เอกชนจี้รัฐปรับเนื้อหาร่างกม.นิรโทษ
สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยจี้ฝ่ายนิติบัญญัติปรับเนื้อหาร่างพ.ร.บ.นิรโทษให้เป็นไปตามหลักสากล หยุดการล้างผิดทุจริตคอร์รัปชัน
สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยจี้ฝ่ายนิติบัญญัติปรับเนื้อหาร่างพ.ร.บ.นิรโทษให้เป็นไปตามหลักสากล หยุดการล้างผิดทุจริตคอร์รัปชัน
นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยเปิดแถลงจุดยืนของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ซึ่งประกอบด้วย สภาหอฯ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย ว่า กกร.มีความเห็นร่วมกันต่อปัญหาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมที่กำลังนำไปสู่การเผชิญหน้าในสังคมอย่างกว้างขวางจึงขอให้ทุกฝ่ายดำเนินการเพื่อให้เกิดทางออกและนำไปสู่การคลี่คลายสถานการณ์โดยเร็วที่สุดเพื่อทำให้เกิดความเชื่อมั่นและความเข้มแข็งของเศรษฐกิจประเทศ
อย่างไรก็ตาม กกร.ยังไม่ได้มีมติว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยต่อพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเนื่องจากบางส่วนยังไม่ได้มีการสอบถามสมาชิกโดยเฉพาะส่วนของสมาคมธนาคารไทยและส.อ.ท. ซึ่งหลังจากนี้แต่ละส่วนจะไปแถลงจุดยืนของตนเองต่อไป แต่เห็นตรงกันว่าต้องการให้มีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร็วที่สุด
นายอิสระ กล่าวว่า สำหรับความเห็นของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ สมาคมการค้าและหอการค้าต่างประเทศต่อร่างกฏหมายนิรโทษกรรม เห็นว่า ต้องการให้ฝ่ายนิติบัญญัติได้ดำเนินการที่ถูกต้องต่อการพิจารณาร่างกฏหมายนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง ให้เป็นไปตามหลักสากลและไม่ส่งผลกระทบให้เกิดผลเสียหายต่อประเทศ
โดยตามกฏหมายได้มีการแปรญัตติเพิ่มเติมในมาตรา 3 ให้ครอบคลุมผู้กระทำความผิดในทางอาญา คดีทุจริตคอร์รัปชั่นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2547 จนถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2556 รวมระยะเวลากว่า 9 ปีซึ่งบางช่วงไม่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมือง ดังนั้นหอการค้าฯจึงเสนอแนวทางดังนี้
1.หากร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้มีผลบังคับใช้ จะส่งผลต่อการจัดอันดับความโปร่งใสและความน่าเชื่อถือของประเทศไทย ซึ่งจะกระทบต่อภาพลักษณ์ในการส่งเสริมการลงทุนของประเทศ รวมทั้ง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมดังกล่าว มีเนื้อหาสุ่มเสี่ยงขัดแย้งกับอนุสัญญาขององค์การสหประชาชาติเพื่อการต่อต้านทุจริต (United Nations Convention against Corruption : UNCAC 2003) ที่รัฐบาลไทยได้ให้สัตยาบันในการเข้าเป็นภาคี ไว้เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2554 ซึ่งจะส่งผลให้ขาดการยอมรับและความน่าเชื่อถือจากนานาอารยประเทศ
2.จะทำให้ประเทศขาดความเชื่อมั่นทำให้การลงทุนและธุรกิจจะขับเคลื่อนได้ยาก มีการเคลื่อนย้ายการลงทุนไปประเทศอื่น ส่งผลกระทบในระยะยาว เป็นการซ้ำเติมประเทศในขณะที่เศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้สูญเสียศักยภาพในการแข่งขัน รวมถึงกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลักทางเศรษฐกิจของประเทศในขณะนี้
3.การลบล้างความผิดตามมาตรา 3 ทั้งหมด จะทำให้ผลของคดีทุจริตคอร์รัปชั่นทั้งหมดที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2547 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2556 ทั้งที่มีการตัดสินคดีแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี จะได้รับการนิรโทษกรรมทั้งหมด ซึ่งเป็นการล่วงละเมิดระบบกระบวนการยุติธรรมของประเทศ และไม่เป็นธรรมกับคดีทุจริตอื่น ๆ ที่มิได้อยู่ในกรอบ พ.ร.บ.ฉบับนี้
4.ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวส่งผลให้เกิดความแตกแยก ขัดแย้ง และการเผชิญหน้า ในทางสังคมมากขึ้น รวมทั้งทำให้เกิดการทำลายระบบคุณธรรมของสังคมไทยอย่างร้ายแรง จึงควรให้คดีทุจริตคอร์รัปชั่นได้ดำเนินการไปตามขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นปกติ
"ขอให้ฝ่ายนิติบัญญัติ รัฐบาลและฝ่ายการเมืองที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการโดยพิจารณาทางออกที่รอบคอบและใช้ประโยชน์ของส่วนรวมของประเทศเป็นที่ตั้ง"นายอิสระ กล่าว