โค้กรักน้ำ ที่บ้านลิ่มทอง
หากจะพูดถึงกิจกรรมซีเอสอาร์ แนวออกค่ายอาสาสมัคร ช่วยเหลือชุมชน ภาพแรกที่นึกถึงคงไม่มีใครเกินหน้าบริษัท โคคาโคลา
โดย...โยธิน อยู่จงดี
หากจะพูดถึงกิจกรรมซีเอสอาร์ แนวออกค่ายอาสาสมัคร ช่วยเหลือชุมชน ภาพแรกที่นึกถึงคงไม่มีใครเกินหน้าบริษัท โคคาโคลา ที่ช่วยเป็นสปอนเซอร์ให้กับนักศึกษาทำกิจกรรมออกค่ายมาอย่างต่อเนื่อง
จนมาวันนี้รูปแบบการทำกิจกรรมซีเอสอาร์เปลี่ยนแปลงไป องค์กรใหญ่เริ่มหันมาลงมือลงแรงทำกิจกรรมเพื่อสังคมด้วยตัวเองมากขึ้น บริษัท โคคาโคลา ประเทศไทย ก็เป็นหนึ่งในองค์กรใหญ่ที่ลงมือทำกิจกรรมเพื่อสังคมด้วยตัวเอง โดยหนึ่งในโปรแกรมนั้นดำเนินงานภายใต้ชื่อว่า “รักน้ำ”
บุษยดา ยังเฟื่องมนต์ กรรมการและเลขานุการ มูลนิธิโคคาโคลาประเทศไทย เล่าที่มาที่ไปของโครงการนี้ว่า กลุ่มธุรกิจโคคาโคลา ในประเทศไทย ได้ก่อตั้ง มูลนิธิโคคาโคลา ประเทศไทย เพื่อดำเนินงานกิจกรรมด้านความยั่งยืน (Sustainability) และริเริ่มโปรแกรม “รักน้ำ” นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เพราะโคคาโคลาก็ใช้น้ำเป็นองค์ประกอบหลักในการดำเนินธุรกิจ จึงมีเป้าหมายระดับโลกในการคืนน้ำสู่ชุมชนและธรรมชาติอย่างปลอดภัยในปริมาณเทียบเท่ากับปริมาณที่ใช้ในการผลิตเครื่องดื่มภายในปี 2563
ผ่านความร่วมมือกับ หน่วยงานราชการ องค์กรที่ไม่แสวงผลกำไร และชุมชนต่างๆ เพื่อกระตุ้นจิตสำนึก สร้างองค์ความรู้ อันนำไปสู่การจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งการดำเนินงานของโปรแกรม “รักน้ำ” ครอบคลุมพื้นที่ที่โคคาโคลาใช้น้ำในการผลิตเครื่องดื่มใน 8 จังหวัด ได้แก่ จ.ลำปาง นครสวรรค์ ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ ปทุมธานี สุราษฎร์ธานี และสงขลา
ล่าสุด กลุ่มธุรกิจโคคาโคลา ในประเทศไทย ได้ระดมพลังอาสาสมัครจำนวนกว่า 700 คนจาก “โครงการอาสาสมัครพลังบวกกับ โคคาโคลา” ลงพื้นที่พัฒนาต่อเนื่องที่ “ชุมชนบ้านลิ่มทอง” อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ หนึ่งในตัวอย่างชุมชนด้านความยั่งยืน เข้ามาช่วยในการจัดการแหล่งน้ำ ด้วยการใช้เทคโนโลยีและระบบการบริหารจัดการให้ชาวบ้านในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตั้งแต่การวิเคราะห์ปัญหาและบริหารจัดการน้ำร่วมกัน
เริ่มจากการสร้างระบบประปาผิวดิน เพิ่มแหล่งสำรองน้ำเพื่อการเกษตรให้กับชุมชนโดยการขุดสระแก้มลิง พัฒนาปรับปรุงคลองส่งน้ำ รวมถึง ขุดคลองซอยเพื่อเชื่อมแหล่งน้ำ และติดตั้งระบบน้ำดื่มโรงเรียนซึ่งช่วยให้นักเรียน ครู และบุคลากร มีน้ำดื่มที่สะอาด มีคุณภาพ ถูกสุขอนามัย จนทำให้ชุมชนสามารถลดค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำดื่มได้มากกว่า1 ล้านบาทต่อปี
สามารถปลูกพืชได้ทุกฤดูตามเกษตรทฤษฎีใหม่ จนได้รับถ้วยพระราชทานรางวัลชนะเลิศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการประกวดการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ เมื่อปี พ.ศ. 2554 ซึ่งเป็นการตอกย้ำความสำเร็จจากความร่วมมือของทุกฝ่ายในการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน
น้าน้อย สนิท ทิพย์นางรอง ผู้นำการจัดการน้ำชุมชนบ้านลิ่มทอง จ.บุรีรัมย์ เล่าว่าแต่ก่อนที่บ้านลิ่มทอง น้ำจะกินจะใช้ยังไม่ค่อยมี ขนาดขุดบ่อลึกถึง 89 เมตร ยังไม่ค่อยจะมีน้ำ
แต่พอเริ่มมีคลองส่งน้ำ ชีวิตดีขึ้น มีแรงบันดาลใจ อยากจะลุกขึ้นมาช่วยแก้ปัญหาให้ชุมชน พอเราทำประสบความสำเร็จแล้ว เราก็ส่งต่อแนวความคิดนี้ไปให้อีกชุมชนหนึ่ง ตอนนี้ขยายไป 32 ชุมชน รู้สึกภูมิใจมากเลยที่ได้ทำงานนี้ ตื้นตันใจมาก
ไม่เพียงแค่นั้น บุษยดา ยังเฟื่องมนต์ กรรมการและเลขานุการมูลนิธิโคคาโคลา ประเทศไทย ย้ำว่าแม้จะประสบความสำเร็จในการคืนน้ำสู่ธรรมชาติเกินกว่าปริมาณน้ำที่ใช้ในการผลิตเครื่องดื่ม แต่จุดมุ่งหมายและประเด็นสำคัญอยู่ที่ประโยชน์และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของชาวบ้าน และเราก็ภูมิใจที่ได้สร้างประโยชน์ให้ประชาชนกว่า 1 ล้านคน ทั้งทางตรงและทางอ้อมตลอด 6 ปีที่ผ่านมาและยังคงทำต่อไปในอนาคต