IVL แรงงานดีเด่น
บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) ผู้ประกอบธุรกิจในผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีแบบครบวงจรทั้งในประเทศและต่างประเทศ
บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) ผู้ประกอบธุรกิจในผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีแบบครบวงจรทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่มีโรงงาน 42 แห่ง ใน 15 ประเทศ เป็นพนักงานคนไทย 3,000 คน และพนักงานทั่วโลกกว่า 9,000 คน มีการจัดการด้านแรงงานอย่างดี โรงงาน IVL ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยทั้ง 4 แห่ง ได้รับรางวัลสถานประกอบการดีเด่นด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการแรงงานประจำปี 2556 อีกทั้งบริษัทย่อยในกลุ่มอินโดรามา เวนเจอร์ส 7 แห่ง ยังได้รับรางวัลสถานประกอบการรวมพลังสร้างความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นสุขอย่างยั่งยืน (CSRDIW) ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม
บางโรงงานได้รับรางวัลสถานประกอบการดีเด่นด้านแรงงานสัมพันธ์และสวัสดิการแรงงานต่อเนื่อง 39 ปีติดต่อกัน สำหรับรางวัล CSRDIW Award มีกรอบสาระหลัก 7 ประการ ตามมาตรฐาน ISO 26000 ประกอบไปด้วย การกำกับดูแลองค์กร สิทธิมนุษยชน การปฏิบัติด้านแรงงาน สิ่งแวดล้อม การปฏิบัติอย่างเป็นธรรม ผู้บริโภค และการมีส่วนร่วมต่อสังคมและชุมชน
นอกจากนี้ เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา ยังได้รับรางวัล Sustainability Excellence Award จากหอการค้าเนเธอร์แลนด์ไทย และหอการค้าเบลเยียมลักเซมเบิร์ก อีกด้วย
ความโดดเด่นของ IVL นั่นคือ การให้ความสำคัญกับภาคแรงงานและซีเอสอาร์เป็นอย่างมาก “ริชาร์ด โจนส์” หัวหน้าฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร IVL ให้มุมมองต่อเรื่องนี้ว่า เพราะบริษัทให้ความสำคัญกับรูปแบบการดูแลพนักงานและแรงงานในต่างประเทศมาใช้ในโรงงานไทยเช่นเดียวกัน
เขากล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทไทยมีการดูแลและพัฒนาที่เร็วกว่าในต่างประเทศมาก ซึ่งบริษัทก็ได้ให้อิสระกับโรงงานแต่ละแห่งในการดูแลแรงงานของตัวเอง ตั้งแต่เรื่องการจัดกิจกรรมต่างๆ หรือการสานสัมพันธ์ระหว่างพนักงาน รวมถึงการจัดสภาพแวดล้อมให้เป็นสีเขียวรอบโรงงาน และสิ่งที่บริษัทมีความภูมิใจ คือ โรงงานอินโดรามา ปิโตรเคมี สามารถลดการเกิดอุบัติเหตุภายในโรงงานเป็น 0% และเมื่อมีการขึ้นค่าแรงงานที่ผ่านมา IVL ก็ไม่มีปัญหา เพราะว่าบริษัทมีการจ่ายค่าแรงรายวันที่มากกว่า 400 บาทต่อวันอยู่แล้ว
ด้านแรงงานสัมพันธ์ก็มีความใกล้ชิดกันต่อเนื่อง เพราะ “อาลก โลเฮีย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทและระดับผู้บริหารได้ร่วมเดินทางไปร่วมพบปะและทำกิจการกับพนักงานอยู่เป็นประจำทุกไตรมาส และถ้าพนักงานมีอะไรก็สามารถส่งต่อเรื่องราวได้
“แม้ผู้บริหารจะเป็นต่างชาติ แต่วัฒนธรรมขององค์กรที่นี่จะมีความยืดหยุ่นเพื่อให้เข้ากับสภาพแวดล้อมขององค์กรหรือโรงงานในแต่ละที่มากกว่า แต่โดยหลักของไทยแล้วจะยึดแนวทางปฏิบัติแบบไทย 90% และมีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม วัฒนธรรม ระหว่างกัน ซึ่งล่าสุดได้มีการให้ข้อมูลเรื่องวัฒนธรรมไทย อินเดีย ระหว่างกันมากขึ้น เพื่อให้พนักงานรับรู้ได้เอาใจเขามาใส่ใจเรา แม้เราจะมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน แต่หากเราเปิดตาเปิดใจกันแล้ว เราสามารถร่วมกันทำงานได้ และยังมีโครงการที่ภรรยาของผู้บริหารที่จะเข้ามาช่วยสอนภาษาอังกฤษให้กับลูกหลานพนักงานบริษัทอย่างต่อเนื่อง” ริชาร์ด กล่าว
อย่างไรก็ดี เหตุผลส่วนหนึ่งที่บริษัทให้ความสำคัญกับแรงงาน เพราะมองว่าที่บริษัทเติบโตขึ้นมาได้เพราะพนักงานทุกภาคส่วนเกี่ยวข้องกันโดยเฉพาะระดับแรงงาน เพราะถ้าไม่มีแรงงานผู้บริหารหรือบริษัทก็ทำงานกันไม่ได้ ความสำเร็จขององค์กรอยู่ที่ระดับปฏิบัติก็ยังถือเป็นฟันเฟืองสำคัญ ดังนั้นหัวหน้าหรือผู้บริหารต้องเป็นคนมองและกะเทาะคุณค่าของพนักงานแต่ละคนออกมาให้ได้มากที่สุด
สำหรับเรื่องการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมนั้น บริษัทจะมีการทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง อาทิ พนักงานโรงงานที่ระยองและส่วนกลางจากกรุงเทพฯ ก็จะมีการช่วยกันเก็บขยะริมหาดแม่รำพึงในทุก 3 เดือน ซึ่งถือว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัด โดยขยะที่ช่วยกันเก็บได้มาแต่ละครั้งประมาณ 4 ตัน
“ริชาร์ด” มองว่า ในอนาคตสิ่งที่บริษัทพยายามจะผลักดันและทำให้เกิดขึ้นมากที่สุดคือการให้พนักงานทุกระดับมีความเข้าใจและเห็นถึงความถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องคอร์รัปชั่นเป็นสิ่งสำคัญทั้งในระดับบุคคล องค์กร และลูกค้าที่ต้องทำการค้าขายด้วย เพราะทั้งหมดจะทำให้ต่างฝ่ายต่างมีความเชื่อมั่นในการทำงานให้แก่กันและกัน ตั้งแต่พนักงานก็จะเชื่อมั่นว่าผู้บริหารจะดูแลเขา และหากผู้บริหารมีความเชื่อมั่นในตัวพนักงาน พนักงานก็จะรู้สึกว่าเขาได้รับความไว้วางใจ เมื่อต่างฝ่ายไว้ใจซึ่งกันและกันและยึดมั่นในความถูกต้องเหมือนกัน ทุกอย่างก็ราบรื่น
การที่ IVL เติบโตได้อย่างดี เพราะบริษัทให้ความสำคัญกับการ “สื่อสาร” กันในองค์กร โรงงาน และบริษัทในเครือทั้งในและต่างประเทศ เพราะถือคติว่า “ถ้าเขารู้ว่าเราทำอะไร เขาจะรู้สึกสบายใจ และเข้าใจว่าองค์กรต้องการเดินไปในทิศทางไหน”