เปิด 'Lab X' โรงงานผลิตยาพิษของสายลับปูติน
การใช้สารพิษอยู่คู่กับสหภาพโซเวียตและรัสเซียมายาวนานในฐานะวิธีปิดปากและกำจัดฝ่ายตรงข้ามที่ได้ผลที่สุด ตลอดศตวรรษที่ผ่านมา ฝ่ายตรงข้ามสหภาพโซเวียตและรัสเซียเสียชีวิตหรือล้มป่วยหนักจากสารพิษร้ายแรงไปแล้วหลายคน
จุดเริ่มต้นของการใช้สารพิษเกิดขึ้นในปี 1921 ซึ่งห้องทดลองวิจัยสารพิษของหน่วยปฏิบัติการลับของสหภาพโซเวียตถูกก่อตั้งขึ้นที่ชานกรุงมอสโกภายใต้ชื่อ “สำนักงานพิเศษ” หรือ สถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ 2 (NII-2) หรือแลบ 12 ภายใต้คำสั่งของ วลาดิมีร์ เลนิน อดีตนายกรัฐมนตรีสหภาพโซเวียต โดยมีจุดประสงค์เพื่อผสมสารพิษที่เป็นที่รู้จักอยู่แล้วให้เป็นสารพิษชนิดใหม่ที่ไม่สามารถตรวจสอบได้
โรงงานผลิตสารพิษนี้ถูกเก็บเป็นความลับขั้นสุดยอด แม้กระทั่งชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงยังเชื่อว่า “สถาบันทางวิทยาศาสตร์” แห่งนี้ เป็นสถานที่รักษาทหารที่บาดเจ็บจากสงครามโซเวียตในอัฟกานิสถาน
ทว่าหลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลาย รายอะเอียดเกี่ยวกับปฏิบัติการของห้องทดลองวิจัยสารพิษนี้ก็ถูกเปิดเผยสู่สาธารณะ
รายละเอียดที่ครอบคลุมมากที่สุดของสิ่งที่ถูกระบุในเอกสารอย่างเป็นทางการของสหภาพโซเวียตว่า “Lab X” มาจาก ปาเวล ซูดอปลาตอฟ (Pavel Sudoplatov) อดีตหัวหน้าสายลับของ โจเซฟ สตาลิน อดีตนายกรัฐมนตรีสหภาพโซเวียต โดยเขาเขียนไว้ในหนังสือบันทึกความทรงจำชื่อ Special Tasks ในปี 1994
จากหนังสือของซูดอปลาตอฟ กริกอรี ไมรานอฟสกี ผู้อำนวยการ Lab X จะให้สารพิษบุคคลเป้าหมายโดยใช้การตรวจเช็คสุขภาพบังหน้า หนึ่งในเหยื่อของการสังหารคือ ราอูล วอลเลนเบิร์ก นักการทูตสวีเดน ที่เสียชีวิตอย่างเป็นปริศนาขณะถูกโซเวียตควบคุมตัว ซึ่งภายหลังซูดอปลาตอฟต้องตามเก็บกวาดไม่ให้มีคนรู้
The Guardian รายงานว่า หน่วยสืบราชการลับ KGB ยังคงปิดปากศัตรูด้วยสารพิษในช่วงปลายยุคสหภาพโซเวียต โอเล็ก กาลูกิน นายพลของ KGB ยอมรับว่า Lab X เป็นผู้จัดหาสารพิษที่ใช้ฆ่า จอร์จี มาร์คอฟ ฝ่ายต่อต้านชาวบัลแกเรีย ที่เสียชีวิตในกรุงลอนดอนเมื่อปี 1978 จากการถูกปลายร่มที่เคลือบด้วยสารไรซินจิ้มที่สะโพก ซึ่งต้องสงสัยว่าเป็นฝีมือของ KGB
พยานรู้เห็นอีกคนหนึ่งคือ ยูริ ชเวตส์ (Yuri Shvets) KGB ที่ภายหลังไปตั้งรกรากที่สหรัฐเล่าเรื่องห้องแลบลับในช่วงทศวรรษ 1980 ว่า เขาไปที่นั่นเพื่อรับยาที่ทำให้คายความลับที่จะนำไปใช้กับแหล่งข่าวชาวอเมริกันรายหนึ่ง และบอกอีกว่าห้องแลบนั้นผลิตสารต่างๆ มากมาย รวมทั้งยาพิษ ยาเสพติด และยาที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท
ชเวตส์ออกมาจากห้องวิจัยสารพิษพร้อมกับหลอดยา SP-117 ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์เข้มข้นสำหรับหยดในแก้วแชมเปญ และยังตั้งข้อสังเกตว่า หากยาดังกล่าวซึ่งทำให้เกิดอาการเมาอย่างเฉียบพลัน คือยาลำดับที่ 117 อาวุธสารพิษของ KGB คงมีอีกอย่างน้อย 116 ตัว
หนังสือเรื่อง The Lost Spy: An American in Stalin's Secret Service (สายลับที่หายไป: ชาวอเมริกันในหน่วยสืบราชการลับของสตาลิน) ระบุว่า ไมรานอฟสกีและเพื่อนร่วมงานทดสอบสารพิษอันตราย รวมทั้งก๊าซมัสตาร์ด ไรซิน ดิจิท็อกซิน คิวราเร ไซยาไนด์ กับนักโทษจากกูลัก เพื่อหาสารพิษที่ไร้กลิ่น ไร้รส และไม่สามารถตรวจหาได้จากการชันสูตรศพ
อย่างไรก็ดี แม้ว่ารัสเซียจะลงนามในอนุสัญญาห้ามอาวุธเคมีซึ่งมีผลบังคับใช้ในปี 1997 และในปี 2017 ได้ทำลายอาวุธเคมีทั้งหมดที่เหลืออยู่โดยมีปูตินเฝ้ามองอยู่ด้วย แต่เครมลินไม่เคยหยุดพัฒนาอาวุธเคมี
Bellingcat ทีมสอบสวนที่เชี่ยวชาญเรื่องการแกะรอยข้อมูลพบว่า นักวิทยาศาสตร์การทหารที่เคยทำงานให้กองทัพต้องแยกย้ายกันไปทำงานในองค์กรเอกชนและทหารหลายที่หลังจากปิดห้องวิจัย แต่เมื่อไปอยู่ที่ใหม่พวกเขายังคงทำงานเกี่ยวกับโครงการอาวุธเคมีต่อ และพบว่านักวิทยาศาสตร์ตัวท็อปยังติดต่อกับหน่วยข่าวกรองของกองทัพรัสเซียที่รู้จักในชื่อ GRU
นักข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนหลายคนพบว่ารัสเซียแค่เปลี่ยนที่อยู่ห้องแลบพวกนี้เท่านั้น ส่วนหน่วยข่าวกรองต่างๆ คิดว่าโรงงานผลิตยาพิษยังทำหน้าที่ของมันไม่ต่างจากในยุค KGB
กรณีฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลที่ถูกลอบวางยาพิษดังๆ ได้แก่ อเล็กซานเดอร์ ลิตวิเนนโก อดีตเจ้าหน้าที่ KGB และ FSB ที่เสียชีวิตหลังจากถูกเจ้าหน้าที่ของ FSB ลอบวางยาพิษด้วยสารกัมมันตรังสีโพโลเนียม-210 ในถ้วยชาในกรุงลอนดอนเมื่อปี 2006 โดยก่อนเสียชีวิต ลิตวิเนนโกกำลังตามรอยการเสียชีวิตของ อันนา โปลิตคอฟสกายา นักข่าวชาวรัสเซียที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลรัสเซีย
ลิตวิเนนโกยืนยันว่ารัสเซียยังคงเปิดห้องปฏิบัติการผลิตยาพิษในยุคโซเวียตเพื่อการวิจัยและผลิตอาวุธพิษสำหรับจุดประสงค์เดียวกับในอดีตอยู่
การไต่สวนสาธารณะของสหราชอาณาจักรเผยเมื่อปี 2015 ว่า โพโลเนียมที่ใช้สังหารลิตวิเนนโกถูกผลิตในห้องวิจัยอีกแห่งหนึ่งของรัฐในเมืองซารอฟ โดยเชื่อว่าห้องวิจัยดังกล่าวเปลี่ยนไอโซโทปให้อยู่ในรูปแบบที่สามารถนำไปที่กรุงลอนดอนอย่างปลอดภัย โดยโพโลเนียมที่ใส่ในชาของลิตวิเนนโกอาจมีลักษณะเป็นยาเม็ดกลมขนาดจิ๋วที่เคลือบด้วยเจลาติน
อีกเคสหนึ่งที่เป็นข่าวดังไปทั่วโลกคือ การลอบสังหาร อเล็กซี นาวัลนี นักเคลื่อนไหวทางการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลคู่แค้นคนสำคัญของปูติน เมื่อเดือน ส.ค. 2020 ระหว่างที่เขาเดินทางจากเมืองทอมสก์ทางตะวันออกของรัสเซีย กลับมาที่กรุงมอสโก
นาวัลนีหมดสติบนเครื่องบิน ช็อก และร้องด้วยความเจ็บปวดจนนักบินต้องลงจอดฉุกเฉินทันทีที่เมืองออมสก์ที่อยู่กลางทางเพื่อนำตัวส่งโรงพยาบาลเป็นการด่วนที่สุด เขามีอาการโคม่าประกอบกับไม่ไว้ใจรัสเซีย ภรรยาจึงตัดสินใจส่งตัวไปรักษาที่กรุงเบอร์ลินของเยอรมันในวันที่ 22 ส.ค.
แพทย์ในรัสเซียที่รักษาตอนแรกบอกว่าไม่มีหลักฐานว่ามีพิษในร่างกายของนาวัลนี แต่ภรรยาไม่เชื่อจึงส่งตัวอย่างเลือดให้แล็บอิสระในเยอรมนี ฝรั่งเศส และสวีเดน
ผลแล็บจากทั้ง 3 ประเทศออกมาตรงกันว่า ร่างกายของนาวัลนีมีสารโนวิโช้ค (Novichok) ซึ่งมีแต่หน่วยสืบราชการลับ (FSB) หรือกระทรวงกลาโหมของรัสเซียเท่านั้นที่ครอบครองอยู่ แต่จับมือใครดมไม่ได้
ต่อมาสื่อใหญ่ระดับโลกอย่าง CNN, Der Spiegel และ Bellingcat รวมตัวกันเฉพาะกิจเพื่อตั้งหน่วยสืบสวนลับตามค้นหาความจริงว่าเกิดอะไรขึ้นกับนาวัลนี่กันแน่
การตามแกะรอยกว่า 3 ปีพบว่า นาวัลนีถูกเจ้าหน้าที่ FSB ตามสะกดรอยกว่า 30 ครั้งตั้งแต่ปี 2017 หลังจากเจ้าตัวประกาศว่าจะลงชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีรัสเซียแข่งกับปูติน โดยมีหน่วยสืบราชการลับ (FSB) 10 คนเกี่ยวข้องกับการลงมือสังหาร และสามารถสืบจนรู้ชื่อ และหาเบอร์โทรศัพท์ได้ครบทุกคนแล้ว
จากการปลอมตัวเป็นเจ้าหน้าที่ระดับหัวหน้าของ FSB เพื่อล้วงข้อมูลจากหนึ่งในทีมสังหารของนาวัลนีพบว่า ทีมใช้วิธีลอบวางยาพิษที่กางเกงใน โดยหน่วยวางยาพิษแอบเข้าไปที่ห้องในโรงแรมแล้วทาสารโนวิโช้คในปริมาณที่มากพอ
สารพิษจะค่อยๆ ซึมเข้าร่างกาย และจะไปเกิดอาการบนเครื่องบินพอดีตามที่คำนวณไว้ ทว่าเกิดความผิดพลาด เพราะนักบินลงจอดฉุกเฉินและนำตัวนาวัลนีส่งโรงพยาบาลเร็วเกินไป ทำให้เขารอดชีวิต
ล่าสุดยังมีข่าวว่า รัสเซียส่งทีมสังหารจากสาธารณรัฐเชเชนภายใต้การควบคุมของประธานาธิบดี รามซาน คาดีรอฟ เข้ายูเครนเพื่อปลิดชีวิตประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี
แต่จากปากคำของ โอเล็กซี ดานิลอฟ เลขาธิการสภาความมั่นคงและการป้องกันแห่งชาติยูเครน ยูเครนสามารถสกัดแผนดังกล่าวได้ก่อน หลังจากได้รับคำเตือนจากเจ้าหน้าที่ FSB ของรัสเซียที่ไม่ต้องการสงคราม