คุณคือประชากรโลกใช่หรือไม่
โดย...ภาววิทย์ กลิ่นประทุม ที่ปรึกษาการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน)
โดย...ภาววิทย์ กลิ่นประทุม ที่ปรึกษาการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน)
ทุกวันนี้มีการพูดถึง Gen Y หรือ Millennials ค่อนข้างมาก กลุ่มที่ว่าคือคนที่เกิดในช่วงปี 1980-2000 บ้างก็ว่าคนเหล่านี้เป็นพวกขี้เกียจ ไม่มีความอดทนในเรื่องใดๆ ทั้งสิ้น ไม่สามารถทำอะไรเป็นหลักเป็นแหล่ง เพราะคุ้นเคยกับความเร็วของคอมพิวเตอร์ และความไวบนโลกออนไลน์ แถมยังมีความคลุกคลีอยู่กับกลุ่มเพื่อนที่มีความสนใจเหมือนๆ กันบนโลกอินเทอร์เน็ต หรือกลุ่ม Social Network จนหลายๆ คนมองว่าคนเหล่านี้ได้กลายเป็น “มนุษย์ต่างดาวไปเสียแล้ว”
ณ ร้านอาหารแห่งหนึ่ง มีพ่อแม่ลูกที่มาทานอาหารร่วมกัน แต่ความเงียบสงบเข้าครอบงำ ทุกคนหยิบโทรศัพท์ Smartphone ของตัวเองขึ้นมา กด กด กด แล้วก็ก้มหน้าก้มตาอยู่ในโลกของตัวเอง และแล้วแม่ก็พูดขึ้นว่า ลูกจะทานอะไรดีจ๊ะ? คำตอบที่ชัดเจนคือ “อะไรก็ได้ครับ” ใช่!! “อะไรก็ได้” มันวนเวียนอยู่ในสมองของแม่ ทำให้เกิดคำถามมากมายว่า ทำไมมันถึงตอบว่า “อะไรก็ได้”
ปี 2013 นิตยสาร Time ได้ Cover ในปกว่า “The ME ME ME Generation” แล้วเจาะลึกในเรื่องของ Generation ต่างๆ ที่เรียกได้ว่า ขับเคลื่อนโลกของเราในช่วงเวลานั้นๆ ตั้งแต่กลุ่ม Missionary Generation (1860-1882) The Lost Generation (1883-1900) The Greatest Generation (1901-1924) The Silent Generation (1925-1942) Baby Boomers (1943-1960) Generation X (1961-1980) และ Generation Y “The Millennials” (1980-2000) ...สิ่งที่น่าสนใจคือ ทุกๆ Generation จะผ่านสภาวะแวดล้อมของการเติบโตที่ต่างกัน ซึ่งทั้งหมดหล่อหลอมค่านิยมและความคิดให้คนที่เกิดในช่วงเวลาดังกล่าวจะมี Pattern ที่คิดและดำเนินชีวิตที่คล้ายคลึงกัน
อย่างเช่น The Lost Generation เป็นกลุ่มคนที่เกิดในยุคที่โลกเกิดเศรษฐกิจดีสุดโต่งในยุค Roaring 20s และตามมาด้วย Great Depression ในช่วงที่คนเหล่านี้เริ่มเข้าสู่วัยกลางคน ก็เท่ากับว่าคนเหล่านี้มีจังหวะในชีวิตที่ดีเพียงช่วงวัยรุ่นและตอนหนุ่ม จากนั้นก็เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในเวลาที่เขาควรจะตั้งหลักและมีความมั่นคง และหลังจากนั้นเขาก็เข้าสู่วัยชราด้วยการเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 นี่แหละที่มาของชื่อ The Lost Generation เพราะดีตอนเด็ก ลำบากตอนหนุ่ม และซวยในยามแก่ ...คนเหล่านี้เป็นพ่อแม่ของกลุ่ม Baby Boomers ซึ่งเป็นกลุ่มที่ขับเคลื่อน Globalization ในโลกตะวันตกในยุคต่อมา
ถ้าเทียบในเมืองไทย ความแตกต่างอาจจะมีพอสมควร เพราะในบ้านเราการเข้าสู่เศรษฐกิจโลกมันเกิดขึ้นหลังอเมริกา และกลุ่ม Baby Boomers นี่เองที่เป็นกลุ่มเริ่มต้นของการนำประเทศไทยเข้าสู่ประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (“ไทย” โรงงานนรกแห่ง South East Asia) จากเดิมที่เราทำเกษตรกรรม โดยเป็นกลุ่มผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งถ้ามองในเริ่มแรก จะเห็นได้ว่าการเริ่มตั้งโรงงานของ Baby Boomers ในเมืองไทย ก็มาจากการได้ไปศึกษาในต่างประเทศ และได้รับการศึกษาในเรื่องของเทคโนโลยีและภาษา ทำให้คนเหล่านี้เป็นจุดเชื่อมระหว่างต่างชาติกับการเข้ามาลงทุนในประเทศไทย
สิ่งที่เราเห็นอย่างชัดเจนคือ ช่วงที่คนเหล่านี้เป็นวัยทำงาน มันเกิดวิกฤตเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ทำให้โรงงานการผลิตและเทคโนโลยีเริ่มต้นได้เริ่มย้ายเข้ามาในประเทศไทย และแน่นอนเราก็เริ่มจากการใช้แรงงานผลิตของราคาถูก เพื่อลดต้นทุนของบริษัทต่างประเทศให้ต้นทุนถูกและแข่งขันได้
ในยุคของ Baby Boomers จะมีความแตกต่างอย่างชัดเจน ระหว่าง ประเทศตะวันตกกับตะวันออกดังนั้น กลุ่ม Baby Boomers ที่โชคดี ที่ฐานะทางบ้านมีสตางค์ ก็สามารถไปเรียนในต่างประเทศ และได้เห็นสิ่งที่จะเกิดต่อไปในประเทศไทย สิ่งที่น่าสนใจคือ เราอาจจะมองว่าคนเหล่านี้โชคดีที่สามารถเห็นว่าทิศทางประเทศไทยต้องพัฒนาไปในรูปแบบไหน แล้วก็เลือกธุรกิจนั้นๆ เข้ามาในไทย โดยอาจจะลงทุนเอง หรือร่วมลงทุนกับต่างประเทศ การตั้งโรงงานเริ่มเกิดขึ้นอย่างมากมาย ทำให้ภาคเอกชนเริ่มเติบโตและมีความแข็งแกร่งมากขึ้น
ความชัดเจนของกลุ่มธุรกิจ หรือกลุ่มตระกูลเจ้าสัวที่ยังครองตลาดประเทศไทยถึงปัจจุบัน มันชัดเจนเมื่อเราเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งยุคนั้นเรียกได้ว่า “ล้มกระดานแล้วล้างเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของประเทศไทย” ซึ่งในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 1997 ก็เป็นช่วงที่ Generation X กำลังอยู่ในวัยทำงานและได้เรียนรู้จากวิกฤต
ณ วันนี้กลุ่ม Gen X เริ่มได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บริหารระดับสูง หรือแม่ทัพในองค์กรต่างๆ ในปัจจุบัน ซึ่งอาจพูดได้ว่าวันนี้เจ้าของซึ่งเป็นกลุ่ม Baby Boomers ได้เริ่มปูทางการสืบทอดกิจการ โดยการส่งไม้ต่อให้ Gen X เป็นคนรับช่วงบริหารในช่องว่าง และอีกหน้าที่ก็คือการเป็นครูฝึกของ Gen Y ซึ่งเป็นทายาทธุรกิจตัวจริงของเหล่าเจ้าสัว
ดังนั้น ในประเทศไทยกลุ่มที่น่าสนใจคือ Gen Y เพราะเป็นทายาทธุรกิจตัวจริงของตระกูลต่างๆ แถมยังเป็นกลุ่มที่ซับซ้อนที่สุด เนื่องจากกลุ่ม Gen Y ส่วนมากโตมากับการเติบโตของโลกออนไลน์ และ Social Network คำถามที่น่าสนใจคือ Gen Y พวกนี้มีโลกส่วนตัวสูง มีความคิดของตัวเอง และขี้เกียจจริงหรือ? ...เดี๋ยวเราต้องมาหาคำตอบกัน!!