มิติใหม่แห่งปศุสัตว์ AI ติดตามสุขภาพปลาและม้าแบบเรียลไทม์

13 เมษายน 2568

ที่ผ่านมาเราอาจได้เห็นเทคโนโลยี AI ติดตามสุขภาพกันไม่น้อย แต่วันนี้เราจะล้ำไปอีกขั้นเมื่อมีการคิดค้นพัฒนา AI ติดตามสุขภาพปลาและม้าแบบเรียลไทม์

ปัจจุบันการนำ AI มาใช้ในการทำงานเริ่มเป็นเรื่องที่พบได้ทั่วไป หลายสาขาวิชาชีพมีการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์กันอย่างแพร่หลาย หนึ่งในนั้นคือภาคปศุสัตว์ ที่มีส่วนช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต ลดต้นทุน ไปจนปรับปรุงคุณภาพชีวิตสัตว์ภายในฟาร์มให้ดีขึ้น

 

วันนี้เราจึงพาไปแนะนำให้รู้จักกับ AI ติดตามสุขภาพปลาและหมูแบบเรียลไทม์

 

มิติใหม่แห่งปศุสัตว์ AI ติดตามสุขภาพปลาและม้าแบบเรียลไทม์

 

AI ที่ช่วยให้เราติดตามการหายใจของปลาแต่ละตัว

 

ผลงานนี้เป็นของทีมวิจัยจาก Norwegian University of Life Sciences (NMBU) กีบการคิดค้นพัฒนา AI รุ่นใหม่ที่ช่วยตรวจสอบอัตราการหายใจของปลาแต่ละตัวภายในบ่อแบบเรียลไทม์ ช่วยชี้วัดระดับการหายใจและความเครียด ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อสวัสดิภาพของปลาที่เพาะเลี้ยง

 

อุปกรณ์ที่พวกเขานำมาใช้งานคือ กล้อง AI ที่ได้รับการพัฒนาให้การจดจำลักษณะ วิเคราะห์การเคลื่อนไหว และอัตราการหายใจของปลาแต่ละตัวภายในบ่อ โดยอาศัยข้อมูลการขยับและความเปลี่ยนแปลงตรงช่วงปาก การเปิด-ปิดบริเวณขากรรไกรบนและล่าง

 

เมื่อได้ข้อมูลผ่านกล้องภาพและวีดีโอทั้งหมดจะถูกนำไปวิเคราะห์ด้วยอัลกอริทึมเฉพาะ เพื่อสังเกตอัตราการหายใจของปลาทุกตัวที่อาศัยในบ่อนั้นๆ ช่วยการตรวจสอบสุขภาพของปลาเพื่อค้นหาความผิดปกติแบบเรียลไทม์ ทั้งในกรณีออกซิเจนในน้ำไม่เพียงพอ หรืออุณหภูมิน้ำเกิดการเปลี่ยนแปลง

 

ในขั้นตอนทดสอบการใช้งานโดยนำกล้องมาติดตั้งไว้กับบ่อปลา 9 บ่อ แต่ละบ่อมีปลาแซลมอนอยู่ 7 ตัว พบว่า กล้องสามารถจดจำและวิเคราะห์การหายใจของปลาที่อยู่ในแต่ละบ่อได้ สามารถชี้วัดระดับความแตกต่างของอุณหภแตกต่างของอุณหภูมิน้ำและปริมาณออกซิเจนอย่างแม่นยำ

 

นี่จึงเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยี AI น่าสนใจที่อาจช่วยควบคุมคุณภาพปลาในบ่อได้ต่อไป

 

มิติใหม่แห่งปศุสัตว์ AI ติดตามสุขภาพปลาและม้าแบบเรียลไทม์

 

Intellipig เมื่อ AI ช่วยเราอ่านอารมณ์หมู

 

ผลงานนี้เป็นของ University of the West of England Bristol กับ Scotland’s Rural College กับการคิดค้น Intellipig ระบบ AI ที่จะช่วยในการอ่านอารมณ์ของสัตว์ภายในฟาร์ม ซึ่งจะช่วยตรวจจับและแจ้งเตือนความผิดปกติให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์แบบเรียลไทม์

 

เทคโนโลยีนี้อาศัยรากฐานมาจากการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์จดจำใบหน้าที่ใช้ในมนุษย์ อ้างอิงจากผลการวิจัยก่อนหน้าที่มีการนำซอฟต์แวร์  AI จดจำใบหน้ามาใช้กับสุนัข ก่อนพบว่าซอฟต์แวร์ดังกล่าวตรวจจับอารมณ์ของสัตว์ได้ในระดับเบื้องต้น และช่วยในการตามสุนัขที่หายไปคืนเจ้าของได้สำเร็จ

 

ด้วยเหตุนี้ทีมวิจัยจึงเริ่มจากเก็บข้อมูลความเปลี่ยนแปลงทางสีหน้าของสัตว์เป็นจำนวนหลายพันตัว เพื่อตรวจสอบข้อแตกต่างทางด้านกล้ามเนื้อส่วนที่สอดคล้องกับการแสดงอารมณ์ของสัตว์แต่ละชนิด โดยเฉพาะข้อมูลการขยับมัดกล้ามเนื้อเมื่อเกิดความเจ็บปวด จากนั้นจึงนำข้อมูลดังกล่าวมาคัดแยกเป็นการแสดงออกทางอารมณ์แต่ละแบบก่อนนำมาป้อนให้ AI

 

ผลลัพธ์ที่ได้ช่วยให้ AI สามารถระบุอารมณ์และความเปลี่ยนแปลงของสัตว์จากภาพถ่ายหรือวีดีโอได้ โดยในขั้นตอนทดสอบร่วมกับม้าที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดพบว่า AI สามารถระบุความแตกต่างทางอารมณ์ และชี้วัดความเจ็บปวดของม้าได้ในระดับความแม่นยำอยู่ที่ 88% ซึ่งจะช่วยให้การติดตามสุขภาพสัตว์ทำได้ง่ายขึ้น

 

แน่นอนว่าไม่ได้ทดสอบการใช้งานแค่กับม้า AI ถูกนำมาใช้ทดสอบร่วมกับสัตว์อีกหลายชนิด เช่น ใช้ระบุความเจ็บปวดของแกะได้ถูกต้อง 82% อีกทั้งยังสามารถระบุอารมณ์ของสุนัขได้ในระดับความแม่นยำที่ 89% โดยสามารถลงรายละเอียดว่า เจ้าตูบกำลังมีความสุข หงุดหงิด หรือกำลังเศร้าได้

 

Intellipig จึงไม่ใช่ AI ที่มีประโยชน์เพียงสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ แต่อาจได้รับความนิยมในหมู่คนรักสัตว์อีกด้วย

 

 

 

จริงอยู่ทั้งเทคโนโลยีทั้งสองยังอยู่ในขั้นวิจัยและพัฒนา โดยเฉพาะ Intellipig ที่ต้องได้รับการปรับปรุงความเสถียรและชนิดสัตว์ให้ใช้งานมากยิ่งขึ้น แต่ในอนาคตนี่จะเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยปรับปรุงภาคปศุสัตว์ให้เข้าสู่ฟาร์มอัจฉริยะ ที่จะช่วยเพิ่มผลผลิตและความยั่งยืนในอุตสาหกรรมนี้ต่อไป

 

 

ที่มา

 

https://norwegianscitechnews.com/2025/02/the-method-tells-us-about-the-wellbeing-of-the-fish/

 

https://www.science.org/content/article/can-ai-read-pain-and-other-emotions-your-dog-s-face

 

https://www.youtube.com/watch?v=qZbk2OWJCkY&ab_channel=SINTEFOcean

 

Thailand Web Stat