posttoday

หนองคาย-สปป.ลาว สินค้าสร้างสรรค์ข้ามชายแดน

24 กุมภาพันธ์ 2565

โดย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)www.itd.or.th

ประเทศไทยมีการค้าชายแดนกับสปป.ลาวมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าการค้าชายแดนเฉลี่ยมากกว่า1.8 แสนล้านบาทต่อปีระหว่างปี 2562-2564 ผ่าน 4 ด่านสำคัญ ได้แก่ ด่านศุลกากรหนองคายด่านศุลกากรมุกดาหาร ด่านศุลกากรนครพนม และด่านศุลกากรเชียงของ

ทั้งนี้ด่านศุลกากรหนองคายมีมูลค่าการค้ากับสปป.ลาวสูงสุดเฉลี่ยประมาณ 0.6 แสนล้านบาทต่อปีในระหว่างปี2562-2564ในปัจจุบัน ประเทศไทยค้าขายกับสปป.ลาวในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์และอุปโภคบริโภคเป็นหลัก

โดยไทยส่งออกสินค้า เช่น ทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูป น้ำมันดีเซล และน้ำมันสำเร็จรูป และนำเข้าสินค้า เช่น เชื้อเพลิงผักและของปรุงแต่งจากผัก และเครื่องรับ-ส่งสัญญานอุปกรณ์

นอกจากนี้ชาวลาวยังนิยมซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจากห้างในจังหวัดหนองคาย เช่น เมกาโฮม แม็คโคร โกลบอลเฮาส์และโลตัสอย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากสินค้าทั่วไปสินค้าอีกประเภทหนึ่งที่ควรได้รับการส่งเสริมให้มีการค้าข้ามแดนคือ สินค้าสร้างสรรค์ซึ่งหมายถึงสินค้าที่มีการประยุกต์ใช้ความรู้ นวัตกรรม หรือวัฒนธรรมท้องถิ่นเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า

ตัวอย่างหนึ่งของสินค้าเชิงสร้างสรรค์คือ ผลิตภัณฑ์ OTOPซึ่งได้รับการสร้างสรรค์โดยการสอดแทรกวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ในประเทศไทยจังหวัดหนองคายมีจุดเด่นด้านวัฒนธรรมที่ผสมผสานกันบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงทำให้มีโอกาสอย่างมากในการต่อยอดเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมดังกล่าวลงในสินค้าเชิงสร้างสรรค์

จังหวัดหนองคาย ยังมีข้อได้เปรียบด้านที่ตั้งที่ติดกับนครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาวซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถออกแบบรูปแบบการค้าได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเจาะกลุ่มลูกค้าชาวลาว หรือการดำเนินห่วงโซ่คุณค่าข้ามแดนกับสปป.ลาวผลการศึกษาวิจัยของสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน)

จากการทำแบบสอบถามในปี 2563 พบว่า สินค้าเชิงสร้างสรรค์อย่างผลิตภัณฑ์ OTOP ในจังหวัดหนองคาย มียอดขายจากกลุ่มลูกค้าชาวลาวเพียง 4% จากยอดขายทั้งหมด ขณะที่ 30%ของยอดขายทั้งหมดมาจากลูกค้าในจังหวัดหนองคายเอง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการ 40%ของทั้งหมดประเมินว่าตนเองมีช่องทางการขายสินค้าไปยังตลาดสปป.ลาวค่อนข้างน้อยซึ่งสื่อให้เห็นว่าผู้ประกอบการจะต้องรู้จักใช้ช่องทางการสื่อสารออนไลน์เพื่อการค้ามากขึ้น

นอกจากนี้ผลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าเชิงสร้างสรรค์ในจังหวัดหนองคายพบว่ามีผู้ประกอบการบางรายที่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าชาวลาวได้และบางรายมีการดำเนินห่วงโซ่คุณค่าข้ามแดนระหว่างประเทศไทยและสปป.ลาวเรือนชมดาว เป็นธุรกิจขายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเมล็ดถั่วดาวอินคา เช่น ครีม เซรั่ม และน้ำมันสุขภาพโดยประยุกต์ใช้นวัตกรรม เรือนชมดาวประสบความสำเร็จในการเข้าถึงลูกค้าจากต่างประเทศ

รวมทั้งลูกค้าจากสปป.ลาว เนื่องจากการใช้ช่องทางออนไลน์ในการติดต่อกับลูกค้าโดยตรงลูกค้าของเรือนชมดาวมีทั้งลูกค้าที่นำสินค้าไปขายต่อและลูกค้าที่เป็นผู้บริโภคเรือนชมดาวมีคู่ค้าทางธุรกิจในสปป.ลาวจำนวน 1-2 ราย

และในอนาคตมีแผนจะหาคู่ค้าทางธุรกิจจากสปป.ลาวเพิ่มถ้ามีโอกาสโฮงผ้าทอ เฮือนผ้าไท เป็นธุรกิจผลิตผ้าทอมีการออกแบบลายผ้าที่นำเสนอวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสานและใช้ทรัพยากรท้องถิ่น โฮงผ้าทอเฮือนผ้าไทมีการดำเนินห่วงโซ่คุณค่าข้ามไทย-สปป.ลาว โดยการจ้างช่างทอผ้าชาวลาวทอผ้าจากเส้นไหมที่สปป.ลาวซึ่งมีราคาที่ดีและคุณสมบัติเฉพาะ และส่งผ้าทอแล้วมายังประเทศไทย

ทั้งนี้กฎหมายในปัจจุบันไม่อนุญาตให้ไทยนำเข้าเส้นไหม ผู้ประกอบการจึงได้เลือกผลิตสินค้าบางขั้นตอนที่สปป.ลาว นอกจากนี้ โฮงผ้าทอ เฮือนผ้าไท ยังมีฐานลูกค้าประจำเป็นชาวลาวเนื่องจากมีสินค้าบางรายการที่ออกแบบโดยประยุกต์ลายผ้าของสปป.ลาวเพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าสปป.ลาวโดยเฉพาะในอนาคต

หากต้องการส่งเสริมให้สินค้าเชิงสร้างสรรค์ในจังหวัดหนองคายเข้าถึงตลาดสปป.ลาวได้มากขึ้นสินค้าเชิงสร้างสรรค์ในจังหวัดหนองคายจำเป็นจะต้องมีเอกลักษณ์สามารถแสดงให้เห็นถึงจุดเด่นของวัฒนธรรมท้องถิ่นได้ มีคุณภาพ และมีการสื่อสารถึงตลาดปลายทาง

ดังนั้น หน่วยงานรัฐสามารถส่งเสริมสินค้าดังกล่าวได้โดยการสร้างเครือข่ายองค์กรให้กับผู้ประกอบการเพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งที่มาของความคิดสร้างสรรค์ได้หลากหลายนำไปสู่ไอเดียในการสร้างสรรค์สินค้าแบบใหม่ และเพื่อให้ผู้ประกอบการได้จับคู่กับธุรกิจอื่นๆที่จะมีบทบาทในแต่ละขั้นตอนการผลิตและจำหน่ายสินค้า

นอกจากนี้หน่วยงานรัฐควรจัดการฝึกอบรมการใช้เครื่องมือการตลาดออนไลน์ต่าง ๆ ให้แก่ผู้ประกอบการเพื่อให้ผู้ประกอบการขยายฐานลูกค้าได้โดยง่าย โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าชาวต่างประเทศ รวมทั้งชาวลาว