posttoday

ยักษ์ใหญ่ AI ถึงทางตัน? ปัญหาข้อมูลมีจำกัด ฉุดรั้งการพัฒนาโมเดล AI ใหม่

16 พฤศจิกายน 2567

บริษัทยักษ์ใหญ่ AI ถึงทางตัน? ปัญหาข้อมูลบนโลกออนไลน์มีจำกัด ฉุดรั้งการพัฒนาโมเดล AI คาด Human feedback อาจกลายเป็นกุญแจสำคัญพัฒนาโมเดล AI ใหม่

แม้บริษัทยักษ์ใหญ่ด้าน AI อย่าง OpenAI, Google และ Anthropic จะเคยสร้างความตื่นเต้นให้กับแวดวงเทคโนโลยีผ่านการอัปเกรดโมเดล AI อย่างต่อเนื่อง แต่รายงานล่าสุดจาก Bloomberg ชี้ให้เห็นว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ด้าน AI กำลังประสบปัญหาในการพัฒนาโมเดล AI 

OpenAI กำลังประสบปัญหาในการพัฒนาโมเดล AI Orion โดยเฉพาะในด้านความสามารถการเขียนโค้ด ซึ่งไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่บริษัทวางไว้ ซึ่งการพัฒนาครั้งล่าสุดนี้อาจไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงจนพลิกโฉมเหมือนที่ GPT-4 เคยทำได้เมื่อเทียบกับ GPT-3.5 และด้วยปัจจัยนี้อาจเป็นเหตุผลที่ Sam Altman ซีอีโอของ OpenAI ได้ออกมาปฏิเสธข่าวลือเกี่ยวกับกำหนดการเปิดตัวโมเดล Orion

ยักษ์ใหญ่ AI ถึงทางตัน? ปัญหาข้อมูลมีจำกัด ฉุดรั้งการพัฒนาโมเดล AI ใหม่

ขณะที่ทางด้าน Google และ Anthropic ก็เผชิญปัญหาคล้ายกัน การพัฒนาโมเดล Gemini ของ Google ต้องประสบกับความล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่วน Anthropic ก็ต้องเลื่อนการเปิดตัวโมเดล Claude 3.5 Opus ออกไป แม้จะเคยมีการเปิดเผยข้อมูลเบื้องต้นคร่าวๆไปแล้วเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา

สาเหตุหลักที่บริษัทดังกล่าวต้องประสบปัญหาในการพัฒนาโมเดล AI คือข้อมูลสำหรับการฝึกฝน ซึ่งแม้บนโลกอินเทอร์เน็ตจะมีข้อมูลมหาศาล แต่ข้อมูลที่มีคุณภาพและเหมาะสำหรับนำไปฝึกฝน AI กำลังหายากขึ้นเรื่อยๆ จากข้อจำกัดด้านลิขสิทธิ์และจริยธรรมในการใช้ข้อมูล, การขาดแคลนตัวอย่างที่มีคุณภาพจากมนุษย์ ไปจนถึงต้นทุนในการประมวลผลที่มีราคาสูง

บริษัทยักษ์ใหญ่ด้าน AI จึงต้องพยายามมองหาวิธีใหม่ในการพัฒนาโมเดลของตน เช่น human feedback หรือ การใส่ความคิดเห็นของมนุษย์เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการฝึกฝน ซึ่งแม้จะเป็นวิธีการฝึกที่ช้าแต่อาจเป็นทางเลือกที่จำเป็น  เนื่องจากการเพิ่มกำลังประมวลผลข้อมูลมหาศาลบนโลกออนไลน์อาจไม่ใช่แนวทางที่ตอบโจทย์อีกต่อไป

สำหรับผลกระทบต่อผู้ใช้งานทั่วไป การชะลอตัวของการพัฒนาโมเดล AI ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย แต่อาจเป็นโอกาสที่ดีของผู้ใช้ในการทำความเข้าใจและใช้ประโยชน์จากเครื่องมือ AI ที่มีอยู่ให้เต็มประสิทธิภาพซึ่งการชะลอตัวครั้งนี้อาจเป็นสัญญาณว่าการพัฒนา AI กำลังเข้าสู่ยุคใหม่ ที่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมมากกว่าการเพิ่มขนาดและกำลังประมวลผลเพียงอย่างเดียว