posttoday

จากเมืองน่าอยู่สู่แดนอาชญากรรม เกิดอะไรขึ้นที่ "ซานฟราน"?

22 พฤศจิกายน 2564

ซานฟรานซิสโกเคยเป็นเมืองที่มีคุณภาพชีวิตดีมากแห่งหนึ่งในสหรัฐ แต่ตอนนี้อาชญากรรมกำลังเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ

เมื่อวันเสาร์ที่ 20 พฤศจิกายนตามเวลาท้องถิ่นของซานฟรานซิสโกเบย์ มีกลุ่มคนประมาณ 80 คน บางส่วนสวมหน้ากากสกี บางคนถือชะแลงและอาวุธ บุกเข้าไปห้างแบรนด์เนม Nordstrom จากนั้นก็ระดมปล้นสินค้าหรูในร้าน ก่อนที่จะหลบหนีไปกับรถประมาณ 25 คันที่จอดขวางถนนอยู่ด้านนอก

การปล้นที่อุกอาจนี้เกิดขึ้นท่ามกลางสายของผู้คนมากมาย แต่ผู้ลงมือก็ยังทำงานเหมือนไม่แยแสผู้รักษากฎหมาย แม้ว่าจะมีผู้ก่อเหตุถูกตำรวจใช้ปืนขู่จนรวบตัวไว้ได้ 2 คน แต่มันยังน้อยมากเมื่อเทียบกับตัวเลขของคนร้ายที่หลายสิบคน

และที่จริงแล้ว เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเพียง 1 วันหลังจากร้านค้าระดับไฮเอนด์หลายแห่งในย่านยูเนียนสแควร์ของซานฟรานซิสโก ซึ่งเป็นย่านช็อปปิ้งยอดนิยมของซานฟรานฯ ถูกคนกลุ่มใหญ่ทุบกระจก ขโมยสินค้า แล้ววิ่งไปที่รถจอดรออยู่

เป้าหมายของคนกลุ่มนี้ดูเหมือนจะเป็นแบรนด์เนม เพราะการปล้นคราวก่อนเล็งเป้าหมายที่ Louis Vuitton, Fendi, Yves Saint Laurent, Burberry และ Dolce & Gabbana จากการรายงานของ Fox 2 News และในวันถัดมาเป้าหมายคือห้างสินค้าหรูสัญชาติอเมริกัน Nordstrom

ซานฟรานซิสโกและพื้นที่เบย์แอเรีย (หรืออ่าวซานฟรานซิสโกที่ประกอบด้วยเมืองอีกหลายเมือง) เคยเป็นพื้นที่ที่น่าอยู่ มีคุณภาพชีวิตที่ดี และเป็นที่ตั้งของบริษัทชั้นนำหลายแห่ง รวมถึงซิลิคอนแวลลีย์ (Silicon Valley) 

แต่ยกตัวอย่างซานโฮเซ ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองใหญ่ที่ปลอดภัยที่สุดในสหรัฐอเมริกาในช่วงต้นทศวรรษ 2000 ตอนนี้มีอัตราการเกิดอาชญากรรมรุนแรงขึ้นนับตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 2010 และยิ่งรุนแรงขึ้นหลังเกิดการระบาดใหญ่

ซานโฮเซก็ยังถือว่ามีอัตราอาชญากรรมต่ำมากเมื่อเทียบกับเมืองอื่นๆ ในประเทศ ทว่า แม้แต่เมืองที่ปลอดภัยที่สุดแห่งหนึ่งแห่งนี้ก็ยังเห็นความเปลี่ยนแปลงในทางที่น่ากังวล ยิ่งไม่ต้องพูดถึงเมืองอื่นๆ ที่ "เสี่ยง" มากกว่าในแถบเบย์แอเรีย

ซานฟรานซิสโก อาจไม่ใช่เมืองสวรรค์ แต่มันเป็นเมืองที่น่าอยู่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก จากการจัดอันดับของ Mercer (21st annual Quality of Living survey) เมื่อปี 2019 ซานฟรานซิสโกเป็นเมืองที่น่าอยู่ที่สุดในสหรัฐโดยอยู่ในอันดับที่ 34 ของโลก (กรุงเทพฯ อยู่ในอันดับที่ 133)

แต่ในการสำรวจความเห็นของชาวซานฟรานโดย San Francisco Chamber of Commerce เมื่อเดือนมิถุนายน 2021 แสดงให้เห็นว่า 8 ใน 10 ของผู้อยู่อาศัยในซานฟรานซิสโกมองว่าอาชญากรรมเลวร้ายลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ไม่ใช่แค่อาชญากรรม ผู้ตอบแบบสอบถามราว 88% กล่าวว่าปัญหาคนเร่ร่อน (homelessness) เลวร้ายลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และ 80% มองว่าการจัดการกับวิกฤตคนไร้บ้านนี้เป็นเรื่องสำคัญ

ที่สำคัญก็คือในโพลเดียวกันพบว่ามากกว่า 40% กล่าวว่าพวกเขาวางแผนที่จะย้ายออกจากเมืองในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

คุณภาพชีวิตของซานฟรานเริ่มแย่ลงแม้ภาพภายนอกของมันยังสวยสดงดงามก็ตาม แม้แต่นายกเทศมนตรีลันดัน บรีด (London Breed) ก็ยังยอมรับว่ามีปัญหาคนติดยาและปัญหาสุขภาพทางจิตที่รุมเร้าคุณภาพชีวิตของชาวเมือง

จากข้อมูลของกรมอนามัยซานฟรานซิสโก มีผู้เสียชีวิต 700 รายจากการใช้ยาเกินขนาดในปี 2020 ส่วนใหญ่มาจากเฟนทานิล ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 60%

หากยังไม่เห็นภาพว่ามันเลวร้ายอย่างไร ลองนึกถึงเหตุการณ์ที่ชาวเอเชียจำนวนหนึ่งถูกทำร้ายในสหรัฐ ในบรรดาเหตุการณ์เหล่านี้ กรณีที่ซานฟรานฯ และเบย์แอเรียเป็นกรณีที่น่าตกใจที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายหญิงชราวัย 75 และ 83 ปี กรณีหลังเกิดขึ้นจากน้ำมือชองชายจรจัดไร้บ้าน

ในเดือนพฤษภาคม 2021 เกิดเหตุทำร้ายหญิงไทยจนใบหน้าฟกช้ำที่สถานีรถไฟซานฟรานซิสโกขณะที่คนร้ายพยายามปล้นโทรศัพท์มือถือของหญิงไทยดังกล่าว และย้อนไปในเดือนกุมภาพันธ์ ชายไทยวัย 84 ปีในซานฟรานฯ ถูกวัยรุ่นกระแทกเข้าอย่างจังจนล้มลงและเสียชีวิตในที่สุด

เกิดอะไรขึ้นกับซานฟรานซิสโก เมืองที่น่าอยู่ที่สุดแห่งหนึ่ง และร่ำรวยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก?

คำตอบที่น่าสนใจอาจจะมาจากสารคดีสั้นเรื่อง Chaos by the Bay: The Truth About Homelessness in San Francisco (ความโกลาหลริมอ่าว: ความจริงเกี่ยวกับคนเร่ร่อนในซานฟรานซิสโก) โดยคริสโตเฟอร์ เอฟ. รูโฟ (Christopher F. Rufo) บรรณาธิการร่วมของ City Journal วารสารของสถาบันวิจัยนโยบายแห่งแมนฮัตตัน

สารคดีเริ่มต้นด้วยการเผยว่าซานฟรานมีประชากรคนจรจัดถึง 18,000 คน (สารคดีนี้เผยแพร่เดือนสิงหาคม 2020) ในจำนวนนี้ 4,000 คนทั้งไร้บ้าน ติดยา และมีปัญหาทางจิต ทางการเมืองทุ่มเงินถึง 1,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีเพื่อแก้ปัญหานี้ แต่ดูเหมือนปัญหายิ่งรุนแรงขึ้น

ชาวเมืองบางคนชี้ว่าปัญหาไม่ใช่เรื่องเงินเพราะมีเงินเหลือเฟือ แต่มาจากนโยบายของผู้บริหารเมืองที่ "เสรี" เกินไป

ซานฟรานฯ แก้ปัญหาคนติดยาด้วยการไม่เอาผิดทางกฎหมายกับคนติดยาและคนจรจัด การทำแบบนี้มีเป้าหมายเพื่อให้คนติดยา/จรจัดไม่ถูกบีบให้ถลำตัวทำผิดกฎหมายไปเรื่อยๆ และทำให้เรือนจำล้น แต่ปรากฏว่าการทำแบบนี้ ยิ่งกระตุ้นให้คนเสพยาได้ใจและคนไร้บ้านหลั่งไหลเข้ามาจากนอกเมือง

ย่านที่เคยน่าอยู่จึงกลายเป็นย่านเสื่อมโทรม มีคนไร้บ้านครอบครองถึง 50 ช่วงตึก ชาวเมืองจึงเริ่มคิดที่จะย้ายออกไป ไม่ใช่แค่ทนกับการยึดครองของคนไร้บ้านไม่ไหว แต่เพราะสิ่งอุจาดที่ตามมาจากคนติดยา เช่น การมีเพศสัมพันธ์กลางแจ้งไปจนถึงการถ่ายหนักถ่ายเบาตามทางเท้าซึ่งเป็นปัญหารุนแรงมากของเมือง

สารคดีนี้พยายามชี้ว่า การไม่เอาผิดคนติดยานั้นเป็นความคิดที่ผิด แม้จะมีเจตนาที่ดีเพื่อให้คนเหล่านี้แก้ไขตัวเอง แต่ถ้าไม่มีการบังคับใช้กฎหมายไปพร้อมๆ กันมันเท่ากับส่งเสริมให้คนทำผิดไปเรื่อยๆ เพราะคิดแบบโลกสวยเกินไป

ตัวอย่างเช่น ชีซา บูดิน อัยการเขตที่ขับเคลื่อนแนวเยียวยาและยาเสพติดเสรีพร้อมกับลดกำลังคนผู้รักษากฎหมาย เขาเคลื่อนไหวจนสำเร็จกระทั่งซานฟรานปล่อยตัวนักโทษออกมาครึ่งหนึ่ง และไม่เอาผิดการตั้งเต็นท์ของคนจรจัด การใช้ยา การค้าประเวณี และการถ่ายมูลตามท้องถนน

แต่นโยบายของบูดินทำให้นักโทษหลายร้อยคนถูกปล่อยออกมาเตร่ตามท้องถนนของซานฟรานโดยตรง ในบางเขตมีการตั้งเต็นท์อาศัยของคนจรจัดระเบิดขึ้นทันที 300% ตามด้วยควาามรุนแรงที่พุ่งพรวดในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังจากการปล่อยนักโทษ

เพราะซานฟรานซิสโกไม่ได้มีแค่ "เหยื่อ" ของยาเสพติดและคนไร้บ้านเพราะความจำเป็นในชีวิต แต่ยังมีแก๊งอาชญากรป้วนเปี้ยนอีกเพียบ ทั้งแก๊งเม็กซิกัน แก๊งจีน แก๊งแอฟริกัน-อเมริกัน

แต่แก๊งเหล่านี้อาจจะไม่ใช่ต้นตอของปัญหาจริงๆ เท่ากับนโยบายไม่เอาผิดผู้เสพยา/คนจรจัด แทนที่จะเยียวยาและหาที่อยู่ให้จริงๆ จัง มากกว่า

หมายเหตุ - ภาพประกอบข่าวไม่ใช่ที่ซานฟรานซิสโก แต่เป็นชายหญิงคู่หนึ่งข้างเต็นท์บนทางเท้าของฮอลลีวูด ลอสแองเจลิส แคลิฟอร์เนีย เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2021 ลอสแองเจลิสมีคนเร่ร่อนเพิ่มขึ้นตั้งแต่การระบาดของโคโรนาไวรัส โดยมีเต็นท์ ของใช้ส่วนตัว และถังขยะเกลื่อนกลาดตามมุมถนนทั่วเมืองและเขตต่างๆ (ภาพโดย Robyn Beck / AFP)