posttoday

ไม่จบง่ายๆ WHO เล็งต่อเวลาภาวะฉุกเฉินโควิด-19

14 มกราคม 2565

อนามัยโลกเล็งต่อเวลาภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขโลกที่ดำเนินมาเกือบ 2 ปี

เว็บไซต์ Daily Sabah รายงานว่าองค์การอนามัยโลก (WHO) อยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะขยายเวลาภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศหรือไม่ หลังจากที่ประกาศใช้มาเกือบ 2 ปีแล้วเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นการแจ้งเตือนระดับสูงสุดที่องค์การอนามัยโลกสามารถกำหนดได้

ขณะที่เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกกล่าวว่าขณะนี้ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เฉลี่ยสัปดาห์ละประมาณ 50,000 ราย ซึ่งเป็นจำนวนที่มากเกินไป และยังมีอีกหลายคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มแรก

ท่ามกลางการถกเถียงว่าโควิด-19 จะนับว่าเป็นโรคประจำถิ่นได้หรือยัง โดยนายกรัฐมนตรีเปโดร ซานเชซ ของสเปนสนับสนุนให้เปลี่ยนนิยามของโควิด-19 จาก "การระบาดใหญ่" (pandemic) มาเป็น "โรคประจำถิ่น" (endemic) เนื่องจากพบว่ามีอัตราการเสียชีวิตที่ลดลง

ทว่า ผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งรวมถึงมาเรีย ฟาน เคอร์โฮฟ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสโคโรนาขององค์การอนามัยโลก และแคทเธอรีน สมอลวูด เจ้าหน้าที่อาวุโสขององค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคยุโรป มองว่าท้ายที่สุดแล้วโควิด-19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น แต่ยังไม่ใช่ตอนนี้

เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ไวรัสยังคงพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดความท้าทายใหม่ๆ อยู่เสมอ ซึ่งนิยามของโรคประจำถิ่นนั้นจำเป็นต้องมีการแพร่เชื้อที่เสถียรและคาดเดาได้ อย่างเช่น ไข้หวัดใหญ่

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าประกาศภาวะฉุกเฉินล่าช้าจนเกินไป หลังจากที่มีรายงานผู้ติดเชื้อรายแรกในจีนเมื่อปี 2019

โดยองค์การอนามัยโลกประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขทั่วโลกเมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2020 ซึ่งเชื้อได้แพร่กระจายไปราว 21 ประเทศแล้ว ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อนอกประเทศจีนนับ 100 ราย

ตั้งแต่นั้นมา มีรายงานการติดเชื้อมากกว่า 308 ล้านรายและผู้เสียชีวิตเกือบ 5.5 ล้านรายทั่วโลก

Photo by Indranil MUKHERJEE / AFP