posttoday

Tea Phanaa จากป่าเมี่ยงสู่ชาชงเมืองน่าน

27 กุมภาพันธ์ 2558

ชุมชนบ้านศรีนาป่าน-ตาแวน ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่านาซาว บริเวณห้วยหลวง อ.เมือง จ.น่าน เดิมชื่อบ้านป่าเมี่ยง

โดย...วิรัชชัย พงษ์เกาะ

ชุมชนบ้านศรีนาป่าน-ตาแวน ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่านาซาว บริเวณห้วยหลวง อ.เมือง จ.น่าน  เดิมชื่อบ้านป่าเมี่ยง ชาวบ้านจากแคว้นสิบสองปันนาซึ่งได้อพยพย้ายมาอยู่ที่บ้านป่าเมี่ยงประมาณปี 2019 ชอบกินเมี่ยง ได้นำพันธุ์เมี่ยงติดตัวมาปลูกในพื้นที่นี้ด้วย กระทั่งเมี่ยงเป็นที่ชื่นชอบของชาวบ้านและเป็นพืชบรรพบุรุษตกทอดมายังรุ่นลูกหลานมานานนับร้อยปี

บุญทวี ทะนันไชย ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตภัณฑ์ชาและส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศศรีนาป่าน-ตาแวน บอกว่า ตอนนี้ก็ 500 กว่าปีแล้วที่เมี่ยงปลูกบนเนื้อที่กว่า 2 หมื่นไร่ ของห้วยหลวง เมี่ยงถือเป็นพืชบรรพบุรุษที่มีอายุยาวนานสูงสุด 500 ปี ต่ำสุดก็ 50-60 ปี ติดที่พื้นที่ทำกินน้อย คนจึงปลูกข้าวศรีนาป่านและชาเมี่ยงคู่กันไป เมื่อข้าวตั้งรวงเมี่ยงก็แตกยอดพอดี

มาถึงช่วงปี 2550 ประสบวิกฤต เด็กรุ่นใหม่ไม่สืบทอด ชาวชุมชนจึงมีความคิดที่จะแปรรูปเมี่ยงเป็นอย่างอื่น กระทั่งได้ไปพบกับผู้ใหญ่ใจดี เจ้าของใบชาโชคจำเริญ บริษัทส่งออกชารายใหญ่ ได้นำนักธุรกิจจีน อินเดียมาลงทุนตั้งเครื่องจักรผลิตชาไว้ในชุมชน ประกอบกับชุมชนเองก็ตระหนักว่าการผลิตชาชงสำหรับดื่มน่าจะเป็นทางเลือกทางรอด เพราะเป็นเครื่องดื่มสากลที่มีคนดื่มกันทั่วโลก

Tea Phanaa จากป่าเมี่ยงสู่ชาชงเมืองน่าน

 

ช่วงแรกชาวบ้านยังไม่มีความพร้อมไม่มีความรู้เรื่องแปลงชา การตัดชา ทำให้โปรเจกต์ดังกล่าวต้องปิดตัวไป แต่บริษัทไม่ได้นำเครื่องจักรผลิตชาชงกลับไปด้วย ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งจึงรวมตัวกันภายใต้วิสาหกิจชุมชนผลิตชาต่อแต่ไม่ได้เดินบนเส้นทางนี้ตัวคนเดียว มีกรมส่งเสริมการเกษตรและกรมป่าไม้ ส่งผู้เชี่ยวชาญมาสอนวิธีตัดแต่งกิ่งชา พาไปศึกษาดูงานที่ดอยแม่สลอง จ.เชียงราย เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนภายใต้แบรนด์ “ทีพนา” (Tea Phanaa) แปลว่า ชาจากป่าเป็นชาเมี่ยงธรรมชาติ 100% ประกอบด้วยชาเขียวและชาดำ

จุดเด่นคือเป็นชาออร์แกนิกไม่ใช้ปุ๋ยเคมี ไม่ใช้ยาปราบศัตรูพืช และมีโอกาสได้ไปออกร้านชาเมี่ยงที่พระตำหนักธงน้อย จ.น่าน มีโอกาสถวายน้ำชาแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน

เป็นชาชงชุมชนที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชกระแสรับสั่งให้ดูแลผืนป่านี้ให้ดี สอดคล้องกับแนวพระราชดำริ “สร้างป่าสร้างรายได้” ชูจุดขาย “ดื่มชาทีพนาเท่ากับรักษาป่าเป็นหมื่นไร่”