ยุติเรื่อง-ไม่เพิกถอนสิทธิ์ ที่ดินเขากระโดง บังเอิญ! ตรงคำค้าน ทนายชิดชอบ
หนังสือกรมที่ดิน ที่ มท 0516.2(2)/22162 ลงนามโดย “พรพจน์ เพ็ญพาส” อธิบดีกรมที่ดิน เมื่อวันที่ 21 ต.ค.2567 ที่แจ้งไปยัง รฟท.ว่า “คณะกรรมการสอบสวนฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ เห็นสมควรไม่เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินรถไฟฯ บริเวณแยกเขากระโดง เนื่องจาก รฟท. ไม่มีหลักฐานเป็นที่ข้อยุติว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นของ รฟท.จึงเห็นควรยุติเรื่อง”
มติดังกล่าวทำให้คนไทยตาแจ้งกันทั้งประเทศว่า “นิติธรรม” ถูก “อำพราง” ด้วยอำนาจ บารมี และความกลัว
ทั้งๆที่ ในช่วงเดือนกันยายน 2566 สำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรมย์นิเวศ ได้มีหนังสืออย่างน้อย 2 ฉบับ แจ้งไปยังประชาชนใน ต.อิสาณ เรื่อง การเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน ไปยังบุคคลที่ครอบครองโฉนดที่ดิน ที่ออกทับที่ดินของ รฟท. บริเวณแยกเข้ากระโดงแล้ว และเปิดโอกาสให้บุคคลที่ครอบครองเอกสารสิทธิ์ที่จะถูกเพิกถอน ทำหนังสือคัดค้านมายังประธานคณะกรรมการสอบสวนได้ภายใน 30 วัน
ไม่น่าเชื่อ ใช่มั่ย!!!
นักสืบเชอร์ล็อค ขอคัดลอกข้อความบางตอนของหนังสือที่ สนง.ที่ดินบุรีรมย์นิเวศน์ ส่งไปถึงประชาชนผู้ครอบครองเอกสารสิทธิทับที่ดินการรถไฟฯบริเวณเขากระโดง ซึ่งบัดนี้เขาอัดอั้นตันใจในความอยุติธรรมเป็นอย่างยิ่ง
หนังสือดังกล่าวระบุว่า “ด้วยปรากฏว่า โฉนดที่ดินเลขที่ 54084 ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งออกสืบเนื่องจากหลักฐานแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 193 หมู่ที่ 1 ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ เป็นโฉนดที่ดินที่ออกไปโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากออกในเขตที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตสร้างทางรถไฟหลวงต่อจากนครราชสีมา-อุบลราชธานี ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน พระพุทธศักราช 2462”
ทว่า พอเป็นการครอบครองสิทธิ์ของผู้มีอำนาจ กรมที่ดินที่เป็นหน่วยงานรัฐกลับง่อยเปลี้ยเสียขา ไร้ราคาซึ่งการดำเนินการอย่างเป็นธรรม เท่าเทียม
เพราะ “ที่ดินของการรถไฟฯที่มีการออกเอกสารสิทธิ์เป็น “น.ส.3-น.ส.3ก.-โฉนด” ครอบครองโดยกลุ่มนักการเมืองและเครือญาติในตระกูล “ชิดชอบ” จำนวน 20 แปลง เนื้อที่รวม 288 ไร่ 2 งาน 4.7 ตารางวา ไม่โดนเพิกถอนเอกสารสิทธิ แม้แต่แปลงเดียว!!!
ทั้งๆที่ คำพิพากษาของศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ภาค 3 และคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง ระบุชัดว่าเป็นการออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินการรถไฟฯ “กรมที่ดิน-อธิบดีกรมที่ดิน” มีหน้าที่ดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทุกแปลงที่บุกรุกที่ดินการรถไฟฯบริเวณเขากระโดง จ.บุรีรัมย์
อะไรหรือที่ดลใจให้ คณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน 2 ชุด จึงตัดสินใจยุติเรื่อง และไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์…
คณะกรรมการสอบสวนชุดแรก ตั้งขึ้นตามคำสั่งเลขที่ 1195/2566 ลงวันที่ 12 พ.ค.2566 เพื่อพิจารณาหนังสือแสดงสิทธิที่ออกทับที่ดินการรถไฟฯ บริเวณแยกเขากระโดง ต.เสม็ด อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ จำนวน 290 ฉบับ จำนวน 4 คน ลงนามโดย “วสันต์ สุภาภา” รองอธิบดีซึ่งได้รับมอบหมายจากอธิบดีกรมที่ดิน
คนแรก ผู้ตรวจราชการกรม เขตตรวจราชการที่ 13 (ชัยภูมิ-นครราชสีมา- บุรีรัมย์-สุรินทร์) และสำนักงานที่ดินบางขุนเทียน-มีนบุรี (เทียนทอง อัศวะมหาศักดา-ทวีศักดิ์ ทรงอยู่-วัชระ มาลัยมาตร) เป็นประธานกรรมการ
คนที่สอง นายอำเภอเมืองบุรีรัมย์ (ปี 2566 นายอำเภอเกรียงศักดิ์ สมจิตต์, ปี 2567 นายอำเภอริว-กันวลินทร์ เมืองแก้ว, ตุลาคม 2567 นายอำเภอคำเคลื่อน พณะชัย)
คนที่สาม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเสม็ด (นายก อบต.ธนกร นวลพริ้ง 2564-ปัจจุบัน)
คนที่สี่ หัวหน้านายทะเบียน สำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ (นายนนท์ธวัช นาคนวล)
คณะกรรมการสอบสวนชุดที่สอง...ตามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามความในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ชุดที่สอง เลขที่ 1196/2566 ลงวันที่ 12 พ.ค.2566 เพื่อพิจารณาหนังสือแสดงสิทธิที่ออกทับที่ดินการรถไฟฯ บริเวณแยกเขากระโดง ต.อิสาณ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ จำนวน 4 คน ลงนามโดย “วสันต์ สุภาภา” รองอธิบดีคนเดิม
คนแรก...หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมที่ดิน (18 มกราคม 2567 ว่าที่ร้อยตรี สมศักดิ์ สันประเสริฐ) เป็นประธานกรรมการ
คนที่สอง นายอำเภอเมืองบุรีรัมย์ (ปี 2566 นายอำเภอเกรียงศักดิ์ สมจิตต์, ปี 2567 นายอำเภอริว-กันวลินทร์ เมืองแก้ว, ตุลาคม 2567 นายอำเภอคำเคลื่อน พณะชัย)
คนที่สาม นายกเทศมนตรีตำบลอิสาณ (นายกสุพจน์ สวัสดิ์พุทรา หัวหน้าทีม "กลุ่มเพื่อนเนวิน")
คนที่สี่ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการที่ดิน สำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ (นางวรพิชญา นาควัชระ) เป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการสอบสวน
คณะกรรมการชุดที่สอง ทำหน้าที่สอบสวนที่ดินที่มีการออกโฉนด นส.3ก.ทับที่ดินรถไฟใน ต.อิสาณ ที่เป็นของกลุ่มตระกูลชิดชอบ ราว 8-9 แปลง และที่ดินที่มีการออกเอกสารสิทธิ์มีปัญหาเป็นโฉนด 61 ฉบับ นส.3ก. 28 ฉบับ หนังสือแสดงสิทธิ์ 89 ฉบับ ที่มีการแบ่งแยกเป็นหนังสือแสดงสิทธิ์ในที่ดิน 616 ฉบับ และที่ดินที่อาจมีการออกเอกสารสิทธิคลาดเคลื่อนอีกกลุ่มหนึ่ง รวมทั้งสิ้น 705 ฉบับ
แทบไม่น่าเชื่อว่า คณะกรรมการสอบสวนทั้ง 2 ชุด มีมติเป็นเอกฉันท์ ยุติเรื่อง และเห็นสมควรไม่เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินรถไฟฯ บริเวณแยกเขากระโดง เหมือนกันเป๊ะ
อะไรหรือ ที่ทำให้คณะกรรมการสอบสวนทั้ง 2 คณะ และอธิบดีกรมที่ดิน จึงให้เหตุผลในการตัดสินออกคำสั่งทางปกครองว่า “เมื่อพิจารณาผลการสอบสวนประกอบกับความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนฯ ซึ่งเห็นว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยไม่สามารถนำพยานหลักฐานมาแสดงให้ได้เป็นที่ยุติว่า เป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย รวมถึงตำแหน่งที่ตั้งขอบเขตที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย...
ผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนฯ ปรากฏว่า “การออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในท้องที่ ต.เสม็ด และ ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ได้ดำเนินการไปตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายกำหนด...
ดังนั้น จึงยังไม่มีพยานหลักฐานปรากฏชัดแจ้งเพียงพอให้รับฟังได้ว่า ได้มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไป โดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่อธิบดีกรมที่ดิน หรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมที่ดินมอบหมายจะใช้พิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไข ตามนัยข้อ 12 แห่งกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการสอบสวน และการพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมหรือการจดแจ้งเอกสารรายการจดทะเบียนโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย พ.ศ.2553
จึงเห็นควรยุติเรื่อง ในกรณีนี้!!!
เชอร์ล็อค ใช้วิชานักสืบแกะรอยที่ดินเขากระโดง กับข้อต่อสู้ คำคัดค้านในการถือครองสิทธิ์ในที่ดินของนักการเมืองชื่อดัง พบว่า มีข้อต่อสู้ของทีมทนายความผู้รับมอบอำนาจจากตระกูลชิดชอบและผู้เกี่ยวข้อง ที่ร้องไป ล้วนแล้วแต่มีนัยทางตรงต่อ คำวินิจฉัย “ยุติเรื่อง ไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ของกรมที่ดินแทบทั้งสิ้น...
ดอกแรก ทนายชนินทร์ แก่นหิรัญ ทนายความผู้รับมอบอำนาจของตระกูลชิดชอบและผู้เกี่ยวข้อง ได้ทำหนังสือส่งถึง “ประธานคณะกรรมการสอบสวน” ตามคำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 1195-1196/2566 เพื่อคัดค้านการเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน มี
ดอกที่สอง ทีมทนายความ ได้ระบุว่า การที่คณะกรรมการสอบสวนฯระบุว่า โฉนดที่ดินบริเวณแยกเขากระโดง ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ทุกแปลง ที่ออกให้สืบเนื่องจากหลักฐานแบบการแจ้งครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เป็นเอกสารสิทธิ์ที่ดินที่ออกไปโดยคลาดเคลื่อน หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งต้องเพิกถอนให้ถูกต้องตามนัยมาตรา 61 นั้น....
ในฐานะผู้ถือกรรมสิทธิ์ ในที่ดินบริเวณ ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ โดยสุจริตและโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่อาจเห็นพ้องด้วยกับคำสั่งของคณะกรรมการสอบสวนและความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 7) เรื่องเสร็จ ที่ 106/2541 ได้
เนื่องจากเป็นคำวินิจฉัยที่คลาดเคลื่อนต่อเหตุผล ข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายหลายประการ และขอคัดค้านการเพิกถอนโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าว
ทีมทนายแห่งบุรีรมย์นิเวศน์ ได้ทำหนังสือแจ้งเหตุคัดค้าน มายังประธานคณะกรรมการสอบสวนทั้งหมด 10 ข้อ
นักสืบเชอร์ล็อค ขอบอกว่าคำคัดค้าน แต่ละข้อ ล้วนอิงแอบกับข้อมูลของกรมที่ดิน ชนิดที่คนนอกและชาวบ้านทั่วไป “ยากที่จะรู้”!
อาทิเช่น....ในปี พ.ศ.2451 ในการก่อสร้างทางรถไฟหลวงสายนครราชสีมา นายแอร์ ไวเลอร์ เจ้ากรมรถไฟ ได้ขอให้มีการประกาศ พ.ร.ฎ.กำหนดเขตทางรถไฟหลวงสายนครราชสีมาข้างซ้าย 20 วา และข้างขวา 30 วา แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสเห็นว่า ด้านข้างขวาที่กำหนดเขตไว้ 30 วา มากเกินความต้องการ ทำให้เกิดความลำบากต่อประชาชนเจ้าของที่ดินมากจนเกินไป
จึงโปรดเกล้าฯ ให้แก้ไขกำหนดแนวเขตไว้เพียงข้างละ 20 วา ตลอดสาย
ส่วนที่ดินซึ่งไม่มีเจ้าของตาม พ.ร.ฎ.สร้างทางรถไฟสายนครราชสีมา ที่กำหนดไว้เป็นเขตทางรถไฟ ข้างละ 5 เส้น หรือ 200 เมตร นั้น มากเกินกว่าความต้องการบำรุงทางรถไฟ และจะเป็นการตัดประโยชน์ความเจริญในท้องที่ เพราะประชาชนจะสามารถไปจับจองบำรุงที่ดินทำประโยชน์ไม่ได้
จึงทรงมีพระราชดำรัสให้กำหนดเขตทางรถไฟ ข้างละ 20 วา ตลอดสาย และให้ยกเลิกกำหนดเขตที่ดินซึ่งไม่มีเจ้าของข้างละ 5 เส้น หรือ 200 เมตร
ต่อมาข้าหลวงจัดที่ดินกรมรถไฟ ได้แจ้งความให้ประชาชน ที่มีที่ดินตามทางรถไฟสายนครราชสีมาทราบ โดยทั่วกันว่า เขตที่ดินของกรมรถไฟนั้น มีกำหนดตามทางรถไฟข้างละ 20 วา และที่ตรงสถานีรถไฟข้างละ 40 วา อันเป็นการดำเนินงานตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ปรากฏตามหนังสือกระทรวงโยธาธิการ ที่ 139/2013 ลงวันที่ 4 ก.ย.2451 และแจ้งความของข้าหลวงจัดที่่ดิน ลงวันที่ 12 เม.ย.2452
จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่า ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประเทศไทยยังคงใช้ระบอบสมบูรณาสิทธิราชย์ ซึ่งพระมหากษัตริย์มีอำนาจสิทธิ์ขาดสูงสุด พระราชดำรัสของพระมหากษัตริย์ถือเป็นกฎหมายเด็ดขาด
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสไม่ต้องการให้การก่อสร้างทางรถไฟหลวงกระทบต่อประโยชน์ของราษฎร จึงทรงมีพระราชดำรัสให้กำหนดเขตทางรถไฟข้างละ 20 วา ตลอดสาย และให้ยกเลิกกำหนดเขตที่ดินซึ่งไม่มีเจ้าของข้างละ 5 เส้น หรือ 200 เมตร เพื่อให้ประชาชนสามารถจับจองและใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่อสร้างความเจริญให้แก่บ้านเมืองต่อไป
พระราชดำรัสดังกล่าวจึงถือเป็นกฎหมายเด็ดขาด ผู้ใดจะฝ่าฝืนมิได้
ดังนั้น แนวเขตที่ดินของกรมรถไฟนั้น จึงต้องมีกำหนดตามทางรถไฟข้างละ 20 วา และที่ตรงสถานีรถไฟข้างละ 40 วา ประกาศกำหนดเป็นอย่างอื่น ต้องได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเท่านั้น
ฯลฯ
แต่ที่ร้ายเหลือและเป็นตัวชี้นำมาสู่การไม่เพิกถอนสิทธิ์ อยู่ที่เหตุผลในการคัดค้านข้อที่ 10 เพราะ ทีมทนายชนินทร์ แก่นหิรัญ คัดค้านเหมือน “รู้ธง” เพราะร้องให้คณะกรรมการสอบสวนยุติการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดิน….
สาระใหญ่ใจความ ของหนังสือคัดค้านใครอ่านต้องสะดุ้ง เพราะด่าศาลไปเต็มๆ
ข้อความในคำคัดค้านข้อ 10 ระบุว่า “เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่กล่าวมาทั้งหมด....จะเห็นได้ว่าคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ในคดีหมายเลขดำที่ 2071/2554 คดีหมายเลขแดงที่ 592/2555 ระหว่าง ชาวบ้านจังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 35 ราย โจทก์ กับ การรถไฟแห่งประเทศไทย จำเลย เป็นคำพิพากษาที่คลาดเคลื่อนต่อเหตุผลข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายหลายประการ และการรับฟังพยานหลักฐานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย...อับหยา ตายแล้วอาเฮีย....
ยังไม่หนำใจ “อีกทั้งคำพิพากษาดังกล่าวไม่มีผลผูกพัน ผู้ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ที่มีสิทธิดีกว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เนื่องจากเป็นผู้มีสิทธิตามโฉนดที่ดิน อันเป็นเอกสารสิทธิที่ออกมาโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 145 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งมาตรา 37 แห่งรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2560 รับรองคุ้มครองไว้….
“อาศัยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเบื้องต้น ข้าพเจ้าขอกราบเรียนว่า การรถไฟฯไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินบริเวณแยกเขากระโดง ซึ่งรวมถึงตามโฉนดที่ดินที่แนบมาด้วย...
ข้อกล่าวอ้างในกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ ล้วนแต่เป็นความเท็จทั้งสิ้น และความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะกรรมการร่างกฎหมายที่ 7) เรื่องเสร็จที่ 106/2541 เป็นคำวินิจฉัยที่คลาดเคลื่อนต่อเหตุผลข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย
คณะกรรมการสอบสวน จึงไม่อาจนำข้อกล่าวอ้างดังกล่าว มาเป็นเหตุให้ดำเนินการเพิกถอนตามโฉนดที่ดินที่แนบมาด้วย
จึงขอให้คณะกรรมการสอบสวน “ได้โปรดมีคำสั่งไม่เพิกถอนโฉนดที่ดินที่แนบมา”... และ “มีคำสั่งยุติเรื่องในกรณีนี้ด้วย”
ช่างบังเอิญจริงๆ ที่ข้อคัดค้าน คำคัดค้านของทีมทนายตระกูลชิดชอบ เหมือนกับคำตัดสินของกรมที่ดินเป๊ะๆ
ไม่รู้ว่าคำคัดค้านของทนายตระกูลชิดชอบชี้นำ หรือคำตัดสินของคณะกรรมการสอบสวน ทำตาม!!
เพราะเนื้อความในหนังสือที่ นายพรพจน์ เพ็ญพาส อธิบดีกรมที่ดิน ได้ทำหนังสือแจ้ง เรื่อง การเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินที่ออกทับซ้อนกับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย จึงมีเนื้อหาสรุปได้ว่า... คณะกรรมการสอบสวนฯ มีมติเป็นเอกฉันท์
“เห็นสมควรไม่เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินรถไฟฯ บริเวณแยกเขากระโดง”!!!
เนื่องจาก รฟท. ไม่มีหลักฐานเป็นที่ข้อยุติว่า ที่ดินดังกล่าวเป็นของ รฟท.”จึงเห็นควรยุติเรื่องในกรณีนี้”
เหมือนกันเป๊ะ ราวกับนัดกันไว้...ไม่มีผิด ....เฮ้อ เวรกรรมประเทศไทย