พิธาน องค์โฆษิต สานฝัน KCE ดันยอดขายแตะพันล้านเหรียญ
ไม่เพียงถูกจับตามองจากคนในวงการบันเทิงเท่านั้น แต่ “แอมป์พิธาน องค์โฆษิต” ยังถูกจับตามองจากแวดวงนักธุรกิจ ในฐานะทายาทรุ่น 2 ที่จะมาสานต่องานของ “บัญชา องค์โฆษิต” ผู้เป็นบิดา ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ (KCE) ผู้ผลิตและจำหน่ายแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) รายใหญ่ของเมืองไทย ซึ่งมีมูลค่ากิจการหลายพันล้านบาท
ไม่เพียงถูกจับตามองจากคนในวงการบันเทิงเท่านั้น แต่ “แอมป์พิธาน องค์โฆษิต” ยังถูกจับตามองจากแวดวงนักธุรกิจ ในฐานะทายาทรุ่น 2 ที่จะมาสานต่องานของ “บัญชา องค์โฆษิต” ผู้เป็นบิดา ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ (KCE) ผู้ผลิตและจำหน่ายแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) รายใหญ่ของเมืองไทย ซึ่งมีมูลค่ากิจการหลายพันล้านบาท
“พิธาน” จบปริญญาตรีด้านวิศวะคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ในปี 2548 และจบปริญญาโทบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยคอร์เนล ในปี 2552 แต่ทว่าในระหว่างที่เรียนโทอยู่นั้น เจ้าตัวมีโอกาสได้เข้าไปเรียนรู้งานด้านวาณิชธนกิจ (ไอบี) จาก “อภินันท์ เกลียวปฏินนท์” อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จนได้วิชาติดตัวมาช่วยกอบกู้สถานการณ์ของ KCE ในช่วงที่เผชิญกับวิกฤตซับไพรม์
“แอมป์” ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการ KCE เล่าว่า จริงๆ แล้วได้เข้ามาเรียนรู้งานที่บริษัทตั้งแต่ปี 2548 เขาเป็นคนเสนอตัวขอพ่อเข้ามาทำงานเอง เพราะเห็นว่าพี่ชายคนโต “อรรถสิทธิ์ องค์โฆษิต” มีความถนัดงานทางด้านคอมพิวเตอร์มากกว่างานบริหาร ส่วนน้องสาวคนสุดท้อง “ชุตินาถ องค์โฆษิต” ก็ชอบเรื่องโปรแกรมมากกว่างานเอกสาร
“ในช่วงแรกก็เข้ามาดูงานด้านวิศวกรรม หลังจากนั้นบริษัทประสบปัญหาด้านการขาย การกำหนดราคาสินค้า จึงเข้าไปช่วยปรับโครงสร้างต้นทุน ไปดูแลงานการตลาดมากขึ้น ต่อมาก็เข้าไปดูเรื่องบุคลากร เน้นพัฒนาคนในบริษัทให้มีประสิทธิภาพ เพราะเราต้องการคนที่รักงานและขยัน แต่ก็พยายามทำให้พนักงานเห็นด้วยว่าคนตั้งใจทำงานต้องได้ดี มีแรงจูงใจ ถ้าองค์กรไหนไม่สามารถทำให้พนักงานเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนได้ องค์กรนั้นไปไม่รอด”
บทบาทของ “พิธาน” ใน KCE โดดเด่นขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงที่เรียนปริญญาโทเทอมสุดท้าย บริษัทมีปัญหาด้านสภาพคล่อง กิจการขาดทุนหนักจากวิกฤตซับไพรม์ จนเจ้าตัวต้องขอลาอาจารย์กลับเมืองไทย 2 สัปดาห์ เพื่อเข้ามาช่วยคลี่คลายสถานการณ์ในบริษัทตามคำสั่งของ “บัญชา”
“ช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ บริษัทประสบปัญหาทางด้านการเงิน ผลประกอบการขาดทุน 300400 ล้านบาท เกิดความไม่สมดุลระหว่างหนี้สินระยะสั้นกับระยะยาว ตอนนั้นต้องเดินสายพบปะแบงก์เจ้าหนี้ พยายามเจรจาประนีประนอม และแสดงให้เขาเห็นว่า KCE ยังมีศักยภาพในการทำธุรกิจ มีโอกาสเติบโตต่อไปได้ ถึงแม้ว่าจะมีผลขาดทุน แต่กระแสเงินสดยังคงดีอยู่ ซึ่งวันนี้เราก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสามารถพลิกสถานการณ์กลับมาได้ และกลับมาทำกำไรได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2553”
“พิธาน” ยอมรับว่าในช่วงนั้นต้องเผชิญความยากลำบากพอสมควร เพราะกระแสเงินสดเริ่มมีปัญหา ขณะที่แบงก์ในประเทศถูกซื้อกิจการและเปลี่ยนมือไปเป็นของต่างชาติจำนวนมาก ทำให้ถูกตัดความช่วยเหลือทางด้านการเงิน โดยเฉพาะสินเชื่อระยะสั้นที่ถูกตัดขาดโดยสิ้นเชิง แบงก์ต่างชาติไม่ยอมให้เข้าไปเจรจาเลย แต่ก็มีแบงก์ไทยบางแห่งที่ยังเชื่อมั่นและให้การสนับสนุน KCE เป็นอย่างดี
“ผ่านวิกฤตครั้งนั้นมาได้ ไม่ใช่เพราะผมคนเดียว แต่เป็นเพราะบริษัทมีจุดแข็งและมีข้อดีของตัวเองอยู่แล้ว ผมเป็นแค่คนอธิบายให้แบงก์เกิดความเชื่อมั่น ทำให้เขาเห็นว่าบริษัทมีข้อดีอะไร และจะแก้ไขข้อเสียอย่างไร”
สำหรับเป้าหมายของ KCE ภายใน 4 ปีนี้ ตั้งเป้าเพิ่มยอดขายขึ้นเท่าตัว จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 7,500 ล้านบาท ซึ่งเจ้าตัวบอกว่ามีโอกาสเป็นไปได้สูง เพราะบริษัทเป็นซัพพลายเออร์ที่ลูกค้าให้ความไว้วางใจอันดับต้นๆ เพียงแต่ต้องวางระบบภายในให้มีประสิทธิภาพ และเดินหน้าก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ มูลค่ารวม 2,800 ล้านบาท ให้ได้ตามแผนที่วางไว้
“ความฝันของคุณ ‘บัญชา’ คืออยากเห็น KCE เป็นบริษัทที่มียอดขายระดับ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือโตขึ้นจากปัจจุบันอีก 4 เท่าตัว ถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ ก็ต้องบอกว่าถ้าเราโตตามแผนที่วางไว้ว่า 4 ปีโตขึ้นเท่าตัว ก็น่าจะใช้เวลาประมาณ 8 ปี ในการผลักดันยอดขายให้เป็นไปตามที่คุณพ่อวางไว้ ซึ่งดูแล้วเป็นไปได้ เพราะเรามีแผนธุรกิจค่อนข้างชัดเจน เช่น เรามีแผนสร้างโรงงาน 1 แห่งปีหน้า เพื่อดันยอดขายโตปีละ 25% หลังจากนั้นก็จะสร้างโรงงานเพิ่มอีก 2 แห่ง เพื่อเพิ่มยอดขายให้ได้ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ”
ส่วนแผนธุรกิจระยะสั้น คาดว่าในปีหน้ารายได้และกำไรน่าจะกลับมาทำสถิติสูงสุดใหม่อีกครั้ง หลังจากที่เคยทำได้ในปี 2553 ที่ 253 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 7,500 ล้านบาท และมีกำไร 534.62 ล้านบาท เพราะปีหน้าบริษัทจะกลับมาผลิตเต็มกำลังที่ 2.05 ล้านตารางฟุตต่อเดือน จากปัจจุบันที่ยังใช้กำลังผลิตไม่เต็มที่ เนื่องจากเพิ่งฟื้นตัวจากปัญหาน้ำท่วม
ขณะเดียวกันบริษัทได้ปรับปรุงการผลิตของโรงงานเคซีอี เทคโนโลยี ซึ่งมีกำลังผลิตเกือบ 50% ของกำลังผลิตรวม ซึ่งถูกน้ำท่วมในช่วงปลายปี 2554 ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการนำเข้าเครื่องจักรใหม่และลดจำนวนพนักงานลงจาก 2,300 คน เหลือ 1,6001,700 คน ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงและมีอัตรากำไรสุทธิสูงขึ้น โดยคาดว่าปีหน้าอัตรากำไรสุทธิของบริษัทน่าจะมากกว่า 10% จากปีนี้ที่คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 78% นอกจากนี้บริษัทจะเริ่มรับรู้กำไรจากการเข้าซื้อกิจการบริษัท เคมโทรนิคส์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) ปีละ 60 ล้านบาท
“พิธาน” บอกว่า โดยส่วนตัวเป็นนักธุรกิจที่ไม่ค่อยอนุรักษนิยม (คอนเซอร์เวทีฟ) เพราะอยากเห็นบริษัทเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งใกล้เคียงกับแนวคิดของคุณพ่อ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะขาดความระมัดระวัง ทุกอย่างที่ควรคอนเซอร์เวทีฟก็ต้องคอนเซอร์เวทีฟ แต่อะไรที่มองหลายรอบแล้ว เตรียมตัวแล้ว ก็ควรต้องเปิดโอกาสรับความเสี่ยง เพื่อแลกกับผลตอบแทนที่จะได้มากขึ้น
“ผมนำกฎของเมอร์ฟี (เมอร์ฟี ลอว์) มาปรับใช้กับการทำธุรกิจ เมอร์ฟี บอกว่า ‘ถ้าคุณไม่เห็นปัญหา แสดงว่าคุณไม่ได้ทำงาน’ ซึ่งจริงๆ แล้วปัญหามีอยู่ตลอด ถ้าเราไม่เห็นปัญหาแสดงว่าเรามองข้ามอะไรไปบางอย่าง และอาจสร้างความเสียหายได้ เช่น ถ้าเรามองว่าปีหน้าเศรษฐกิจดี เราก็ไม่ต้องทำอะไร แต่จริงๆ มันอาจมีปัญหาซ่อนอยู่ก็ได้ แต่ถ้าเรามองทุกอย่างให้มีปัญหา เราก็จะมีโอกาสได้ทำก่อน เตรียมตัวก่อน ซึ่งผมเชื่อในเรื่องการเตรียมตัว ถึงแม้จะพบปัญหาที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น น้ำท่วม หรือวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ถ้าเตรียมตัวไว้แล้วก็จะทำให้เราลุกขึ้นได้เร็วกว่าคนอื่น”
“พิธาน” ปิดท้ายว่า อยากเห็น KCE เป็นองค์กรที่อยู่ได้และโตได้ด้วยตัวเอง มีโครงสร้างทางบุคลากรที่เข้มแข็งเหมือนอย่างบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) และบริษัท ปตท. (PTT) ซึ่งเป็นองค์กรที่เติบโตได้ดีควบคู่ไปกับการดูแลพนักงาน ซึ่งจะนำไปสู่ความยั่งยืนในที่สุด