Update นครกว่างโจว
โดย...รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
โดย...รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ระหว่างวันที่ 29-31 ส.ค. 2561 ผมเดินทางไปกับผู้แทนสำนักงานนโยบาย และยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เพื่อไปเก็บข้อมูลโอกาสการค้าที่นครกว่างโจว (Guangzhou) เป็นเมืองหลวงของมณฑลกวางตุ้ง (Guangdong) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้ของประเทศจีน ผมมากว่างโจวหลายครั้ง เลยขออัพเดทหน่อยครับ
มณฑลกวางตุ้งประกอบด้วยเมืองที่สำคัญๆ 9 เมือง (Guangzhou, Shenzhen, Dongguan, Zhuhai, Zhongshan, Zhanjian, Qingyuan, Shantou และ Shaoguan) มณฑลกวางตุ้งติดกับมณฑลกวาวสีจ้วง มณฑลกวางตุ้งเป็นมณฑลที่มีขนาดทางเศรษฐกิจ (GDP) ใหญ่ที่สุดของประเทศจีน ปี 2014 มี GDP เท่ากับ 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 2017 เพิ่มเป็น 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งใหญ่กว่าประเทศไทยเกือบ 4 เท่าตัว และมีขนาดใหญ่คิดเป็นร้อยละ 10.8 ของ GDP จีน ปี 2014 มีประชากรรวม 105 ล้านคน ปี 2016 เพิ่มเป็น 110 ล้านคน
สำหรับนครกว่างโจว มีประชากร 14 ล้านคน (ปี 2016) ถือได้ว่าเป็นเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจ คมนาคม และประตูการค้าการค้าที่สำคัญทางตอนใต้ของประเทศจีน ตั้งอยู่บนปากแม่น้ำไข่มุก (Pearl River) หรือแม่น้ำจูเจียง ห่างจากฮ่องกง 120 กม. และห่างจากมาเก๊า 140 กม. ปี 2014 นครกว่างโจวมีขนาดเศรษฐกิจ 2 แสนล้านดอลลาร์ เพิ่มเป็น 3 แสนล้านดอลลาร์ ในปี 2017 เศรษฐกิจส่วนใหญ่มาจากภาคบริการร้อยละ 64 ตามด้วยภาคอุตสาหกรรมร้อยละ 35
ในขณะที่เมืองเสิ่นเจิ้น (Shenzhen) มีขนาดเศรษฐกิจ 2 แสนล้านดอลลาร์ ประชากร 11 ล้านคน (2014) เพิ่มเป็น 338 พันล้านดอลลาร์ แซงหน้าฮ่องกง สิงคโปร์ และกว่างโจว (ปี 2017) และกลายเป็นเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับที่สามรองจากนครเซี่ยงไฮ้และกรุงปักกิ่ง
เหตุผลที่ทำให้นครกว่างโจวเป็นศูนย์กลางการขนส่งและคมนาคมของจีนตอนใต้เพราะมีสนามบินนานาชาติ "ไบหยุ่น (Baiyun)" ที่เป็นหนึ่งในสนามบินที่ใหญ่ของโลก และมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสามของจีนมี ผู้โดยสารใช้บริการปีละ 50 ล้านคน เป็นหนึ่งในสี่ศูนย์กลางทางรถไฟของจีน มี "High Speed Railway" ที่สามารถเชื่อมโยงปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ คุนหมิง ฉงชิง มาเก๊า และฮ่องกง และยังมี "Intercity Railway Network" ที่เชื่อมโยงเมืองต่างๆ ภายในมณฑลกวางตุ้ง และมีทางรถไฟเชื่อม "GuangzhouShenzhen-Hong Kong"
นครกว่างโจวยังมีท่าเรือกว่างโจว ท่าเรือเสิ่นเจิ้น (Shenzhen) ซึ่ง เป็นท่าเรือที่ติดหนึ่งในสิบของท่าเรือของจีน ปี 2013 จำนวนตู้คอนเทนเนอร์อยู่ที่ 15 ล้าน TEU เพิ่มเป็น 18 ล้าน TEU (2016) ท่าเรือเสิ่นเจิ้น (Shenzhen) 24 ล้าน TEU และท่าเรือหนานชา (Nancha) 20 ล้าน TEU
ในด้านการเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเศรษฐกิจนั้นอยู่นครกว่างโจวตั้งอยู่ในเขตการพัฒนาเศรษฐกิจ "Greater Pearl River Delta (GPRD)" หรือที่เรียกว่าเขตเศรษฐกิจ "9+2 Cities" คือ 9 เมืองของกวางตุ้ง บวก ฮ่องกง และมาเก๊า นอกจากนี้นครกว่างโจวมีเขตอุตสาหกรรมที่สำคัญอยู่ 6 เขตอุตสาหกรรม และเป็นศูนย์กลางทางการค้า เช่น ศูนย์กลางการขายส่งเครื่องหนัง รองเท้าและกระเป๋า ศูนย์กลางขายส่งเสื้อผ้า ศูนย์กลางขายส่งเครื่องครัว และศูนย์กลางขายส่งคอมพิวเตอร์
เราจะเห็นได้ว่านครกว่างโจวมีศักยภาพทั้งการค้าและการลงทุน อย่างมากของประเทศจีน เราจะได้ประโยชน์อะไรบ้างจากศักยภาพ ของกว่างโจว ผมคิดว่าน่าจะเป็นการส่งออกสินค้าไปขายทั้งผู้บริโภค ในจีน และเป็นวัตถุดิบให้กับโรงงานการผลิตอุตสาหกรรมของ นครกว่างโจว ผมได้มีโอกาสเก็บข้อมูลของการค้าข้ามแดนแบบ อี-คอมเมิร์ซ "Cross Border E-commerce" จากเจ้าหน้าที่ของ "Guangdong Pilot Free Trade Zone" ที่เขตหนานซา (Nansha) ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศจีน เจ้าหน้าที่บอกผมว่าโดยร้อยละ 95 เป็นการซื้อขายกันแบบ B2B2C และที่เหลืออีก 5% เป็นแบบ B2C และแบบ O2O (Online to Online หรือ Online to Offline) โดยมีการเก็บภาษีเฉลี่ย 12.7% ถูกกว่าการนำเข้าทั่วไปที่อยู่ที่ 22% สินค้าส่วนใหญ่ที่ สั่งซื้อคือกลุ่มสินค้าแม่และเด็ก