"หมูแพง" โค่นรัฐบาลได้ แล้วรัฐบาลจะทำอย่างไร?
เนื้อหมูเป็นเนื้อสัตว์ที่ขาดแทบไม่ได้ในหลายๆ ครัวเรือนและร้านอาหารของเมืองไทย แต่ตอนนี้กำลังเผชิญกับปัญหาราคาเนื้อหมูแพง รัฐบาลกำลังถูกเพ่งเล็งและต่อว่าเรื่องความล่าช้าในการแก้ปัญหา ประเทศจีนที่เคยมีประสบการณ์แบบเดียวกัน เขาแก้กันอย่างไร?
1. ประเทศที่เจอกับ "วิกฤตเนื้อหมูแพง" ก่อนหน้าไทยและเป็นวิกฤตที่สั่นสะเทือนรัฐบาลอย่างมากคือ จีน ในเดือนสิงหาคม 2018 จีนรายงานการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรครั้งแรกในมณฑลเหลียวหนิง ซึ่งเป็นรายงานรายแรกในเอเชียตะวันออก
2. มีรายงานว่าประชากรหมูจีนลดลงเกือบ 100 ล้านตัวเมื่อเทียบกับปี 2017 ทำให้ราคาหมูในยุโรปแตะระดับสูงสุดในรอบ 6 ปี และเมษายนปี 2019 มีรายงานว่าไวรัสได้แพร่กระจายไปยังทุกภูมิภาคของจีน รวมถึงบางส่วนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึง กัมพูชา ลาว ไทย และเวียดนาม
3. เนื้อหมูในจีนขาดแคลนอย่างรวดเร็วและทำให้ราคาหมูพุ่งพรวด จุดสูงสุดของราคาอยู่ในช่วงปลายปี 2019 และต้นปี 2020 เฉพาะปี 2019 การผลิตเนื้อหมูของจีนลดลงประมาณ 45% ในขณะที่ราคาเนื้อหมูเพิ่มขึ้น 101% ในเดือนตุลาคมเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ตามข้อมูลของ INTL FCStone กลุ่มบริการทางการเงินของสหรัฐและสถิติของรัฐบาลจีน ราคาเนื้อหมูอยู่ใกล้ 50 หยวนต่อกิโลกรัมหรือสูงกว่านั้น หรือคิดเป็นเงินไทยที่ 250 บาทต่อกิโลกรัม นั่นเป็นราคาที่เท่ากับหมูต่อกิโลกรัมในไทย ณ เวลาที่รายงานนี้ถูกเขียนขึ้น
4. สถานการณ์เนื้อหมูในจีนเลวร้ายลงเมื่อถึงราวกลางปี 2021 เมื่อราคาเนื้อหมูพุ่งขึ้นเกือบ 60% ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี ทำให้ในเดือนกรกฏาคม กระทรวงพาณิชย์ที่มีเนื้อหมูสำรอง 200,000 ตัน ประกาศจะปล่อยเนื้อหมูสำรองออกสู่ตลาดหากมีความจำเป็น
5. ปากท้องของประชาชนเป็นเรื่อง "ใหญ่ที่สุด" ในสายตารัฐบาลจีน เพราะหากประชาชนไม่อิ่มท้องขึ้นมาก็อาจจะเกิดความไม่เชื่อมั่นต่อรัฐบาล นำไปสู่ความกังขาและความไม่พอใจ ในที่สุดก็อาจจะล้มรัฐบาลจีน ในประวัติศาสตร์จีนมีบทเรียนสอนใจทำนองนี้หลายครั้ง และรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์เองก็มักนำเสนอ "ประวัติศาสตร์ของการลุกฮือ" เพื่อชี้ว่าศักดินายุคก่อนถูกโค่นล้ม เพราะกบฏชาวนาไม่พอใจการขูดรีดของผู้มีอำนาจและปัญหาข้าวยากหมากแพง
6. วิลเลียม ซี. แมคคาฮิลล์ จูเนียร์ (William C. McCahill Jr.) ผู้อาวุโสประจำสำนักงานวิจัยเอเชียแห่งชาติในซีแอตเทิล ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองจีนและอดีตนักการทูตสหรัฐในเอเชียกล่าว บอกว่า CS Monitor ว่า "หากรัฐบาลจีนไม่สามารถจัดหาเนื้อหมูในราคาที่สมเหตุสมผลได้ ก็จะทำให้เกิดความชอบธรรมอย่างมาก แนวคิดทั้งหมดเกี่ยวกับ … ความมั่นคงทางอาหารเป็นปัญหาใหญ่สำหรับรัฐบาลจีน”
7. รัฐบาลจีนไม่ได้แก้ปัญหาแค่การปล่อยเนื้อหมูสำรอง นั่นเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ (แต่มีผลช่วยในระยะสั้น) วิธีการคือการอัดฉีดธุรกิจและเกษตรกรให้หันมาเลี้ยงหมู โดยให้เงินอุดหนุนจำนวนหนึ่ง ผลก็คือมีฟาร์มหมูผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ในระยะเวลาไม่กี่เดือนหลังจากราคาพุ่งสูงสุดกลางปี 2021 เมื่อถึงเดือนกันยายนปีเดียวกัน ราคาหมูก็เริ่มตกลงมาเพราะมีอุปทานมากจนเริ่มจะล้น
8. อีกวิธีการหนึ่งคือการหันไปลงทุนฟาร์มหมูในต่างประเทศ วิธีการนี้ช่วยรักษาอุปทานหมูในประเทศไว้ได้หากเกิดการระบาดของโรค แหล่งเนื้่อหมูในต่างแดนจะช่วยรับประกันว่าจีนจะมีเนื้อหมูรับประทานไปได้ตลอดรอดฝั่ง ในช่วงที่ราคาหมูกำลังพีค จีนได้ทำข้อตกลงกับอาร์เจนตินาเพื่อสร้างอุตสาหกรรมหมูขนาดใหญ่ในอาร์เจนตินา
9. แต่วิธีการที่ "เหนือชั้น" อีกอย่างของจีนคือการเพาะพันธุ์หมูที่มีขนาดใหญ่ (ใหญ่จนสื่อบางแห่งประโคมว่ามีขนาดเท่ากับมีขั้วโลก) เพื่อที่จะผลิตหมูที่มีเนื้อมากพอจะป้อนความต้องการของตลาดได้ โดยหมูประเภทนี้มีน้ำหนักเกือบ 500 กิโลกกรัม ขายได้ตัวละกว่า 10,000 หยวนหรือราว 50,000 บาท
10. เมื่อถึงปลายปี 2021 ราคาหมูในจีนก็ตกลงแม้จะยังมีความผันผวนของราคาแบบขึ้นๆ ลงๆ อยู่บ้าง ในเดือนพฤศจิกายน 2021 Fitch คาดว่าอุปทานเนื้อหมูส่วนเกินน่าจะคลี่คลายในปี 2022 พร้อมกับการนำเข้าที่เป็นปกติและการแทรกแซงของรัฐบาลที่แข็งแกร่งขึ้น โดยเป้าหมายคือการรักษาจำนวนแม่สุกรทั่วประเทศไว้ที่ 41.3 ล้านตัวให้ต่ำกว่าไตรมาส 3 ของปี 2021 ซึ่งเนื้อหมูเริ่มล้นและราคาต่ำลงจนกระทับผู้ผลิต หมายความว่าปีนี้จีนจะคุมราคาเนื้อหมูให้สมดุลได้นั่นเอง
Photo by Yamil LAGE / AFP