posttoday

ออสเตรเลียพัฒนาวัคซีนโควิดใหม่ ต้านเดลตาได้ 95%

09 กันยายน 2564

EDV วัคซีนโควิดเทคโนโลยีนาโนเซลลูลาร์ตัวแรกของโลก เผยการทดลองรับมือโควิดได้หลายสายพันธุ์ เก็บได้นาน 3 ปี

เว็บไซต์ Globe Newswire เผยว่าบริษัท EnGeneIC Limited จากออสเตรเลีย พัฒนาวัคซีนโควิด-19 ด้วยเทคโนโลยีนาโนเซลลูลาร์ (Nanocellular) เป็นครั้งแรกของโลก โดยได้ผ่านการทดลองในสัตว์แล้วพบว่า วัคซีนสามารถกระตุ้นการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อต้านโควิด-19 ได้ สายพันธุ์กลายพันธุ์ที่น่ากังวลอย่างสายพันธุ์เดลตาด้วย

วัคซีนดังกล่าวมีชื่อว่า "EDV" โดยจากการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่าสามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อต้านโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ที่พบครั้งแรกในอินเดีย ได้มากกว่า 95% ตลอดจนสามารถรับมือกับไวรัสสายพันธุ์อื่นๆ ได้ไม่ว่าจะเป็นอัลฟา ที่พบครั้งแรกในสหราชอาณาจักร, เบตา จากแอฟริกาใต้ และแกมมา จากบราซิล

นอกจากนี้ จุดเด่นสำคัญอีกประการของวัคซีนคือสามารถเก็บในอุณหภูมิห้องและมีอายุการเก็บรักษานานกว่า 3 ปี ทำให้ง่ายต่อการขนส่งไปทั่วโลก รวมถึงในพื้นที่ห่างไกล ขณะที่วัคซีนอื่นๆ ที่ใช้ในปัจจุบันต้องเก็บและขนส่งในอุณหภูมิติดลบ และมีอายุการเก็บรักษา 3 ถึง 6 เดือน เท่านั้น

บริษัทผู้ผลิตได้เริ่มการทำการทดลองวัคซีนระยะที่ 1 ในมนุษย์ โดยเริ่มจากอาสาสมัครวัยผู้ใหญ่ 2 คนที่มีสุขภาพแข็งแรงในโรงพยาบาลเซนต์วินเซนต์ เมืองเมลเบิร์น เพื่อทดสอบความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการสร้างภูมิคุ้มกันของวัคซีน

ทั้งนี้ วัคซีน EDV ถูกบรรจุด้วยโมเลกุล 3 ชนิด ได้แก่ โมเลกุลที่ผลิตสไปรค์โปรตีน หรือหนามแหลมของไวรัส เพื่อกระตุ้นการตอบสนองของแอนติบอดี, โมเลกุลที่กระตุ้นเซลล์ที่สำคัญในระบบภูมิคุ้มกัน และโมเลกุลที่เปลี่ยนการตอบสนองของแอนติบอดีต่อต้านไวรัสเป็นเหมือนตีนตุ๊กแกเพื่อรับมือกับเชื้อกลายพันธุ์

ยิ่งไปกว่านั้น ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนโควิด-19 ตัวใดที่พัฒนาขึ้นสำหรับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อได้ง่ายและมีอาการรุนแรง ขณะที่กลุ่มคนเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะตอบสนองต่อวัคซีนโควิด-19 ในปัจจุบันได้ไม่เท่ากับผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง

ซึ่งวัคซีน EDV อาจตอบโจทย์ เนื่องจากก่อนหน้านี้บริษัท EnGeneIC เคยพัฒนาวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีนาโนเซลลูลาร์เพื่อใช้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งเป็นหลัก

Photo by Roslan Rahman / AFP