posttoday

UK สั่นสะเทือน! ตำแหน่งงาน 3 ล้านตำแหน่งอาจถูก AI แทนที่ในอีก 20 ปี

08 พฤศจิกายน 2567

สถาบันวิจัย Tony Blair Institute จากสหราชอาณาจักรเผย ตำแหน่งงานในบริษัทเอกชนกว่า 3 ล้านตำแหน่งในสหราชอาณาจักรอาจถูก AI แทนที่ในอีก 20 ปี

สถาบันวิจัย Tony Blair Institute จากสหราชอาณาจักรเผย ตำแหน่งงานในบริษัทเอกชนกว่า 3 ล้านตำแหน่งในสหราชอาณาจักรอาจถูก AI แทนที่ในอีก 20 ปีข้างหน้า

แม้ตัวเลขดังกล่าวจะดูเป็นจำนวนมหาศาล แต่สถาบันวิจัย Tony Blair Institute ให้ความเห็นว่า ท้ายที่สุดผลกระทบของ AI ต่อตลาดแรงงานจะอยู่ในระดับแค่หลักแสนตำแหน่งเท่านั้น เนื่องจากมีการสร้างตำแหน่งงานใหม่ขึ้นมาทดแทน 

สถาบันวิจัยคาดการณ์ว่า ในสหราชอาณาจักรจะมีตำแหน่งงานหายไปประมาณ 60,000 ถึง 275,000 ตำแหน่งต่อปี และจะแตะจุดพีคภายใน 20 ปี โดยผลกระทบจะคลี่คลายไปตามกาลเวลา ซึ่งตัวเลขดังกล่าวถือว่า "อยู่ในระดับที่ไม่สูงมาก" เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยการสูญเสียตำแหน่งงานในสหราชอาณาจักรซึ่งอยู่ที่ประมาณ 450,000 ตำแหน่งต่อปีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ในปัจจุบันในสหราชอาณาจักรมีประชากรที่มีงานทำมากกว่า 33 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม การเติบโตของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในตลาดแรงงานจะช่วยเพิ่ม GDP ซึ่งเป็นตัวชี้วัดการเติบโตทางเศรษฐกิจ สูงสุดถึง 1% ในอีก 5 ปีข้างหน้า และอาจเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 6% ภายในปี 2035 

 

UK สั่นสะเทือน! ตำแหน่งงาน 3 ล้านตำแหน่งอาจถูก AI แทนที่ในอีก 20 ปี

กลุ่มอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากการถูก AI แทนที่มากที่สุด

สถาบันวิจัย Tony Blair Institute เผยว่า กลุ่มอาชีพที่จะได้รับผลกระทบจากการถูก AI แทนที่มากที่สุดคือ งานด้านธุรการและเลขานุการ, งานขายและบริการลูกค้า, งานด้านธนาคารและการเงิน ขณะที่กลุ่มอาชีพที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดคือกลุ่มงานก่อสร้าง

สังเกตได้ว่า กลุ่มอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากการถูก AI แทนที่ จะเป็นกลุ่มอาชีพที่ต้องอยู่กับข้อมูลจำนวนมาก ซึ่งข้อมูลเหล่านั้นสามารถนำไปใช้เพื่อฝึก Ai ได้อย่างง่ายดาย จนเทคโนโลยีสามารถเข้ามาแทนที่มนุษย์ได้เพราะใช้เวลาทำงานน้อยกว่าแรงงานมนุษย์ ขณะที่กลุ่มอาชีพที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด คืออาชีพที่ต้องใช้แรงงานทางกายภาพ

ทั้งนี้ แม้ AI จะรุกคืบจนสามารถแทนที่งานบางส่วนได้ แต่ในแง่ดีคือตำแหน่งงานใหม่ๆก็จะเกิดขึ้นเช่นเดียวกัน ซึ่งถือเป็นความท้าทายขององค์กรต่างๆว่าจะพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและรับมือกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์อย่างไร รวมถึงนโยบายของภาครัฐว่าจะมีแนวทางอย่างไรเพื่อรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้นหรือไม่