posttoday

AI ปฏิวัติวงการธุรกิจ ASEAN มูลค่าตลาดแตะหลักแสนล้าน ไทยพร้อมรับมือแค่ไหน?

19 พฤศจิกายน 2567

คาด AI ดันมูลค่าเศรษฐกิจอาเซียน มูลค่าตลาดแตะ 5 แสนล้านภายในปี 2573 ไทยพร้อมรับมือแค่ไหนในการปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยี?

ปัจจุบันเทคโนโลยี AI เข้ามามีบทบาทสำคัญในทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งในด้านการศึกษา การแพทย์ การเงิน การผลิต ไปจนถึงการขนส่ง งานประชุมวิชาการระดับนานาชาติประจำปี 2024 IACIO Annual Conference 2024 ภายใต้หัวข้อ “AI Strategic Transformation Principles and Practices for CIOs” จึงเกิดขึ้น เพื่อเปิดมุมมองใหม่ด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) สำหรับการนำมาปรับใช้ในเพื่อเปลี่ยนแปลงโมเดลธุรกิจและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต ไปจนถึงการรับมือกับความท้าทายและการใช้ AI ในภาคอุตสาหกรรมและภาครัฐบาล 

AI ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ASEAN

สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2573 จะเป็นภูมิภาคที่มีการใช้ AI ในการขับเคลื่อนธุรกิจเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก โดยคาดว่าความต้องการด้านเทคโนโลยี AI ในภูมิภาคจะเพิ่มขึ้นอีกเป็น 3 เท่า ระหว่างปี พ.ศ. 2570 - 2580

ซึ่งจะส่งผลต่อการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศในภูมิภาคนี้ โดยคาดการณ์ว่ามูลค่าการซื้อขายที่เกี่ยวข้องกับ AI จะสูงถึงประมาณ 500,000 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นโอกาสสำคัญสำหรับธุรกิจท้องถิ่นในการปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยีและสร้างมูลค่าเพิ่ม

AI ปฏิวัติวงการธุรกิจ ASEAN มูลค่าตลาดแตะหลักแสนล้าน ไทยพร้อมรับมือแค่ไหน?

ในขณะเดียวกันภายในงาน IACIO Annual Conference 2024 ยังเจาะลึกประเด็นสำคัญหลายประการ  อาทิ

  • ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการจัดอันดับรัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย ซึ่งเป็นการประเมินเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ทั้งในภูมิภาคและระดับโลก โดยข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับการพัฒนาระบบการบริหารจัดการของภาครัฐในอนาคต เนื่องจากสามารถช่วยให้เรามองเห็นแนวโน้มในการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับปรุงการทำงานของทุกภาคส่วนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สอดรับกับความคาดหวังและความต้องการของประชาชนในยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง 
  • ความท้าทายในการนำ AI ไปใช้ในภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น ความกังวลด้านความปลอดภัยข้อมูล ความเป็นส่วนตัว รวมถึงข้อกำหนดทางกฎหมายที่ยังไม่ครอบคลุมเพียงพอสำหรับการควบคุมและกำกับดูแลการใช้งาน AI โดยมีนโยบายการพัฒนาทักษะบุคลากรและสร้างความโปร่งใสในการใช้เทคโนโลยีอย่างมีความรับผิดชอบ
  • แนวทางการสร้างเครือข่ายทางวิชาชีพ (Professional Network) เครือข่ายวิชาชีพที่เข้มแข็งจะช่วยให้บุคลากรจากภาคส่วนต่าง ๆ สามารถแลกเปลี่ยนความรู้และแบ่งปันประสบการณ์ในการนำ AI ไปใช้ในองค์กรได้อย่างเหมาะสม

ทั้งนี้ ภายในเวทีเสวนาระบุว่า การลงทุนพัฒนาทักษะแรงงานถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกองค์กรมากกว่าการโฟกัสแค่เทคโนโลยี AI หากเรามีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าเพียงอย่างเดียว แต่ขาดแรงงานที่มีทักษะการใช้งานเครื่องมือ AI เศรษฐกิจก็ไม่สามารถเติบโตได้ การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีก็ทำได้ไม่เต็มที่ตามที่ควร

รัฐบาลของแต่ละประเทศจึงควรลงทุนไปกับการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนในทุกสาขาอาชีพ ทุกภาคส่วน พร้อมวางนโยบายและกรอบการทำงานของ AI ให้ชัดเจน เพื่อความปลอดภัยด้านข้อมูลและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน