posttoday

AI ตัวพลิกเกมในประเทศกำลังพัฒนาแก้ปัญหา Climate Change ได้จริง?

26 พฤศจิกายน 2567

AI กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในการแก้วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศกำลังพัฒนา ด้วยความสามารถในการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม แต่เทคโนโลยีดังกล่าว จะเป็นตัวพลิกเกมในประเทศเหล่านี้ได้จริงหรือ?

AI กำลังจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการแก้วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ในประเทศกำลังพัฒนา ด้วยความสามารถในการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศนั้นๆ ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าว จะเป็นตัวพลิกเกมในประเทศกำลังพัฒนาได้จริงหรือไม่?

ปัญหาของประเทศกำลังพัฒนา

ต้องยอมรับว่า หนึ่งในปัญหาที่ประเทศกำลังพัฒนาต้องเผชิญคือความไม่ลงรอยและขัดแย้งกันเองภายในประเทศจากระบอบประชาธิปไตยที่ยังไม่สมบูรณ์ ดังนั้นการดำเนินงานของผู้มีอำนาจมักตกเป็นประเด็นให้ประชาชนวิพากวิจารณ์อยู่เสมอ เนื่องจากขาดการประสานงานและมักดำเนินการโดยขาดความรับผิดชอบต่อสังคม

นอกจากนี้ หน่วยงานของภาครัฐในประเทศกำลังพัฒนา ถือว่ากุมความได้เปรียบในด้านสวัสดิการที่ภาคเอกชนไม่มี ส่งผลให้การเป็นข้าราชการกลายเป็นหนึ่งในเอกสิทธิ์ ซึ่งสะท้อนผ่านการดำเนินงานที่ขาดแรงจูงใจ เช้าชามเย็นชาม ขณะเดียวกัน โครงสร้างทางราชการที่ซับซ้อนในประเทศกำลังพัฒนายังเป็นอุปสรรคต่อการจัดหาบุคลากรที่มีทักษะการทำงานหลากหลาย มีกฎระเบียบมากมายเพื่อควบคุมการทำธุรกิจกับภาคเอกชน และผลที่ตามมาคือ ประเทศเหล่านี้มีระดับการทุจริตที่สูงขึ้น 

ข้อมูลถูกแช่แข็งไว้ในองค์กร

ความท้าทายในการนำเทคโนโลยีเข้ามาแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศกำลังพัฒนา เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนแรกซึ่งเป็นพื้นฐานของการนำ AI มาใช้คือ “การเข้าถึงข้อมูล” ซึ่งข้อมูลทั้งหมดของประเทศถูกรวบรวมไว้ใน หน่วยงานรัฐบาลระดับต่างๆ  การได้มาซึ่งข้อมูลจึงถือเป็นเรื่องยากมากสำหรับภาคเอกชนที่ต้องการมีส่วนแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในระดับประเทศ

ยกตัวอย่างเช่นในบราซิล แม้ภาคเอกชนจะยังสามารถรวบรวมข้อมูลได้บ้าง แต่ปัญหาที่พบคือการจัดการข้อมูลที่กระจัดกระจายไปตามหน่วยงานย่อย ทำให้การเข้าถึงข้อมูลภายในประเทศกลายเป็นเรื่องยากลำบาก และในเมื่อแค่ขั้นตอนแรกก็พบอุปสรรคมากมายแล้ว การดำเนินงานขั้นต่อไปก็ถือว่าชวนเหงื่อตกอยู่พอควร

อย่างไรก็ตาม การโน้มน้าวผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายในประเทศให้แบ่งปันข้อมูลเพื่อประโยชน์ส่วนรวมในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม แต่ทว่าดันขัดกับผลประโยชน์ส่วนตัว ถือเป็นงานที่ท้าทายยิ่งกว่าการเก็บรวบรวมข้อมูลเสียอีก

ดังนั้น การนำ AI มาใช้ในประเทศกำลังพัฒนาอาจไม่ใช่การปฏิวัติหรือตัวพลิกเกมไปเลยอย่างสิ้นเชิง สิ่งที่พอจะเป็นไปได้คือ หากมีการรวบรวมข้อมูล และนำเครื่องมือ AI มาใช้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อสร้างทางออกสำหรับประเทศกำลังพัฒนา ตัวเปลี่ยนเกมที่แท้จริงจะเป็นทักษะด้านมนุษยสัมพันธ์ที่โน้มน้าวให้เกิดความร่วมมือจากทุกฝ่ายเพื่อสามารถนำเทคโนโลยี AI เข้ามาประยุกต์ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ