การลงทุน-กำลังซื้อ ‘ตัวช่วย’กอบกู้ศก.
สถานการณ์การส่งออกของไทยในช่วงไตรมาสแรกไม่ค่อยจะสดใสนัก
โดย...ดวงนภา ประเสริฐพงษ์
สถานการณ์การส่งออกของไทยในช่วงไตรมาสแรกไม่ค่อยจะสดใสนัก เนื่องจากตลาดทั่วโลกต่างชะลอตัว ประกอบกับค่าเงินของประเทศคู่ค้าหลักต่างอ่อนค่าลงแทบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา บราซิล ออสเตรเลีย รวมถึงประเทศในอาเซียน
ขณะที่ค่าเงินบาทของไทยกลับแข็งค่าขึ้น ยิ่งทำให้ขายสินค้าได้ยากขึ้น การส่งออกจึงติดลบไปกว่า 4%
นั่นเท่ากับว่า เครื่องจักรหลักในการลากเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวได้มากที่สุดได้ติดๆ ขัดๆ เสียแล้ว เหลือเครื่องจักรสำรอง 3 รายการ คือ การลงทุนภาครัฐ การลงทุนภาคเอกชน การบริโภคในประเทศ เท่านั้นที่จะลากให้เศรษฐกิจไทยได้เดินหน้าไปได้
แต่ดูเหมือนว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง หัวรถจักรใน 3 รายการก็ดับๆ ติดๆ เหมือนกัน เห็นได้จากกำลังซื้อและการลงทุนที่ซบเซาเหงาหงอย จึงนับเป็นความท้าทายของรัฐบาลในการหาทางออกเพื่อพยุงให้เศรษฐกิจให้เติบโตได้ 3.5%
แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศก้องว่าการลงทุนภาครัฐเริ่มขยับ เบิกงบไปกว่า 1.2 ล้านล้านบาทแล้ว และเชื่อว่าการลงทุนจะดีขึ้นในไตรมาส 2 แต่นั่นหมายถึงว่า ต้องออกแรงไม่น้อย หากจะทำให้เศรษฐกิจติดเครื่อง
แม้แต่ อุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ยอมรับว่า การส่งออกที่ชะลอตัวกระทบต่อการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในเชิงจิตวิทยา เพราะทำให้ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งยังไม่มั่นใจที่จะขยายการลงทุน เนื่องจากยังไม่เชื่อมั่นว่าสถานการณ์ต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ไตรมาส 1/2558 ที่แม้จะยังไม่สรุปอย่างเป็นทางการ แต่เบื้องต้นเริ่มชี้ให้เห็นว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมของไตรมาสแรกมีแนวโน้มเป็นบวกจากการเติบโตของอุตสาหกรรมหลักทุกประเภท ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็ก ทรอนิกส์ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมเหล็ก และอุตสาห กรรมอาหาร ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความหวังในการขยายตัวของเศรษฐกิจต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมหลักของประเทศ
“ผมเชื่อว่ายังไงก็ตาม MPI ปีนี้เป็นบวกแน่นอน คนอาจบอกว่า เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว แต่เราคาดว่าดัชนีจะเป็นบวกแน่ เพราะสถานการณ์เริ่มคลี่คลายขึ้น จึงมั่นใจว่าดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมน่าจะเป็นบวก เพราะช่วงครึ่งปีหลังการลงทุนของรัฐก็น่าจะเห็นชัดมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อบรรยากาศการลงทุนและมูลค่าการลงทุน ทำให้เกิดการใช้วัตถุดิบในประเทศมากขึ้น กำลังซื้อสูงขึ้นเช่นเดียวกัน เดิมเราคาดการณ์ MPI โต 3-4% บนพื้นฐานการขยายตัวของจีดีพี 3.5% แต่ก็ประมาทไม่ได้ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด และหากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลายอย่างที่คาดไว้อาจจะต้องประเมิน MPI อีกครั้งหลังไตรมาส 2” อุดม การันตี
ขณะที่ พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ยืนยันว่า จากข้อมูลยอดเปิดกิจการใหม่และขยายกิจการในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. พบว่ามีมูลค่ารวม 91,848 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 51.9.% สะท้อนว่า ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นในขั้นตอนการออกใบอนุญาตกิจการโรงงาน (ร.ง.4) ที่มีความโปร่งใสและความสะดวกรวดเร็วขึ้นจากเดิม
ประกอบกับเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้มีอัตราการเติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน และความมีเสถียรภาพของรัฐบาล ทำให้บรรยากาศการลงทุนของภาคเอกชนเริ่มกลับมามีความมั่นใจอีกครั้ง เมื่อผสมกับต้นทุนในการประกอบธุรกิจ เช่น ราคาน้ำมัน ราคาวัสดุก่อสร้าง ปูนซีเมนต์ ค่าไฟฟ้า ลดลง และการรับการส่งเสริมการลงทุนเป็นจำนวนมาก จะทำให้ไตรมาสต่อไปจะมียอดขอเปิดกิจการใหม่และขยายกิจการเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
“อุตสาหกรรมที่ขยายกิจการมากที่่สุด คือ อาหาร การผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์ การซ่อมยานพาหนะและอุปกรณ์ อุตสาหกรรมการผลิตโลหะ ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด”พสุ สะท้อน
ภาพที่เกิดขึ้นอาจขัดแย้งกับความรู้สึกของคนทั่วไป แต่การที่ จักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม ออกมาสำทับว่า ความเชื่อมั่นในการลงทุนของภาครัฐและเอกชนที่ดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง จะเป็นตัวช่วยดึงเศรษฐกิจให้ดีขึ้นแน่นอน เพราะการกระตุ้นการลงทุนในโครงการของภาครัฐจะเริ่มเห็นชัดในช่วงครึ่งปีหลังของปีงบประมาณนี้ และจะส่งผลดีต่อเนื่องไปถึงการลงทุนของภาคเอกชนด้วย เนื่องจากภาคเอกชนจะมีความมั่นใจและกล้าลงทุนมากขึ้น
“บรรยากาศเป็นสิ่งสำคัญที่สุด หากมีภาพการลงทุนเกิดขึ้นจะเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้เอกชนใช้จ่ายมากขึ้น ตามไปด้วยส่วนการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐเราก็เร่งทำอย่างเต็มที่ ถ้าเทียบกับปีก่อนเราทำได้เร็วขึ้นนะ แต่ในสายตาประชาชนอาจจะดูช้าเพราะเศรษฐกิจไม่ค่อยดี แต่ถ้าถามความมั่นใจ ผมยืนยันว่าไตรมาส 4 ของปีงบประมาณ หรือไตรมาส 3 ของระบบเศรษฐกิจเงินจะลงเต็มที่แน่นอน ทำให้ครึ่งปีหลังเศรษฐกิจจะกลับมาคึกคักแน่” จักรมณฑ์ ยืนยัน
สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่า ภาครัฐกำลังผลักดันกระตุ้นให้เกิดการลงทุนภาครัฐและเอกชนมาทดแทนการส่งออก แต่จะเป็นเช่นนั้นหรือไม่
สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ซึ่งเป็นตัวแทนภาคอุตสาหกรรม กล่าวว่า ทุกภาคส่วนต่างก็มีความหวังว่าเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังจะขยายตัวดีขึ้น จากปัจจัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะค่อยๆ ดีขึ้น ขณะที่การปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยก็จะเริ่มส่งผลต่อการส่งออกในช่วงไตรมาส 2 ซึ่งจะทำให้การใช้จ่ายในประเทศขยายตัวได้ด้วย
อุตสาหกรรมที่จะเติบโตตามเป้าจะเป็นกลุ่มอาหารและอุตสาหกรรมการก่อสร้าง โดยภาคการท่องเที่ยวจะเป็นส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้รายได้ของประเทศเติบโตได้ตามเป้า
“โครงการเมกะโปรเจกต์ต่างๆ ของรัฐจะมีผลให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับวัสดุก่อสร้างได้รับอานิสงส์ทั้งหมด ส่วนอุตสาหกรรมอาหารก็จะเติบโต เนื่องจากราคาพืชผลทางการเกษตรเริ่มดีขึ้นจากการที่รัฐค่อยๆ ระบายผลผลิตออกมาแล้วบางส่วน ส่วนที่ค้างสต๊อกจะเริ่มเข้าสู่ภาวะที่ดีขึ้น ส่วนความกังวลนับจากนี้เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องเฝ้าดู” สุพันธุ์ ตั้งข้อสังเกต
ความเชื่อ ความหวัง ในการขับเคลื่อนการลงทุน การสร้างกำลังซื้อจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ อยู่ในอุ้งมือของรัฐบาลที่ต้องลงมือทำ...