ชื่อ'กิตติรัตน์'นั่งปธ.บอร์ดแบงก์ชาติไม่เข้าครม.รอเคลียร์ปมคุณสมบัติ
ชื่อกิตติรัตน์ ณ ระนอง นั่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ยังไม่ได้เข้าสู่การประชุมครม. นายกฯอิ๊งค์ โยนคณะกรรมการสรรหา เคลียร์ปมขาดคุณสมบัติหรือไม่ อันเนื่องมาจากเหตุพ้นตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ไม่ถึง 1 ปี
กรณีคณะกรรมการสรรหาบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เมื่อ 11พ.ย.67 ซึ่งมีนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานคณะกรรมการสรรหา มีมติ 5 ต่อ2 เสียงเลือก นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง นั่งประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่ ซึ่งตามขั้นตอนต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อขอมติเห็นชอบและทูลเกล้าฯเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง
ต่อมา มีการท้วงติงประเด็นการขาดคุณสมบัติของนายกิตติรัตน์ โดยนายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ยื่นหนังสือถึง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านนายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เพื่อคัดค้านกรณีที่ประชุม ครม.จะมีการพิจารณาแต่งตั้งนายกิตติรัตน์ เนื่องจากนายกิตติรัตน์เคยดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งยังพ้นจากตำแหน่งทางการเมืองไม่เกิน 1 ปี หลังจากนายเศรษฐา ต้องหลุดออกจากตำแหน่ง โดยอ้างอิงระเบียบข้าราชการการเมืองเทียบเคียงกับระเบียบข้าราชการการเมือง
การประชุมคณะรัฐมนตรี วันนี้ (19พ.ย.67) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงคุณสมบัติของนายกิตติรัตน์ ว่า ขอให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการสรรหา เพราะกรรมการสรรหา เป็นผู้ทรงคุณวุฒิอยู่แล้ว จึงขอให้เป็นไปตามกระบวนการ
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปฎิเสธให้สัมภาษณ์ กรณีจะนำรายชื่อ นายกิตติรัตน์ เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ ระบุเพียงว่ายังไม่ได้รับหนังสือจากคณะกรรมการสรรหา
ประเด็นว่านายกิตติรัตน์ ขาดคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยหรือไม่ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีการวินิจฉัยคำร้องที่เทียบเคียงไว้ ปรากฏในหนังสือเรื่องเสร็จที่ 481/2552 ได้เคยวินิจฉัยไว้ในบันทึก เรื่อง "การดำรงตำแหน่งทางการเมืองของกรรมการและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ" ว่า "ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง" หมายถึง ผู้ดำรงตำแหน่งที่มีหน้าที่อำนวยการบริหารประเทศหรือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน และบรรดาผู้ที่รับผิดชอบงานด้านการเมืองทั้งหมด โดยงานการเมืองนั้นจะเป็นงานที่เกี่ยวกับการกำหนดนโยบายเพื่อให้ฝ่ายปกครองที่มีหน้าที่ปฏิบัติงานประจำรับไปบริหารให้เป็นไปตามนโยบายที่กำหนด ซึ่งมีความหมายกว้างกว่าคำว่า "ข้าราชการการเมือง" ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2535
ดังนั้น คำว่า "ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง"จึงหมายถึง คณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา และผู้ดำรงตำแหน่งอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกันที่มีอำนาจหน้าที่ในการอำนวยการบริหารประเทศหรือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน และหากพิจารณาระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยผู้แทนการค้าไทย พ.ศ. 2552 ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้แทนการค้าไทยไว้
เมื่อเทียบเคียงกับกรณีของนายกิตติรัตน์ที่เป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี จึงไม่เข้าข่ายของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและไม่ได้มีอำนาจในการอำนวยการ บริหารงานราชการแผ่นดิน ตามที่กฎหมายได้มีการแยกแยะออกมาให้เห็นชัดเจนว่าการดำรงตำแหน่งการเมือง กับผู้ที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร