ก.ล.ต. เคลียร์ปม"ทักษิณ"ยืนยันทำงานเร็ว ออกเกณฑ์จำนำหุ้น-ทบทวน Uptick Rule
หลังจาก "ดร.ทักษิณ ชินวัตร" ขึ้นเวทีเสวนา Dinner Talk "Chat with Tony : Bull Rally of Thai Capital Market" ติงกระบวนการทำงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ และ ก.ล.ต.ว่ามีความล่าช้า พร้อมให้เดินหน้าเรียกคืนคำว่า TRUST และ CONFIDENCE กลับคืนมาในตลาดหุ้นไทย
"เอนก อยู่ยืน" รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ยืนยันว่ากระบวนการทำงานในปัจจุบันไม่ได้ช้า และค่อนข้างเร็วกว่าในอดีต แต่ทั้งนี้ ก.ล.ต.พร้อมเปิดรับฟังทุกความคิดเห็นและที่ผ่านมาได้ปรับกระบวนการทำงานตลอดเวลา
ทั้งนี้การดำเนินงานสำคัญของ ก.ล.ต. ในปี 2567 มีโครงการและมาตรการที่ดำเนินการแล้ว 73 โครงการ และเดินหน้าต่อเนื่อง 12 โครงการ เพื่อเสริมสร้างตลาดทุนให้มีความน่าเชื่อถือ (Trust and Confidence) เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญสู่เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Technology) พร้อมเป็นกลไกสำคัญสู่ความยั่งยืน (Sustainable Capital Markey) รวมถึงผู้ลงทุนมีศักยภาพในการสร้างสุขภาพทางการเงินที่ดี (Financial well-being/Long-term investment)
ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ สร้างความเป็นธรรมในธุรกรรม Short Selling (SS) และ Program Trading (PT) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเสริมสร้างตลาดทุนโปร่งใส โดยมีมาตรการกำกับดูแลธุรกรรม Short Selling ซึ่ง ตลาดหลักทรัพย์ฯเริ่มใช้มาตรการ Uptick Rule ในวันที่ 1 ก.ค.2567 พร้อมปรับปรุงคุณสมบัติหุ้นในกลุ่ม non-SET100 ที่สามารถขายชอร์ตได้ เพื่อจำกัดความผันผวนของราคาหลักทรัพย์
นอกจากนี้ มาตรการกำกับดูแล Program Trading การขึ้นทะเบียนเพื่อให้รู้ตัวตนลูกค้าและตรวจสอบได้ รวมถึงทบทวนพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ผ่านการเพิ่มลักษณะคำสั่งซื้อขายที่ไม่เหมาะสมให้ครอบคลุมพฤติกรรมการซื้อขายในปัจจุบัน เป็นต้น โดยวันที่ 1 ก.ค.2567 ตลาดหลักทรัพย์ฯกำหนดให้มีการขึ้นทะเบียนผู้ลงทุนที่ส่งคำสั่งซื้อขายด้วยความเร็วสูง (HFT) และวันที่ 2 ก.ย.2567 กำหนด Minimum Resting Time ทั้งนี้การซื้อขายด้วย Program trading ในเดือน ธ.ค.2567 อยู่ในระดับ 42.58% ใกล้เคียงกับช่วงก่อนใช้มาตรการขึ้นทะเบียน HFT
เมินยกเลิกชอร์ตเซล-ทบทวน Uptick Rule
ถามว่ามีโอกาสที่จะยกเลิกชอร์ตเซลหรือไม่ คิดว่าไม่ เพราะชอร์ตเซลเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เกิดกลไกราคาจลาด ทุกประเทศใช้ แต่ที่ผ่านมาอาจมีเพียงบางประเทศที่มีการหยุดใช้ชั่วคราวเท่านั้น สิ่งที่ต้องดูคือมาตรการที่ไทยใช้สัมฤทธิ์ผลหรือไม่อย่างไร
ทั้งนี้มาตรการในการยกระดับการกำกับดูแลต่างๆที่ออกมาก่อนหน้านี้ ต้องมีการทบทวนในหลายด้าน ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะมีการทบทวนยกเลิกการใช้เกณฑ์ Uptick Rule สำหรับหุ้นที่ถูก Short Selling หากสถานการณ์ไม่เหมาะสม ปัจจุบันอยู่ระหว่างให้ Third Party ช่วยประเมินและศึกษาข้อมูลที่ผ่านมา คาดว่าจะมีความชัดเจนในไตรมาส 1/2568
เคาะเปิดชื่อผู้บริหารจำนำหุ้น Q1/68
จากเหตุการณ์ที่ "ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนนำหุ้นไปจำนำ จนกระทั่งถูกบังคับขายหุ้น (Forced sell) ฉุดราคาหุ้นร่วงแรง" นั้น สำนักงาน ก.ล.ต.อยู่ระหว่างพิจารณาบังคับใช้กฎหมายให้เปิดเผยข้อมูล เพื่อผู้ลงทุนจะได้มีข้อมูลในการตัดสินใจและอาจมีมาตรการอื่นๆเพิ่ม แต่การให้ทุกคนต้องรายงานการจำนำหุ้นคงไม่ได้ ต้องพิจาณาว่าสัดส่วนธุรกรรมขนาดไหนถึงควรจะรายงาน, ความถี่ของการรายงาน และผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นควรเป็นผู้รายงานหรือไม่ ทั้งหมดทั้งมวลนี้ คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในไตรมาส 1/2568 ขยายจากเดิมที่คาดว่าจะชัดเจนในเดือน ธ.ค. 2567
"บทลงโทษ" หากเกิดกรณีที่ไม่ได้รายงานการจำนำหุ้นนั้น ในเบื้องต้นตามกฎหมายคาดว่าจะมีทั้ง "โทษปรับ และ จำคุก" คาดว่าจะเร่งดำเนินการสรุปชัดเจนในเร็ววันนี้ เนื่องด้วยเป็นกรณีเร่งด่วนที่ทุกคนให้ความสนใจอย่างมาก
"ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า การจำนำหุ้นสามารถทำได้ ไม่ผิดกฎหมาย ซึ่ง ก.ล.ต.จะเข้าไปตรวจสอบอะไร ต้องเป็นเคสที่สงสัยว่าผิด พรบ.หลักทรัพย์เท่านั้นจึงจะทำได้ และการออกกฎเกณฑ์อะไรก็ตามต้องพิจารณารอบด้านว่าจะกระทบคนส่วนใหญ่หรือไม่อย่างไร นี่คือเรื่องที่ ก.ล.ต.ให้ความสำคัญ"
CPAXT ไม่ผิด..แต่แปลก!
เวลาเราพูดถึงการทํารายการที่เกี่ยวโยงกัน (Related Parties Transaction : RPT) หรือ ธุรกรรมที่เกี่ยวโยงกัน เป็นเรื่องของการที่ทําธุรกรรม เช่น บริษัทจดทะเบียน หรือ บริษัทลูกของบริษัทจดทะเบียนเข้าไปทําธุรกรรมอะไรบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นใหญ่ ขอไม่ระบุว่าเป็นกรณีของ "บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) หรือ CPAXT" แต่หมายถึงภาพรวมของกฎเกณฑ์ ก็คือ การเข้าไปทําธุรกรรมอะไรบางอย่างเช่นไปซื้อหุ้น หรือ ซื้อกิจการของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับผู้บริหาร หรือ ผู้ถือหุ้นใหญ่ นี่จะเรียกว่า "RPT"
แต่การที่บริษัทจดทะเบียนไปร่วมหุ้นกับบริษัทหนึ่ง ซึ่งบริษัทจดทะเบียนไปจัดตั้งบริษัทขึ้นมา พร้อมกับร่วมลงทุนกับบริษัทนั้น อันนี้คือเรื่องการจัดตั้งบริษัท ไม่ใช่เป็นเรื่องของธุรกรรมโดยตรง ซึ่งที่ผ่านมาเวลาตัวผู้บริหารตัวบริษัทจดทะเบียนไปจัดตั้งบริษัทลูกขึ้นมา หากถือหุ้น 100% ถือเป็นบริษัทลูก 100% ไม่ได้มีปัญหา แต่ถ้าไปจัดตั้งบริษัทขึ้นมาแล้วมีผู้ถือหุ้นใหญ่เข้ามาถือหุ้นด้วย ลักษณะนี้ไม่ได้เรียกว่าเป็นธุรกรรม RPT เพราะถือว่าเป็นการร่วมมือกันจัดตั้งบริษัท
"เคสนี้คือทั้งสองฝั่งจัดตั้งบริษัทขึ้นมาแล้วร่วมลงทุนด้วยกันในบริษัทใหม่ที่จะตั้งขึ้นมา แต่สิ่งที่แปลกกว่าเคสทั่วไป คือ ปกติจะจ่ายเงินเข้ามา แต่เคสนี้ไม่ได้จ่ายเงิน คือ ฝั่ง CPAXT จ่ายเงินเข้ามา แต่อีกฝั่งหนึ่งจ่ายเป็นหุ้นของบริษัท"
ถามว่า..โอกาสที่บริษัทอื่นอาจจะใช้ช่องโหว่กฎเกณฑ์ดังกล่าว หรือไม่ ?
คงต้องกลับมาพิจารณาอีกครั้งหากมีการใช้เป็นช่องทางในการเลี่ยงอะไรที่มันไม่ถูกต้อง กระบวนการนี้คงจะต้องมาดูกฎเกณฑ์ว่าอาจจะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขอย่างไร ซึ่งสาระสําคัญของเรื่องนี้ต้องเข้าใจก่อนว่า RPT หรือธุรกรรมอะไรก็ตามสามารถทำได้ แต่หน้าที่ของการที่ถ้าทํา RPT ที่มีขนาดใหญ่ ควรให้ผู้ถือหุ้นมีสิทธ์มีเสียง นี่คือหลักคิดทั่วไป
แต่ไม่ว่าคุณจะไม่ให้ผู้ถือหุ้นมีสิทธิ์มีเสียงก็ตาม "กรรมการ" มีหน้าที่ในการดูแลสิทธิประโยชน์ของผู้ถือหุ้น ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต มีความรอบคอบระมัดระวังและคํานึงถึงประโยชน์ผู้ถือหุ้น สิ่งที่สําคัญตรงนี้ต่อให้ไม่เป็น RPT ถ้าทําธุรกรรมแล้วอธิบายไม่ได้ว่าตรงนี้ได้ทําหน้าที่ในการพิจารณาธุรกรรมอย่างรอบคอบแล้ว อาจจะนํามาสู่การที่กรรมการ และผู้บริหาร ที่เป็นคนอนุมัติทําธุรกรรมนั้นมีความผิดได้
"ทักษิณ" ไล่บี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ-ก.ล.ต. แก้ 7 ปมฟื้นเชื่อมั่น ดันตลาดกระทิง
ศึก DELTA-PTT ถล่มหุ้น! สะสม 4 หุ้นโหนกระแสเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์
5 ภารกิจสำคัญ ประธานบอร์ด ก.ล.ต. สู่การผลักดันตลาดทุนโต 2 เท่า GDPไทย
หุ้นไทย(ไม่)ไร้เสน่ห์! ตลท. ชู 4 จุดแข็งขับเคลื่อนตลาดหุ้นสู้ศึกภูมิภาค