posttoday

กสิกรฯรุกตลาดให้ความรู้การเงินทุกระดับ

11 สิงหาคม 2557

ทักษะความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) ของคนไทย ในปี 2556 ที่รั้งท้าย

โดย...ทีมข่าวการเงินโพสต์ทูเดย์

ทักษะความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) ของคนไทย ในปี 2556 ที่รั้งท้ายอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 14 ประเทศ จากผลสำรวจโดยองค์การเพื่อความ ร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) สอดคล้องไปกับปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยที่เพิ่มขึ้นไปแตะ 82.7% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในไตรมาสแรกปีนี้ หรือสูงเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศอาเซียน รองจากมาเลเซีย

ข้อมูลทั้งสองส่วนที่เชื่อมโยงกันนี้ พอจะสะท้อนภาพการเงินของไทยได้ไม่น้อยว่า ภาวะทางการเงินของคนไทยโดยส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางใด

หากมองด้านลบ นี่คือสัญญาณที่ไม่น่าไว้วางใจ เพราะแม้ภาวะเศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น จนอาจช่วยให้คนไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ระดับหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีลดลงได้ภายในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ แต่ปัญหาเรื่องหนี้สินของประชาชนจะไม่สามารถบรรเทาเบาบางลงได้อย่างแท้จริง ตราบใดที่ไม่มีการให้ความรู้ด้านการเงิน รวมทั้งเสริมสร้างวินัย และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางการเงินของคนในชาติ

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เหมือนในประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งมีหนี้ครัวเรือนที่ระดับ 1,024.8 ล้านล้านวอนในไตรมาสแรกของปีนี้ สูงมากจนกระทั่งรัฐบาลเกาหลีใต้ต้องประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติมาแล้ว

ทว่า หากมองด้านบวก นี่คือ “โอกาส” โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ที่ยังสามารถเจาะตลาดการเป็นผู้ให้ความรู้และคำปรึกษาทางการเงิน นอกเหนือจากการให้บริการทางการเงินในปัจจุบัน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า นอกจากธนาคารพาณิชย์จะได้ประโยชน์ทั้งในแง่การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางการเงินแล้ว ยังถือเป็นการทำการตลาดที่ทำให้ได้ภาพลักษณ์ ที่ดีกลับคืนมามากกว่าการขายผลิตภัณฑ์ด้วย

ปัจจุบันบริการให้คำปรึกษาทางการเงินของธนาคารโดยส่วนใหญ่ ยังจำกัดอยู่ในกลุ่มคนรวยและบรรษัท แต่สำหรับกลุ่มประชาชนทั่วไปนั้น ยังอยู่ในลักษณะของการให้ความรู้ทางการเงินตามโอกาสหรือโครงการที่จัดทำขึ้น เช่น ธนาคารซิตี้แบงก์ ที่ร่วมมือกับสถาบันคีนัน จัดทำโครงการให้ความรู้ทางการเงิน ระยะเวลา 3 ปี ขณะที่ธนาคารกรุงเทพตระเวนเดินสายให้ความรู้ทางการเงินภาคประชาชนตามจังหวัด หัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ

ทว่า ที่ดูจะทำอย่างครบเครื่องเป็นระบบมากที่สุดและอยู่ในการรับรู้ของคนในวงกว้าง กลับเป็นธนาคาร กสิกรไทย ที่ดำเนินโครงการ KExpert มาได้ครบ 2 ปีเต็ม และให้บริการไปแล้วกว่า 1 ล้านราย โดยมีเป้าหมายขึ้นเป็นธนาคารที่ปรึกษา (Advisory Banking) ที่ครอบคลุมบุคคลทุกกลุ่ม

หากดูกลยุทธ์ของเคแบงก์แล้ว จะเห็นได้ว่าโครงการ KExpert มีการผสมผสานระหว่างการให้บริการคำปรึกษา (Advisory) การให้ความรู้ (Knowledge) และการให้ข้อมูล (Information) ทำให้ไม่ต้องจำกัดตัวเองอยู่แต่ในกรอบของการให้ความรู้ทางการเงิน เหมือนการสอนหนังสือไฟแนนซ์เพียงอย่างเดียว

หากแยกรายละเอียดข้อมูลทั้ง 3 ด้านนี้ จาก ผู้ได้รับบริการไปแล้วถึง 1 ล้านคน พบว่า มีผู้สนใจรับบริการประเภทข้อมูลมากที่สุดราว 6 แสนคน ส่วนใหญ่ผ่านช่องทางเว็บไซต์และโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นช่องทางที่สะท้อนว่า กลุ่มคนที่ขวนขวายหาข้อมูลการเงินเพื่อวางแผนชีวิตตัวเองนั้น ส่วนใหญ่ ยังเป็นชนชั้นกลางรายได้ปานกลางขึ้นไป เพราะเป็นกลุ่มที่ปกติแล้วสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และสามารถเลือกข้อมูลจากหลายธนาคารเพื่อเปรียบเทียบและตอบโจทย์ให้ตรงกับตัวเองได้มากที่สุดอยู่แล้ว

ทั้งนี้ ช่องทางที่เป็นโจทย์ใหญ่กว่าสำหรับเคแบงก์ จึงอยู่ที่บริการให้คำปรึกษา ที่มีผู้รับบริการกว่า 3 แสนราย โดยจะเน้นการสื่อสารโดยตรงระหว่างบุคคลผ่าน 3 รูปแบบ คือ ผ่านสายตรงคอลเซ็นเตอร์ ผ่านอีเมล และผ่านสาขา โดยเคแบงก์จะมีการเพิ่มพนักงานเป็น 4,000 คน ภายในสิ้นปี 2557 จากปัจจุบันที่มีอยู่กว่า 3,000 คน เนื่องจากสังคมไทยยังให้น้ำหนักที่การพูดคุยแบบเห็นหน้า โดยเฉพาะเมื่อต้องการขอรับคำปรึกษาหรือการแก้ปัญหาทางการเงินต่างๆ โดยตลอด 2 ปีที่ผ่านมา เคแบงก์ได้ให้คำปรึกษาที่สาขาเฉลี่ยแล้วเดือนละ 1 หมื่นราย ขณะที่การปรึกษาผ่านอีเมลเฉลี่ยเพียงเดือนละ 300 ฉบับ

ปกรณ์ พรรธนะแพทย์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ผู้มาติดต่อขอรับบริการส่วนใหญ่ มักปรึกษาเรื่องการปลดหนี้หรือลดหนี้ สอดคล้องกับภาวะหนี้ครัวเรือนของไทยที่ขยับเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 23 ปีที่ผ่านมา รองลงมาเป็นการปรึกษาเรื่องการลงทุน การวางแผนภาษี และความต้องการมีบ้านเป็นของตัวเอง

“การให้บริการที่สาขาเป็นเรื่องสำคัญ เรามีแผนจะเพิ่มผู้เชี่ยวชาญ KExpert ให้ถึง 4,000 คน ในทุกสาขาราว 1,145 สาขา ภายในปลายปีนี้” ปกรณ์ กล่าว

ขณะที่ช่องทางการให้ความรู้ เช่น กิจกรรมสัมมนา โรดโชว์ และเวิร์กช็อป ที่ยังมีผู้รับบริการอยู่เพียง 1 แสนราย จะมีการปรับให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของคนทุกระดับ ทั้งการสัมมนาการลงทุนในรูปแบบทั่วไป จนถึงการนำนักร้องนักแสดงตลกมาร่วมจัด โรดโชว์ในรูปเอ็ดดูเทนเมนต์ (Edutainment) เพื่อดึงดูดประชาชนโดยเฉพาะในต่างจังหวัด เพื่อให้เข้าถึงเรื่องการเงินและการลงทุนได้ง่ายขึ้น

หากดูกลยุทธ์ของเคแบงก์ในการก้าวสู่การเป็นธนาคารที่ปรึกษาของคนทุกกลุ่มนั้น เบื้องต้นอาจ ตอบโจทย์ของคนในกลุ่มประชาชนทั่วไปได้มากขึ้นกว่าที่ผ่านๆ มา ทิศทางนี้สอดคล้องกับรูปแบบของประเทศกำลังพัฒนาทั่วเอเชีย ที่ความมั่งคั่งจะกระจายออกไปมากขึ้นตามการขยายตัวของสังคมชนชั้นกลาง เห็นได้จากตัวอย่างกลุ่มลูกค้าของ KExpert ที่มักปรึกษาทางการเงินในเรื่องการปลดหนี้ การลงทุน และการซื้อสินทรัพย์ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มบุคคลในสาขากรุงเทพฯ ที่มีมากถึง 65% ขณะที่เป็นการรับการปรึกษาจากสาขาในต่างจังหวัด 35% นั้น ทำให้เห็นการตอบโจทย์ของแบงก์พาณิชย์ ที่ปรับตัวดีขึ้น

แม้ว่าบริการดังกล่าวจะยังไม่ลงถึงตลาดล่างอย่างแท้จริง และน่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก แต่ก็เป็นสัญญาบวกเบื้องต้นที่เริ่มสะท้อนถึงการเข้าหาความรู้ทางการเงินของคนไทยมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา ในวันที่สังคมต้องหันมาปฏิรูปความรู้และสร้างวินัยทางการเงินอย่างแท้จริง