posttoday

การหนีภาษี (Tax Evasion)

06 กันยายน 2555

สืบเนื่องจากกรณีข่าว ไลลา บุญยศักดิ์ หรือ พลอย เฌอมาลย์ ใช้สำเนาบัตรประชาชนของ ทวีศักดิ์ บุนนาค ในการรับเงินค่าตัวจากบริษัท แอบโซลูท ฟอร์ ยู

โดย...เดชา กิตติวิทยานันท์

สืบเนื่องจากกรณีข่าว ไลลา บุญยศักดิ์ หรือ พลอย เฌอมาลย์ ใช้สำเนาบัตรประชาชนของ ทวีศักดิ์ บุนนาค ในการรับเงินค่าตัวจากบริษัท แอบโซลูท ฟอร์ ยู จนเป็นเหตุให้ถูกมองว่าตั้งใจหลบเลี่ยงภาษี ขณะที่เจ้าตัวอ้างไม่ทราบเรื่อง เพราะทั้งหมดฝ่ายบัญชีเป็นคนจัดการ อาจเกิดความผิดพลาด ต่อมา ทวีศักดิ์ ได้ให้สัมภาษณ์ว่าที่ผ่านมาก็เคยถูกขอยืมบัตรประชาชนไปใช้ในลักษณะนี้มาก่อน ตนก็ยินยอม เพราะไม่รู้ว่าผิดกฎหมาย อีกทั้งยังเป็นญาติห่างๆ ของมารดาของพลอย รวมทั้งบุตรชายของตนก็เคยทำงานเป็นคนขับรถให้พลอยด้วย

จากกรณีดังกล่าว ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการกระทำของ พลอย เฌอมาลย์ ว่าเป็นการหลบเลี่ยงภาษีหรือไม่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กรมสรรพากรได้รายงานความคืบหน้ากรณีการเสียภาษีของพลอยแล้ว ขั้นตอนอยู่ระหว่างให้สรรพากรพื้นที่ที่รับผิดชอบเรียกตัวผู้เกี่ยวข้องทั้งพลอย บริษัทผู้ว่าจ้างและผู้ที่ยื่นรับค่าจ้างแทนมาให้ปากคำกับสรรพากรพื้นที่ เนื่องจากการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37

มีผู้อ่านโพสต์ทูเดย์สอบถามมายังคอลัมน์ทนายคลายทุกข์ว่า ความหมายที่แท้จริงของการวางแผนภาษีกับการหนีภาษีแตกต่างกันอย่างไร ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี แต่ได้ไปศึกษาค้นคว้าจากผู้เชี่ยวชาญคือ ศาสตราจารย์พิเศษ ชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญสาขากฎหมายภาษี ได้ให้คำนิยามของการวางแผนภาษีกับการหนีภาษีไว้ดังนี้

การวางแผนภาษีอากรต่างกับการหนีภาษีอากร เพราะการหนีภาษีอากร (Evasion หรือ Tax Dogging) หมายถึง การที่ผู้เสียภาษีใช้วิธีการที่ผิดกฎหมาย (lllegal Means) หรือฉ้อฉล (Fraud) เพื่อที่จะไม่ต้องเสียภาษีหรือเสียภาษีน้อยลง เช่น ผู้เสียภาษีมีเงินได้ที่จะต้องยื่นรายการและเสียภาษี แต่จงใจไม่ยื่นรายการและเสียภาษี หรือยื่นรายการแต่แสดงจำนวนเงินได้ต่ำกว่าความเป็นจริงเพื่อที่จะเสียภาษีน้อย หรือแสดงตัวเลขค่าใช้จ่ายสูงกว่าความจริงเพื่อให้มีกำไรน้อย จะได้เสียภาษีน้อยลง หรือเพื่อให้เกิดผลขาดทุนจะได้ไม่ต้องเสียภาษี หรือใช้ใบกำกับภาษีปลอมเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มและใช้เป็นหลักฐานในการหักรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงภาษีอากรก็ถือเป็นการหนีภาษีอากรเช่นเดียวกัน

การหนีภาษี (Tax Evasion) ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เป็นอาชญากรรมประเภทหนึ่ง มีโทษทั้งอาญาและทางแพ่ง เช่น ผู้เสียภาษีมีเงินได้ที่จะต้องเสียภาษี 10 ล้านบาท แต่ยื่นรายการและเสียภาษีโดยแสดงว่ามีเงินได้เพียง 1 ล้านบาท นอกจากผู้เสียภาษีจะต้องถูกเจ้าพนักงานประเมินเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มอันเป็นโทษทางแพ่งแล้ว ผู้เสียภาษียังมีความผิดทางอาญาฐานหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 2 แสนบาทอีกด้วย หรือกรณีนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรนอกจากจะต้องเสียภาษีศุลกากรและเงินเพิ่มซึ่งเป็นโทษทางแพ่งแล้ว ผู้นำเข้ายังมีความผิดทางอาญาฐานหลีกเลี่ยงการเสียค่าภาษีศุลกากรตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ซึ่งมีโทษปรับเป็นเงิน 4 เท่าราคาของ ซึ่งได้รวมอากรเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำด้วย

ตัวอย่างคดีหนีภาษี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8456/2544

โจทก์อ้างว่าเงินที่โจทก์รับมาจำนวน 60,000,000 บาท เป็นเงินที่ผู้กู้นำมาชำระคืนแก่โจทก์ แต่โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุนข้อกล่าวอ้างดังกล่าว ต้องถือว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40 (8) โจทก์มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) สูงถึง 60,000,000 บาท แล้วไม่นำมายื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แสดงให้เห็นว่าโจทก์มีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษีให้แก่รัฐ พฤติการณ์ของโจทก์ดังกล่าวย่อมไม่มีเหตุสมควรให้งดหรือลดเบี้ยปรับ

คำพิพากษาศาลฎีกาฉบับนี้เป็นตัวอย่างของการหนีภาษีอากร (Tax Evasion) เพราะมีเงินได้ถึง 60 ล้านบาท แต่ไม่ยื่นรายการและเสียภาษี จึงต้องถูกเจ้าพนักงานประเมินให้เสียภาษีพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม โดยศาลไม่งดหรือลดเบี้ยปรับให้ และผู้เสียภาษียังมีความผิดอาญาฐานหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร มาตรา 37 ด้วย แม้เงินได้จำนวน 60 ล้านบาท จะมีที่มาจากการทุจริตประพฤติมิชอบในตำแหน่งหน้าที่ นอกจากจะมีความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญาและวินัยของข้าราชการแล้ว ยังต้องเสียภาษีและมีความผิดทางอาญาตามกฎหมายภาษีอากรด้วย ดังนั้นภาษีจึงใช้เป็นมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการได้

อนึ่ง เมื่อการหนีภาษีถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย การกระทำที่จะถือเป็นการหนีภาษีจึงต้องเป็นการกระทำที่กฎหมายบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ ฉะนั้นการหนีภาษีในประเทศหนึ่งจึงอาจจะไม่เป็นความผิดในอีกประเทศหนึ่ง ขึ้นอยู่กับว่าประเทศนั้นได้บัญญัติให้การกระทำนั้นเป็นความผิดฐานหนีภาษีหรือไม่

ขอบคุณบทความจากหนังสือคำสอนวิชากฎหมายภาษีอากรของเนติบัณฑิตยสภา ในพระบรมราชูปถัมถ์

ประมวลรัษฎากร

มาตรา 37 ผู้ใด

(1) โดยรู้อยู่แล้วหรือโดยจงใจ แจ้งข้อความเท็จ หรือให้ถ้อยคำเท็จ หรือตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ หรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดง เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรตามลักษณะนี้ หรือ

(2) โดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน หลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรตามลักษณะนี้

ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองแสนบาท

 

Thailand Web Stat