posttoday

ไพรินทร์ สั่งแอร์พอร์ตลิงก์ลุยจัดซื้อรถใหม่ 7 ขบวน 4,000 ล้าน

21 ธันวาคม 2560

รมช.คมนาคม สั่งแอร์พอร์ตลิงก์ลุยจัดซื้อรถใหม่ 7 ขบวน 4,000 ล้าน ตั้งเป้าเปิดใช้ภายในสองปี รับอีอีซี พร้อมแนะเปิดบริการเร็วขึ้น 30 นาทีรับผู้โดยสารเพิ่ม

รมช.คมนาคม สั่งแอร์พอร์ตลิงก์ลุยจัดซื้อรถใหม่ 7 ขบวน 4,000 ล้าน ตั้งเป้าเปิดใช้ภายในสองปี รับอีอีซี พร้อมแนะเปิดบริการเร็วขึ้น 30 นาทีรับผู้โดยสารเพิ่ม

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รมช.คมนาคมเปิดเผยภายหลังการตรวจเยี่ยมรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์ว่า ตนได้มอบนโยบายให้แอร์พอร์ตลิงก์ไปเร่งรัดแผนโครงการจัดซื้อรถไฟเพิ่ม 7 ขบวน วงเงิน 4,000 ล้านบาท ส่วนปัญหาที่ยังติดขัดข้อกฎหมายเรื่องจัดซื้อ ตนจะรับไว้พิจารณาอีกครั้ง โดยไม่ต้องรอเอกชนที่จะเข้ามาบริหารโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ตามแผนการพัฒนาโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC และเพื่อให้สอดคล้องกับการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิเฟส 2 หลังในปัจจุบันมีจำนวนผู้โดยสารใช้บริการหนาแน่น โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปชัดเจนในช่วงไตรมาส 1 ปี 2561 ทั้งนี้ หากได้ข้อสรุปและเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ คาดว่าจะได้ขบวนรถใหม่มาให้บริการภายใน 1- 2 ปี

นายไพรินทร์กล่าวต่อว่าสำหรับการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น ปัจจุบันมีขบวนรถไฟที่ให้บริการในชั่วโมงเร่งด่วน 7 ขบวน สำรอง 1 ขบวน ซ่อมบำรุงใหญ่อีก 1 ขบวน รวมทั้งสิ้นเป็น 9 ขบวน ซึ่งไม่เพียงพอต่อการให้บริการของประชาชน ซึ่ง ตนได้เร่งรัดให้ที่ประชุมในการจัดหาขบวนรถมาเพิ่มภายใน1-2 ปีนี้ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ขบวนปัจจุบันให้บริการอย่างเกินขีดความสามารถแล้ว ได้ให้ทางแอร์พอร์ตลิงค์ จัดหาขบวนรถไฟสำรองมาวิ่งให้บริการก่อน พร้อมทั้งเร่งรัดในการปรับปรุงตู้โดยสารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ (express line) จำนวน 4 ตู้ ให้แล้วเสร็จซึ่งจะสามารถเพิ่มผู้โดยสารได้อีกจำนวนมาก

ขณะเดียวกัน เพื่อเป็นการรองรับกับปริมาณของผู้โดยสารที่ใช้บริการต่อวัน ได้สั่งการให้ฝ่ายจัดการของแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ พิจารณาปรับเวลาการให้บริการของรถในช่วงเช้าให้เร็วขึ้น 30 นาที จากเดิมที่ให้บริการในช่วงเวลา 06.00 น. เป็นเวลา 05.30 น. โดยจะสามารถทำให้มีขบวนรถวิ่งเพิ่มขึ้น 3 ขบวน ทั้งนี้จะต้องเสนอเรื่องดังกล่าวให้ที่ประชุมคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท.พิจารณา คาดว่าจะเริ่มให้บริการเวลาใหม่ได้ ในช่วงเดือน ก.พ. 2561

ส่วนกรณีที่มีการล้มประมูลโครงการติดตั้งเครื่องกั้นบริเวณชานชาลา วงเงิน 200 ล้านบาทหลังจากที่มีเอกชนเสนอเข้ามาเพียงรายเดียวนั้น แอร์พอร์ตลิงก์ได้ปรับเปลี่ยนเป็นการติดตั้งราวสแตนเลส คล้ายกับรถไฟชินคันเซ็นของประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้เกิดความรวดเร็วและลดต้นทุนในการดำเนินการ โดยการติดตั้งราวสแตนเลสดังกล่าว ใช้เงินลงทุนประมาณ 30 ล้านบาท ใช้ระยะเวลาดำเนินการ 6 เดือน คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ก.ย. 2561 เร็วกว่าเดิมที่ใช้เวลาติดตั้งถึง 18 เดือน