posttoday

เมื่ออเมริกันต้องการ 'กระท่อม' เสรี

24 สิงหาคม 2564

ผู้เชี่ยวชาญและประชาชนชาวอเมริกันจำนวนหนึ่งมองว่ากระท่อมไม่ควรถูกแบน

1. ในวันนี้ (24 ส.ค.) พืชกระท่อมได้รับการปลดล็อกจากบัญชียาเสพติดของไทย โดยประชาชนสามารถครอบครองและบริโภคได้ ตลอดจนมีการปล่อยตัวผู้กระทำผิดในคดีพืชกระท่อม

2. ขณะที่ในสหรัฐยังคงเป็นข้อถกเถียงเมื่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) กำลังขอความเห็นจากสาธารณชนเกี่ยวกับการที่สหรัฐจะสนับสนุนการแบนกระท่อมระหว่างประเทศ ซึ่งสหประชาชาติ (UN) กำลังพิจารณาผ่านองค์การอนามัยโลก (WHO)

3. ทั้งนี้ สำนักงานควบคุมสารเสพติด (DEA) ของสหรัฐได้ประกาศให้กระท่อมเป็นสารควบคุมประเภทที่ 1 เมื่อเดือนกันยายน 2559 โดยห้ามนำไปใช้ในทางการแพทย์และห้ามใช้ในทางที่ผิด

4. โดย DEA ระบุว่าใบกระท่อมเป็นสารเสพติดผิดกฎหมายซึ่งส่งผลให้มีผู้ป่วยฉุกเฉินปีละหลายร้อยคน โดยมีการนำไปใช้ในทางที่ผิดและใช้เกินขนาด

5. ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากอีกฝ่ายซึ่งมองว่ากระท่อมมีสรรพคุณทางยา ซึ่งสามารถบรรเทาอาการปวด และมีอันตรายน้อยกว่ายาแก้ปวดอื่นๆ ตลอดจนช่วยลดความอยากสารเสพติดประเภทอื่นในผู้ที่ติดยาเสพติด

6. โดยการแบนกระท่อมจะส่งเสริมให้ผู้คนหันไปใช้สารเสพติดที่เป็นอันตรายมากขึ้นอย่างเช่น เฮโรอีน หรือเฟนทานิล และนำมาซึ่งการใช้ยาเกินขนาด ตลอดจนขัดขวางการทำงานวิจัยด้วย

7. โดยกระท่อมมีการบริโภคมายาวนานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อบรรเทาความเจ็บปวดและเป็นสารกระตุ้นอ่อนๆ ขณะที่ชาวอเมริกันหลายล้านคนก็ใช้มันเช่นกัน โดย Scientific American ชี้ว่ามีชาวอเมริกันราว 10 ถึง 16 ล้านคนใช้กระท่อมแทนยารักษาอาการปวดอื่นๆ เช่น โอปิออยด์ (opioids)

8. รายงานโดยเว็บไซต์ Stat News ระบุว่าแม้จะพบข้อบ่งชี้ถึงความไม่ปลอดภัยของกระท่อม แต่มีแนวโน้มว่ากระท่อมไม่อันตรายไปกว่ายาสามัญประจำบ้านหรือยาตามใบสั่งแพทย์หากใช้อย่างถูกวิธี และไม่มีข้อมูลใดที่จะสนับสนุนการแบนกระท่อม

9. ผู้สนับสนุนพืชกระท่อมในสหรัฐชี้ว่าผู้เสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับกระท่อมส่วนใหญ่นั้นเกิดจากการใช้สารอื่นร่วมด้วย อย่างเช่น ฝิ่น หรือแอลกอฮอล์ หรือบางคนพบสารเจือปนอื่นๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิต ไม่ได้เกิดจากตัวกระท่อมเอง

10. พวกเขามองว่าแทนที่จะห้ามใช้กระท่อม หน่วยงานกำกับดูแลควรเพิ่มข้อกำจัดในการใช้ และควบคุมเพื่อให้แน่ใจว่าจะมีการผลิตและบริโภคกระท่อมอย่างปลอดภัย และเพื่อให้ไม่ขัดขวางการวิจัยด้วย

11 . นอกจากนี้การศึกษาของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐ (CDC) เกี่ยวกับการใช้ยาเกินขนาด 27,000 ครั้งที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2559 ถึง 2560 พบว่ากระท่อมมีส่วนเกี่ยวข้องในการเสียชีวิตน้อยกว่า 1% โดยนักวิจัยประเมินว่ามีโอกาสเสียชีวิตน้อยกว่ายาโอปิออยด์ (opioids) กว่า 1,000 เท่า

12. ด้านฮ่องกงก็ได้มีการแบนกระท่อมเช่นกัน โดยรายงานเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาระบุว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งตรวจสอบและสกัดกั้นการนำเข้าสารเสพติดที่ผิดกฎหมายรวมถึงกระท่อม โดยเรียกว่าเป็น "เฮโรอีนสมุนไพร"

Photo by Handout / THAILAND'S OFFICE OF THE NARCOTICS CONTROL BOARD (ONCB) / AFP