอลิบานมีกำลังเพิ่มขึ้นมา 25,000 คนในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538

ในการรุกคืบปี 2564 ก็เช่นกัน เมื่อตอลิบานบุกเขาไปยึดได้เมืองที่วุ่นวายไม่มีขื่อไม่มีแปมานาน พวกเขาได้รับการต้อนรับจากชาวเมืองด้วยความยินดี

ดูเหมือนว่าตอลิบานจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชน ซึ่งมันไม่จริงเสมอไป จากการสำรวจโดย Asia Foundation เมื่อปี 2552 พบว่าตอลิบานเคยได้รับการสนับสนุนจากชาวอัฟกานกว่าครึ่งหนึ่ง ส่วนใหญ่เป็นชาวปาทานและประชาชนในถิ่นห่างไกล แต่พอถึงปี 2562 การสนับสนุนเหลือ 13.4%

พอถึงในช่วงต้นปี 2564 ผู้ตอบแบบสำรวจส่วนใหญ่อย่างท่วมท้นกล่าวว่าการปกป้องสิทธิสตรี เสรีภาพในการแสดงความเห็น และรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นสิ่งสำคัญ ไม่แน่ว่าด้วยผลโพลนี้ตอลิบานจึงเปลี่ยนท่าทีหลังจากยึดคาบูลคราวนี้ แทนที่จะตั้งกฎเข้มงวดเมื่อคราวก่อนแบบที่ไม่แยแสอะไรอื่นนอกกจากหลักศาสนาและกฎหมายชะรีอะฮ์ พวกเขายืนยันว่าจะให้สิทธิสตรีใขขอบเขตของหลักศาสนา อนุญาตให้ผู้หญิงเรียนหนังสือได้ เชิญผู้หญิงทำงานกับภาครัฐ และออกทีวีให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวหญิง

นี่คงเป็นการซื้อใจอย่างหนึ่ง ซึ่งชาติตะวันตกถึงกับทำตัวไม่ถูกที่ตอลิบานมาแนวนี้ ไม่รู้ว่าจะดีใจ เชื่อใจ หรือไม่ไว้วางใจพวกเขาดี

พิชัยสงครามข้อที่สอง สืบเนื่องจากเป้าหมายที่ชัดเจนคือจัดระเบียบบ้านเมืองเสียใหม่ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ตอลิบานมีธงนำที่ชัดเจนในเรื่องนี้มากกว่าใคร เพราะหากนำเป้าหมายนี้ไปใช้ในทางการเมืองมันจะทำไม่สำเร็จเพราะการเมืองผูกไว้กับผลประโยชน์ส่วนตัว แต่ละคนอ้างว่ารักชาติบ้านเมือง และต้องการใช้วิธีตัวเองที่จะไปถึงเป้าหมาย แต่ตอลิบานรวมศูนย์เป้าหมายไว้ที่ศาสนา เป้าหมายส่วนตัวจึงไม่สำคัญ

นักรบของตอลิบานจึงไม่วอกแวก คาร์เตอร์ มอลเคเชียน นักประวัติศาสตร์และอดีตที่ปรึกษาผู้บัญชาการทหารอเมริกันในอัฟกานิสถานกล่าวไว้ในบทความของ Politico ว่า "ในการสนทนาที่ผมพูดคุยกับกลุ่มตอลิบานด้วยตัวเอง ซึ่งมักจะคุยกันด้วยภาษาปาทานของพวกเขา “กลุ่มตอลิบานต่อสู้เพื่อความเชื่อ เพื่อญันนะตุ (สวรรค์) และฆอซี (การฆ่าคนนอกศาสนา) … กองทัพและตำรวจต่อสู้เพื่อเงิน” นักวิชาการด้านศาสนาของกลุ่มตอลิบานจากกันดาฮาร์บอกผมในปี 2562 ว่า “กลุ่มตอลิบานยินดีที่จะเสียหัวเพื่อต่อสู้ … กองทัพและตำรวจจะมาสู้ได้อย่างไร”

พิชัยสงครามข้อที่สามของตอลิบาน จะต้องสร้าง ‘ความชอบธรรม’ ให้ผู้คนเชื่อถือศรัทธา อาจเป็นเพราะต้องการสร้างความชอบธรรมหรือเพื่อการโฆษณาชวนเชื่อหรือเหตุผลเรื่องอุมการณ์ การยึดกุมคาบูลและประการอดีตผู้นำยังไม่เพียงพอ มุลลอฮ์ มุฮัมมัด อุมัร ต้องการสิ่งอื่นที่จะสร้างความชอบธรรมมากกว่านี้ เพราะประเทศใหม่ที่จะสถาปนาขึ้นไม่ใช่แค่ ‘ประเทศอัฟกานิสถาน’ หรือ ‘รัฐอิสลามอัฟกานิสถาน’ ของรัฐบาลที่ตอลิบานหวังจะโค่นล้ม เพราะมันยังไม่เป็นอิสลามพอ

ตอลิบานต้องการสถาปนา ‘เอมิเรตแห่งอัฟกานิสถาน’ ซึ่งหมายความว่าผู้นำจะต้องเป็นเอมีร์ มุลลอฮ์ มุฮัมมัด อุมัร ไม่จำเป็นต้องมีเชื้อเจ้าเพราะมีอีกวิธีหนึ่งที่เขาจะได้รับตำแหน่ง ‘เอมีร์ อัลมุอฺมินูน’ (แม่ทัพแห่งผู้ศรัทธา) ได้ นั่นคือการได่รับการรับรองจากที่ประชุมของอุลามาอฺ (ครูสอนศาสนา) เพื่อให้บุคคลนั้นเป็นเอมีร์ อัลมุอฺมินูน ในฐานะแม่ทัพในสงครามศักดิ์สิทธิ์ (ญิฮาด)

ที่กันดะฮาร์มีสิ่งสำคัญชิ้นหนึ่งเก็บรักษาไว้ คือ เสื้อคลุมของนบีโมฮัมหมัด (ที่ท่านสวมในเหตุการณ์อัลอิสรออ์และอัลมิอรอจญ์) เก็บรักษาไว้ที่มัสยิดคีรคาชารีฟเสื้อคลุมถูกล็อกไว้ภายในมัสยิดและไม่ค่อยมีใครเห็น มีสกุลหนึ่งปกป้องดูแลมานานถึง 250 ปีแล้วและตามธรรมเนียมแล้วผู้ดูแลจะนำเสื้อคลุมออกมาแสดงแก่ผู้นำอัฟกานิสถานที่มีความชอบธรรมเท่านั้น

เมษายน พ.ศ. 2539 ตอลิบานเรียกชุมนุมอุบามะอฺ ครั้นแล้วมุลลอฮ์ มุฮัมมัด อุมัร ผู้นำของกลุ่มตอลิบาน ได้นำเสื้อคลุมออกมาและถือไว้ต่อหน้าฝูงชน ฝูงชนก็เริ่มตะโกนว่า "เอมีร์ อัลมุอฺมินูน" นี่คือจุดเริ่มต้นของการยอมรับว่าตอลิบานคือผู้ก่อตั้งประเทศใหม่คือเอมิเรตแห่งอัฟกานิสถาน ผู้นำตอลิบานคือเอมีร์ ที่สำคัญพวกเขามีความชอบธรรมแล้วที่จะโค่นล้มรัฐบาลเพราะโยงตัวเองเข้ากับสิ่งผู้นำที่ชอบธรรมของอัฟกานิสถานจะสัมผัสได้เท่านั้น

เรื่องการเรียกตัวองเป็นเอมีร์ทำให้มุลลอฮ์ มุฮัมมัด อุมัรถูกวิจารณ์มาก อาเหม็ด ราชีด นักข่าวและนักเขียนนโยบายต่างประเทศมีหนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับอัฟกานิสถาน ปากีสถาน และเอเชียกลาง กล่าวว่า "ไม่มีชาวอัฟกันรับตำแหน่งนี้ (เอมีร์) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2377 เมื่อกษัตริย์ดอสต์ โมฮัมเหม็ด ข่าน รับตำแหน่งก่อนที่พระองค์จะประกาศญิฮาด (สงครามศักดิ์สิทธิ์) ต่อต้านอาณาจักรซิกข์ในเปชาวาร์ แต่ดอสต์ โมฮัมเหม็ดทรงต่อสู้กับชาวต่างชาติ ในขณะที่โอมาร์ประกาศญิฮาดกับชาวอัฟกันคนอื่นๆ"

แต่เป้าหมายของตอลิบานชัดเจนอยู่แล้วคือสร้างรัฐอิสลามบริสุทธิ์ รัฐบาลรูปแบบอื่นจึงเป็นศัตรู นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ที่ตอลิบานพยานยามทำให้คนอัฟกันหวนนึกถึงอดีตอันยิ่งใหญ่ยุคกษัตริย์ดอสต์ โมฮัมเหม็ด ข่านรวมถึงยุคสมัยของอับดูร รอฮ์มาน ข่าน พระราชนัดดาของดอสต์ โมฮัมเหม็ด ข่าน ที่เป็นกษัตริย์ที่เข้มงวดและเก่งกาจด้านการทหารจนได้ฉายาว่า ‘เอมีร์เหล็ก’

ตอลิบานใช้เวลาอีกปีกว่าๆ ระหว่าง พ.ศ. 2538 - 2539 เข้ายึดกรุงคาบูล และสามารถเข้ายึดครองได้ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2539 ขับไล่รัฐบาลรับบานีและกลุ่มอื่น ๆ ไปทางเหนือ และภายในสิ้นปีที่ครอบครองพื้นที่สองในสามของอัฟกานิสถาน อดีตประธานาธิบดีโมฮัมหมัด นาญิบุลลอฮ์ถูกจับกุมและประหารชีวิตในที่สาธารณะโดยการแขวนคอเมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2539

เมื่อครั้งที่สหภาพโซเวียตรุกรานอัฟกานิสถาน มุลลอฮ์ มุฮัมมัด อุมัร ได้เข้าร่วมกับฝ่ายต่อต้านของโซเวียตที่นำโดยนาญิบุลลอฮ์นี่เอง ไม่น่าเชื่อว่าชายหนุ่มในวันนั้นคือเอมีร์ฯ ที่ประหารเขาในวันนี้

การสร้างผู้นำที่แข็งแกร่งแบบนี้ยังอาจมีผลต่อการรุกคืบในปี 2564 ด้วย เทียบกับอัชราฟ ฆานี อดีตประธานาธิบดีที่หลบหนีไปซึ่งนักวิชาการที่ได้รับการฝึกอบรมจากตะวันตกและได้รับการสนับสนุนจากวอชิงตัน ผู้นำของตอลิบานหรือ ‘เอมีร์ฯ’ ดูมีบารมีกว่ามากทั้งในทางการเมืองและความชอบธรรมทางวัฒนธรรม

ฆานียังได้รับการสนับสนุนจากภายนอกคาบูลเพียงเล็กน้อยและยังมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีแม้แต่กับผู้บัญชาการบางคนของเขาเอง ขณะที่เอมีร์ฯ ของตอลิบานนั้นชี้นำเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ ถึงจะสั่งการจากโดฮาก็ยังมีประสิทธิภาพสูงมาก

พิชัยสงครามข้อสี่ ตอลิบานรู้ว่าสังคมอัฟกานแตกแยกแต่พวกเขากลับไม่ย้ำความแตกแยก เพราะยิ่งสังคมแตกแยกพวกเขาจะปกครองลำบาก เนื่องจากอัฟกานิสถานประกอบด้วยหลายชนเผ่า แต่ชนเผ่าหลักๆ คือปาทานคิดเป็น 40% มีเมืองหลักคือกันดะฮาร์ ส่วนชนเผ่าอื่นเช่น ทาจิก, อุซเบก ฮาซารา คนกลุ่มนี้อยู่ทางตอนเหนือ การที่ตอลิบานสามารถกุมพื้นที่ทางใต้ได้ก่อน เพราะชาวปาทานให้การสนับสนุน ปัญหาก็คือพวกเขาจะทำอย่างไรกับภาคเหนือที่พวกครองด้วยชนเผ่าต่างๆ และขุนศึกคนต่างๆ?

วิธีการก็คือต้องกลับไปที่พิชัยสงครามข้อสองคือการรวมศูนย์เป้าหมายไว้ที่ศาสนา ศาสนาเท่านั้นที่จะรวมเอาความแตกต่างของชนเผ่าต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน แม้ว่าภาคเหนือจะปกครองโดยพวกอุซเบก ทาจิก เติร์กเมน ฯลฯ แต่ตอลิบานที่ส่วนใหญ่เป็นพวกปาทานสามารถดึงชนเผ่าอื่นมาร่วมขบวนการได้โดยอาศัยอุดมการณ์เดียวกันและทำสำเร็จด้วยในบางพื้นที่ หรือหาไม่แล้วก็เชิญผู้แทนเผ่าต่างๆ มาทำงานร่วมกันเหมือนคราวนี้

ด้วยวิธีการนี้ตอลิบานจึงสามารแก้ไขความไม่ลงรอยระหว่างเผ่าได้ และเผ่าอื่นๆ จะไม่รู้สึกว่าตอลิบานเป็นรัฐบาลของพวกปาทานเท่านั้น แต่เป็นเอมิเรตแห่งศาสนาอิสลามของผู้นับถือศาสนาอิสลามและของชาวอัฟกานิสถานเท่าๆ กัน

แต่นอกจากอุมการณ์เรื่องศาสนาแล้วยังมีปัจจัยอื่นด้วย นั่นคือพิชัยสงครามข้อห้า ใช้ผู้รุกรานภายนอกเป็นแรงกระตุ้น ตอลิบานและชนเผ่าต่างๆ มีความรู้สึกร่วมกันนั่นคือไม่พอใจกองกำลังนานาชาติที่เข้ามาปักหลักในอัฟกานิสถาน ขณะที่รัฐบาลล่าสุดที่เพิ่งถูกโค่นล้มไปเป็นจำพวกรัฐบาลจับฉ่ายที่รวมตัวกันจากกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ทำให้ขาดเอกภาพอย่างหนัก และยังถูกมองว่าเป็นหุ่นเชดของ ‘ผู้รุกราน’ ที่ฉ้อฉล โกงกิน ไร้ประสิทธิภาพอย่างหนัก

ขณะที่โลกภายนอกมองว่าตอลิบานเป็นผู้ก่อการร้าย (หรืออย่างน้อยอุ้มชูผู้ก่อการร้ายมาก่อน) แต่ชาวอัฟกานิสถานไม่น้อยที่ถูกกองกำลังนานาชาติปฏิบัติอย่างโหดร้ายและใช้อำนาจตามอำเภอใจ มีบางกรณีที่กองกำลังต่างชาติสังหารผู้บริสุทธิ์ด้วยซ้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทิ้งบอมบ์ผิดๆ ถูกๆ ของกองทัพสหรัฐและพันธมิตรจนพลเรือนตายไปไม่รู้เท่าไร

ดังนั้นในหมู่ประชาชน ตอลิบานจึงเป็นผู้ปลดปล่อยมากกว่าผู้รุกราน สอดคล้องกับที่ตอลิบานเองก็ใช้แนวทางญิฮาดในการต่อต้านคนนอกศาสนาผู้รุกรานเช่นกัน

แต่นี่เป็นเพียงปัจจัยส่วนหนึ่งเท่านั้น การที่ตอลิบานสามารถใช้ศาสนาและชูธงต่อต้านผู้รุกรานเพื่อดึงคนมาเข้าร่วมยังไม่พอ มันอาจทำสำเร็จในการยึดประเทศเมื่อ 20 กว่าปีก่อน แต่หากใช้แค่ 2 เหตุผลนี้ในตอนนี้ตอลิบานไม่มีทางทำสงครามยืดเยื้อมานหลายปีได้ ปัจจัยที่เร่งปฏิกิริยาให้ฝ่ายตรงข้ามพ่ายแพ้อย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาคือการประกาศถอนกำลังทหารของชาติตะวันตก

ผู้บัญชาการกลุ่มตอลิบานคนหนึ่งในจังหวัดฆัชนีทางตอนกลางกล่าวกับ Reuters ว่าเมื่อกองกำลังของรัฐบาลเห็นว่าสหรัฐกำลังจะจากไปในที่สุด การต่อต้านก็พังทลายลง ในเวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์ เมืองใหญ่ทั้งหมดของอัฟกานิสถาน ตั้งแต่คุนดุซทางตอนเหนือไปจนถึงกันดาฮาร์ทางใต้ก็ล่มสลายลง

ผู้บัญชาการตอลิบานรายนี้กล่าวว่า “ไม่ได้หมายความว่าผู้นำชาวอัฟกันที่ยอมจำนนต่อเรานั้นเปลี่ยนไปหรือกลายเป็นคนเคร่งศาสนา แต่เป็นเพราะไม่มีเงินแล้ว” เขาหมายถึงการสนับสนุนทางการเงินที่รัฐบาลและกองทัพได้รับจากตะวันตกมาเกือบสองทศวรรษ

หากไม่มีการถอนกำลังออกไป สงครามกลางเมืองก็จะยืดเยื้อต่อไป แต่ต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถอนตัวออกไปในที่สุด ซึ่งย่อมเป็นชาติตะวันตกที่ไม่ได้ประโยชน์โพดผลอะไรที่จะอยู่ต่อเพื่อผลาญงบประมาณ นับแต่โบราณแล้วที่การรบยืดเยื้อจะทำได้ต่อเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีทุนทรัพย์เพียงพอที่จะปักหลักนานๆ ได้และเป้าหมายที่ต้องการจะโค่นต้องสมกับต้นทุนที่เสียไปด้วย

ชาติตะวันตกนั้นมองไม่เห็นกำไรในอัฟกานิสถานอีก ส่วนตอลิบานใช้พิชัยสงครามข้อหก คือเมื่อต่อสู้กับยักษ์ไม่ได้ก็ต้องรู้หลบเป็นปีกรู้หลีกเป็นหาง ในระยะหลายปีที่ผ่านมาตอลิบานไปปักหลักตามชนบทห่างไกล เข้าควบคุมพื้นที่หลายจังหวัดแล้วตั้งรัฐบาลเงาที่มีศาลและระบบภาษีของตนเอง ขณะที่ชาติตะวันตกแทบไม่ได้อะไรติดมือในเมืองใหญ่ของอัฟกานิสถาน ตอลิบานได้ทุนรอนเรื่อยๆจากการค้าฝิ่นและการทำเหมืองในเขตอิทธิพล หลีกเลี่ยงการปะทะซึ่งๆ หน้า เพราะอีกฝ่ายมีกำลังทางอากาศสนับสนุนจากสหรัฐ

ศัตรูของตอลิบานคืออดีตขุนศึกของพันธมิตรภาคเหนือ (Northern Alliance) ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 90 รัฐบาลอัฟกานที่เพิ่งถูกโค่นล้มไปก็พึ่งพา Northern Alliance ในการต้านทานตอลิบานเช่นกัน นำโดยขุนศึกภาคเหนือ อัตตา โมฮัมหมัด นูร์ ชาวเผ่าทาจิก และ ราชีด ดอสตุม ชนเผ่าอุซเบก

ตอลิบานรอเวลาเหมาะที่จะกวาดล้างเสี้ยนหนามใหญ่คืออดีตขุนศึกของ Northern Alliance ในที่สุดฐานที่มั่นของขุนศึกทั้งสองก็ถูกตอลิบานโค่นลงได้เพราะคนในยอมจำนนเนื่องจากไม่รู้จะสู้ต่อทำไมหลังจากสหรัฐตัดช่องน้อยแต่พอตัว ขุนศึกทั้งสองต้องหนีออกจากประเทศไป ไม่กี่วันหลังจากนั้ตอลิบานก็ยึดเมืองใหญ่ๆ รอบคาบูลได้

ตอลิบานรบเหมือนพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ปักหลักตามชายขอบรอจังหวะกลืนพื้นที่ชั้นในด้วยกลยุทธ์ป่าล้อมเมือง แต่พรรคคอมมิวนิสต์จีนก็เหมือนตอลิบานก็คือ ถ้าสหรัฐไม่ถอนความช่วยเหลือจากรัฐบาลก๊กมินตั๋งของเจียงไคเช็กในปี ค.ศ. 1947 พรรคคอมมิวนิสต์จีนก็จะยึดครองประเทศได้ยาก

รัฐบาลอัฟกานิสถานที่เพิ่งถูกโค่นล้มไปก็เหมือนก๊กมินตั๋ง เต็มไปด้วยปัญหาฉ้อฉล ไร้อุดมการณ์หลัก และพึ่งพาอำนาจภายนอก และเหมือนกับรัฐบาลเวียดนามใต้ที่มีคุณสมบัติเหมือนกับก๊กมินตั๋งแต่พึ่งพาสหรัฐอย่างหนักหน่วงกว่า แน่นอนว่าพอสหรัฐลอยแพเวียดนามใต้ ไซ่ง่อนก็แตกในไม่นาน สภาพการณ์ไม่ผิดอะไรกับคาบูลในมือของตอลิบาน

เมื่ออำนาจภายนอกถอนตัวไป ก็แค่นับถอยว่าจะถึงกาลอวสานเมื่อไร

โดย กรกิจ ดิษฐาน

Photo by - / AFP