ชูมาตรฐาน GAP เสริมแกร่งสินค้าเกษตร
การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนปี 2558 ที่กำลังจะมาถึง เกษตรกรไทยจำเป็นต้องปรับตัวด้วยการสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพ
โดย...ชลธิชา ภัทรสิริวรกุล
การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนปี 2558 ที่กำลังจะมาถึง เกษตรกรไทยจำเป็นต้องปรับตัวด้วยการสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพ เน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการจัดการ เพิ่มขีดความสามารถด้านการผลิตและการแข่งขันของพืชสวนไทยสู่ตลาดสากล เพื่อรับกับการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)
แนวทางที่จะช่วยให้เกษตรกรไทยสามารถขายผลผลิตให้ได้ราคา ยกระดับไปสู่การตอบสนองความต้องการของตลาด จำเป็นต้องพัฒนาไปจากการทำเกษตรแบบดั้งเดิมที่พึ่งพาเพียงแค่สภาพดินฟ้าและอากาศ สู่การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตรเข้ามาร่วมปรับปรุงคุณภาพของผลผลิต สร้างมูลค่าเพิ่ม และลดต้นทุนการผลิตที่สูญเปล่า
บริษัท วีเอ็นยู เอ็กซิบิชั่นส์ เอเซีย แปซิฟิค ผู้จัดงานแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพืชพรรณ ผัก ผลไม้ ดอกไม้ และกล้วยไม้แห่งภูมิภาคเอเชีย หรือฮอร์ติ เอเชีย ได้จัดสัมมนาเกษตรก้าวหน้า ในหัวข้อ “ก้าวหน้า ก้าวไกล ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมปศุสัตว์และพืชผล” ขึ้นที่ จ.ระยอง เพื่อให้ความรู้แก่เกษตรกรไทย
ลัดดา มงคลชัยวิวัฒน์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท วีเอ็นยู เอ็กซิบิชั่นส์ กล่าวว่า ปัจจุบันแต่ละประเทศเริ่มพัฒนาศักยภาพของตัวเองเพื่อรับมือกับการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจที่จะเกิดในอนาคตอันใกล้ รวมถึงตลาดสินค้าเกษตรที่ตลาดทั้งในและต่างประเทศต่างให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของผลผลิตทั้งต่อผู้ผลิต ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม
สินค้าเกษตรที่จะทำการส่งออกไปยังประเทศต่างๆ นั้น จะต้องได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตที่ปลอดภัย (GAP) และมีคุณภาพที่ดี เพื่อตอบสนองตลาดในด้านความปลอดภัยของอาหารและลดการกีดกันทางการค้า ดังนั้นมาตรฐาน GAP จึงเป็นทางออกและทางรอดที่ดีของเกษตรกรไทยที่จะสามารถแข่งขันในระดับสากลได้
ปัจจุบันไทยเป็นผู้ผลิตผักและผลไม้สดส่งออกเป็นอันดับต้นๆ ของโลก นับเป็นมูลค่ารวมกว่า 8,000 ล้านบาท/ปี ในด้านผลไม้สด ไทยส่งออกเป็นอันดับ 6 ของโลก ส่งออกผักเป็นอันดับ 15 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชีย มีส่วนแบ่งการตลาดกว่า 60% จากตลาดรวมทั้งหมด ในด้านตลาดไม้ดอก ไม้ประดับ และกล้วยไม้ ไทยก็เป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับที่ 20 ของโลก โดยมีกล้วยไม้เป็นสินค้าส่งออกหลักที่ครองส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากเนเธอร์แลนด์
สมควร ศิริภักดี เจ้าของสวนผลไม้ผู้ใหญ่สมควร บ้านแลง ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP และได้รับสมญานามว่า “หมอดินระยอง” กล่าวว่า ที่ผ่านมาก็เคยทำการเกษตรสมัยใหม่ หรือเกษตรเชิงเดี่ยวมาก่อน ทำให้ต้องใช้ปุ๋ยเคมีในปริมาณที่เพิ่มขึ้นทุกปี แต่ได้ผลผลิตเท่าเดิม นอกจากจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นแล้ว ยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกายทั้งตัวผู้ผลิตและผู้บริโภค พอเกษตรอำเภอเข้ามาช่วยให้คำแนะนำว่าควรจะเปลี่ยนมาทำการเกษตรอินทรีย์ เพื่อให้ได้มาตรฐาน GAP จะทำให้การทำเกษตรอยู่ได้อย่างยั่งยืน
“ต้องใช้เวลา 3 ปี ในการปรับตัวให้พืชที่อยู่ในสวนด้วยการค่อยๆ ทยอยถอยการใช้สารเคมีให้น้อยลง เพื่อให้เกิดความสมดุล แรกๆ ก็เกือบท้อ เพราะผลผลิตที่ได้ลดลงไปเยอะเหมือนกัน แต่พอพืชอยู่ตัว ผลผลิตที่ได้กลับเพิ่มขึ้นจากเดิม แถมต้นทุนการผลิตยังลดลงถึง 30% เพราะไม่มีค่าใช้จ่ายเรื่องสารเคมี”
ผู้ใหญ่สมควร เล่าต่อว่า เมื่อการจัดการเกษตรของสวนปลอดสารเคมีในทุกกระบวนการ ผลผลิตที่ได้จากสวนก็ผ่านการรับรองมาตรฐานการผลิต หรือ GAP ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจในคุณภาพสินค้า และสินค้าเป็นที่ต้องการในตลาด ที่สำคัญราคาจำหน่ายก็ดีขึ้นตามไปด้วย อย่างที่เห็นได้ชัดคือ มังคุดร้อยปีของสวนผู้ใหญ่สมควรที่สามารถขายได้ในราคาสูงขึ้นจากเดิมถึง 34 เท่าตัว ปัจจุบันสวนผู้ใหญ่สมควรมีผลไม้ 5 ชนิดที่ได้รับมาตรฐาน GAP ได้แก่ เงาะ ทุเรียน มังคุด ลองกอง และมะปรางหวาน
สวนแห่งนี้ยังได้เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่ผู้บริโภคสามารถเข้ามาชมและชิมผลไม้สดๆ จากต้นได้เลย โดยแต่ละปีจะมีลูกค้าให้ความสนใจเข้ามาท่องเที่ยวในสวนแห่งนี้ไม่ต่ำกว่า 3,000 คน โดยเฉพาะช่วงเปิดสวน (มี.ค.พ.ค.ของทุกปี) จะทำให้มีรายได้เข้ามาไม่น้อยกว่าปีละ 67 แสนบาท หรือมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิม 50% ทีเดียว
นอกจากนี้ ผู้ใหญ่สมควรก็มีการส่งออกผลผลิตจากสวนที่ได้รับมาตรฐาน GAP ด้วย แต่ด้วยข้อจำกัด จึงสามารถส่งออกได้เพียงช่วงต้นฤดูกาลก่อนที่จะเปิดสวนให้ลูกค้าเข้ามาซื้อและชิมถึงสวน เพราะกลัวผลผลิตที่ได้จะไม่พอกับความต้องการของลูกค้า นี่อาจเป็นเสน่ห์ของสวนแห่งนี้ ที่ทำให้มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการไม่ขาดสายและเพิ่มขึ้นทุกปี
สมบัติ ตงเต๊า ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพืชสวน จ.จันทบุรี กล่าวถึงมาตรฐาน GAP เพิ่มเติมว่า มาตรฐาน GAP จะครอบคลุมในทุกๆ กระบวนการผลิตสินค้าเกษตร ตั้งแต่การเริ่มเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว และหลังการเก็บเกี่ยวไปจนถึงมือผู้บริโภค ดังนั้นหลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตได้แล้ว เกษตรกรจะต้องมีการจัดการเพื่อรักษาคุณภาพของผลผลิตให้สมบูรณ์ที่สุดจนกว่าจะขนส่งถึงมือผู้บริโภคด้วย นอกจากนี้สินค้าเกษตรทุกชิ้นที่ผ่านมาตรฐาน GAP จะต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงที่มาที่ไปตั้งแต่เริ่มการเพาะปลูกจนสิ้นสุดกระบวนการขนส่งได้ หากเกษตรกรและผู้ประกอบการทั้งหลายสามารถเข้าถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ที่เป็นมาตรฐานระดับโลกได้ และนำไปปรับปรุง พัฒนาการผลิตของตัวเอง ก็เชื่อว่าในอนาคตธุรกิจพืชสวนไทยจะสามารถปรับตัวเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงของตลาดได้โดยง่าย
นอกจากนี้ ระหว่างวันที่ 9-11 พ.ค. 2556 จะมีการจัดงานแสดงเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพืชพรรณ ผัก ผลไม้ ดอกไม้ และกล้วยไม้แห่งภูมิภาคเอเชีย หรือฮอร์ติ เอเชีย ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา โดยจะมีบริษัทผู้ผลิตและผู้จำหน่ายเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตรชั้นนำของโลกมาแสดงกว่า 400 บูธ