หนุนไทยบุกเบิกแฟชั่นมุสลิม
ผุดโครงการพัฒนาดีไซน์เสื้อผ้า หวังยกระดับสินค้าเจาะตลาดบน
ผุดโครงการพัฒนาดีไซน์เสื้อผ้า หวังยกระดับสินค้าเจาะตลาดบน
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมชงโครงการดีไซน์เสื้อผ้ามุสลิมหวังเจาะตลาดกำลังซื้อสูง
นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมฯ ได้วางแผนที่จะพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตเครื่องแต่งกายมุสลิม ภายใต้โครงการพัฒนาเครื่องแต่งกายมุสลิม เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่สูงขึ้น โดยปีนี้วางเป้าหมายเพิ่มช่องทางการตลาดใหม่ให้แก่ผู้ผลิตควบคู่ไปกับพัฒนากระบวนการผลิต เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าเจาะกลุ่มเป้าหมายตลาดระดับบนที่มีกำลังซื้อสูง
ทั้งนี้ ไทยมีความได้เปรียบในการเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมสิ่งทอ หากนำจุดแข็งดังกล่าวมาร่วมกันพัฒนาการผลิตจะสามารถสร้างสินค้าให้เป็นที่ยอมรับทั้งในกลุ่มมุสลิมและกลุ่มอื่นๆ ได้ เช่น การพัฒนาสินค้าโดยใส่ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมเน้นดีไซน์ทันสมัย เป็นต้น
โดยในแนวทางการสร้างตลาดใหม่ให้กับผู้ผลิต จะต้องมีการพัฒนาตัวสินค้าให้เป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย มีการใส่ความคิดสร้างสรรค์เชิงนวัตกรรมไปในตัวสินค้า เน้นดีไซน์ที่โดดเด่นและทันสมัย ที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภค โดยยังคงให้ความสำคัญกับข้อจำกัดทางศาสนา เป็นการผสมผสานระหว่างแฟชั่นกับวัฒนธรรม เพื่อสร้างความแตกต่างในตลาดใหม่ ในกลุ่มอาเซียน เอเชีย และตะวันออกกลาง เป็นต้น
ปัจจุบันกลุ่มผู้ประกอบการผลิตเครื่องแต่งกายมุสลิมมีจำนวนไม่มากนัก ส่วนใหญ่กระจายตัวอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในพื้นที่เขตลาดกระบัง และใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จ.สตูล สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ซึ่งที่ผ่านมาเป็นการผลิตเพื่อใช้กันเองในกลุ่มพี่น้องมุสลิมและขายในจังหวัดเท่านั้น
ขณะที่ตลาดต่างประเทศมีผู้ผลิตรายใหญ่ ได้แก่ อินโดนีเซีย ซึ่งผลิตสินค้าที่หลากหลายกว่าประเทศไทย โดยมูลค่าการตลาดเครื่องแต่งกายมุสลิมขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 250 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจากการสนับสนุนการผลิตจากภาครัฐอย่างจริงจัง ทำให้มูลค่าตลาดโดยรวมในแต่ละปีสูงมากขึ้น โดยในปี 2554 ที่ผ่านมาตลาดนี้มีมูลค่าสูงถึง 1,000 ล้านบาท
“นับเป็นโอกาสอันดีที่อุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายมุสลิมของประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งภายใต้การสนับสนุนของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจะเน้นการพัฒนาผู้ประกอบการอย่างเป็นระบบ บนฐานองค์ความรู้ที่เข้มแข็ง เพื่อสร้างอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายมุสลิมของไทยให้เติบโตพร้อมที่จะก้าวสู่ตลาดอาเซียนและตลาดอื่นๆ ในอนาคต” นายพสุ กล่าว
ขณะเดียวกัน ในระหว่างวันที่ 68 ก.ย. 2555 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจะนำคณะผู้ประกอบการเครื่องแต่งกายมุสลิม 12 ราย ไปจัดสัมมนาที่ประเทศมาเลเซีย เพื่อแสดงความพร้อมและศักยภาพของอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายมุสลิมไทย
นอกจากนี้ ยังเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการเจรจาจับคู่ธุรกิจกับผู้ประกอบการมุสลิมในประเทศมาเลเซีย เพื่อนำเสนอรูปแบบการขายสินค้าแบบขายตรงและการใช้ระบบการตลาดแบบไอทีเข้ามาช่วยเสริมการทำตลาด ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบการเครื่องแต่งกายมุสลิมไทย เพื่อเตรียมพร้อมก้าวสู่ตลาดใหม่ในอนาคต