posttoday

โสฬส สาครวิศว เอ็มดีโกลเบล็ก โฮลดิ้ง

17 เมษายน 2557

บริษัท โกลเบล็ก โฮลดิ้ง แมนเนจเม้นท์ (GBX) บริษัทแม่ของบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โกลเบล็ก เพิ่งได้ “โสฬส สาครวิศว” มาเป็นกรรมการผู้จัดการ เมื่อวันที่ 14 ม.ค.ที่ผ่านมา

บริษัท โกลเบล็ก โฮลดิ้ง แมนเนจเม้นท์ (GBX) บริษัทแม่ของบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โกลเบล็ก เพิ่งได้ “โสฬส สาครวิศว” มาเป็นกรรมการผู้จัดการ เมื่อวันที่ 14 ม.ค.ที่ผ่านมา

จากเด็กที่เลือกเรียนเศรษฐศาสตร์มาโดยมิได้ตั้งใจ เพียงเพราะเอนทรานซ์ไม่ติดคณะวิศวะหรือหมอตามสมัยนิยม และเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงตามคำแนะนำของคนอื่น ก็เริ่มรู้สึกชอบและเข้าใจวิชาเศรษฐศาสตร์ คือ การจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้สมดุลกับความต้องการของมนุษย์ที่มีอยู่ไม่จำกัดและมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันกับทุกคน

จบมาก็ได้ทำงานที่ธนาคารเอเชียในสายงานวิชาการที่ทำให้เขาได้เรียนรู้การวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค พอย้ายมาสายงานต่างประเทศ ทำให้รู้วิธีการชำระราคาตามกำหนดเวลาและเงินตราสกุลเงิน (เปิด L/C) การนำเข้าและการส่งออก และอัตราแลกเปลี่ยน หลังจากนั้นย้ายมาทำงานที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาโดยช่วยบุกเบิกส่วนค้าเงิน

ต่อมาได้เรียนรู้การแปลงหนี้ตอนทำงานที่ธนาคารศรีนครด้วยการปรับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เปลี่ยนเป็นสินทรัพย์ที่ดีจนสามารถสร้างกำไรได้ และเมื่อธนาคารศรีนครควบรวมกับธนาคารนครหลวงไทย ในตำแหน่งสูงสุด คือ ที่ปรึกษารองกรรมการผู้จัดการใหญ่

พร้อมบทบาทใหม่เป็น กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) จากช่วงแรกในฐานะผู้ชำนาญการ และรับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ เพราะมีโอกาสช่วยแก้ปัญหาเรื่องตราสารอนุพันธ์ที่ถูกปรับ 3,000 ล้านบาท

ที่นี่ “โสฬส” บอกว่า การที่เอสเอ็มอีต้องมาขอกู้เงินกับธนาคารก็เหมือนการเข้าโรงพยาบาล เพราะธนาคารมีหน้าที่ช่วยพลิกฟื้นกิจการจากความอ่อนแอจนกลายเป็นคนสมบูรณ์มากที่สุด ธนาคารเองต้องสามารถอยู่ได้โดยอย่าหวังกำไรมาก เพราะหน้าที่หลักคือช่วยพยุงเอสเอ็มอีให้อยู่รอดได้ ขณะเดียวกันต้องพยุงไม่ให้ตัวเองขาดทุนเพื่อไม่เป็นภาระกับทางการ ซึ่งช่วงนั้นโสฬสได้พ่วงเป็นกรรมการตรวจสอบให้ บล.โกลเบล็ก ด้วย

แต่เขาไม่สามารถอยู่ครบเทอมที่เอสเอ็มอีแบงก์ได้ จนถึงวันนี้ยังมีการฟ้องร้องที่ยังไม่สิ้นสุด แต่ความกระตือรือร้นและยังไม่ถึงวัยที่จะเกษียณ ได้ดูเรื่องทองคำในฐานะผู้ผลิตและจำหน่ายทองคำในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จีแคป หรือเครื่องประดับค้าส่งของร้านทองจิ้นไถ่เฮง ซึ่งงานนี้เขาไม่ต้องปรับตัวอะไรมากนัก เพราะมีความถนัดเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนที่เกี่ยวข้องกับราคาทองคำอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว

ถือได้ว่า “โสฬส” เป็นนักบริหารการเงินและคลุกคลีเรื่องตลาดเงิน ตลาดทุน อัตราแลกเปลี่ยน และสินค้าโภคภัณฑ์มาโดยตลอดกว่า 30 ปี ของการทำงาน ซึ่งเขาบอกว่า หลักการทำงานว่ากันไปตามทฤษฎีตามหลักเศรษฐศาสตร์ที่พยายามให้ทุกอย่างทั้งตลาดเงิน ตลาดทุน อัตราแลกเปลี่ยน และโภคภัณฑ์อย่างใดอย่างหนึ่งต้องได้อัตราผลตอบแทนที่มากน้อยแตกต่างกัน แต่ทั้งหมดมาจากหลักความสมดุลในตัวของมันเอง แต่ความจริงบนโลกนี้ไม่มีอะไรที่เป็นไปตามทฤษฎีเป๊ะๆ ประสบการณ์และความเชี่ยวชาญจะทำให้ได้เรียนรู้วิธีการและมีขั้นตอนในการบริหารของตัวเอง

ทว่า ล่าสุดเมื่อได้มาเป็นเอ็มดีใหม่ของ บริษัท โกลเบล็ก โฮลดิ้ง แมนเนจเม้นท์ แม้จะออกศึกหลายสถานการณ์ แบงก์ล้ม ผ่านวิกฤตการเมืองและเศรษฐกิจมาหลายรอบ แต่ครั้งนี้ถือเป็นเรื่องท้าทายมาก เพราะปัญหาของประเทศตอนนี้เป็นปัญหาที่ซึมลึกนาน ประกอบกับการแข่งขันในอุตสาหกรรม ในธุรกิจหลักทรัพย์ก็มีความรุนแรงมาก

ที่สำคัญภาวะเศรษฐกิจได้ชะลอตัวมาก จนส่งผลกระทบให้อำนาจการซื้อหายไปในทุกอุตสาหกรรม ทำให้นโยบายในปีนี้คือเลือกที่จะหั่นต้นทุนค่าใช้จ่ายทุกอย่างที่เป็นไปได้ เพราะเชื่อว่าสถานการณ์เช่นนี้การที่จะรักษารายได้และกำไรให้เท่ากับปีก่อนนี้สามารถทำได้ แต่หากบริษัทสามารถลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลงได้อีกก็จะส่งผลดีกับกำไรได้มากขึ้น เช่น ลดการทำโปรโมชั่นและการทำการตลาดระดับรากหญ้าที่ต้องใช้งบลงทุนมาก โดยจะหันไปทำการตลาดที่เข้าไปเคาะประตูบ้านกับลูกค้าโดยตรง ทั้งลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่ เพื่อให้ได้มูลค่าการซื้อขายมากขึ้นทั้งในธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจทองคำ

ขณะเดียวกัน ต้องขยายงานจากจุดแข็งที่บริษัทเป็นโฮลดิ้งอยู่แล้วจึงมีความคล่องตัวในการบริหารงาน เพียงแต่ที่ผ่านมายังไม่สามารถใช้จุดแข็งที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำ จึงหวังจะเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสให้ได้ ซึ่งระหว่างนี้รอจังหวะคัดเลือกธุรกิจที่เห็นว่าจะสร้างมูลค่าให้กับบริษัทในอนาคตได้ ส่วนรูปแบบมีความเป็นไปได้หมดที่จะเข้าไปร่วมทุนหรือซื้อกิจการ ซึ่งปัจจุบันมีการเจรจาแล้ว 45 แห่ง และคาดว่าจะได้ข้อสรุป 1 แห่ง ภายในปีนี้

สำหรับชีวิตส่วนตัวเขาบอกว่าด้วยหน้าที่รับผิดชอบอาจทำให้มีเวลาออกกำลังกายโดยการออกรอบตีกอล์ฟหรือตีเทนนิสได้น้อยลง แต่ก็พยายามจะออกรอบตีกลอ์ฟให้ได้ 12 ครั้งต่อสัปดาห์ เพราะเชื่อว่าสุขภาพแข็งแรงไม่สามารถขอจากใครได้แต่ขึ้นอยู่กับการกระทำ ใครทำใครได้

นี่คือมุมมองของผู้บริหารนักบริหารการเงินและตลาดทุนในวัย 58 ปี