posttoday

BTS กิจการที่มั่นคง

18 พฤษภาคม 2558

บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) เป็นบริษัทแห่งเดียวที่กล้าประกาศว่าจะให้ผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นสูงติดต่อกันนาน 3 ปี (2557-2559)

โดย...ยินดี  ฤตวิรุฬห์

บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) เป็นบริษัทแห่งเดียวที่กล้าประกาศว่าจะให้ผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้นสูงติดต่อกันนาน 3 ปี (2557-2559) โดยคาดว่าจะจ่ายเงินปันผลรวมทั้งสิ้น 2.1 หมื่นล้านบาท โดยปี 2557 จ่ายจำนวน  6,000 ล้านบาท ปี 2558 จ่ายเป็นเงิน 7,000 ล้านบาท และปี 2559 จะจ่าย 8,000 ล้านบาท หรือจะจ่ายเพิ่มปีละ 1,000 ล้านบาท ซึ่งระยะเวลาที่ผ่านมา
ก็สามารถทำได้ตามสัญญาที่ลั่นวาจาไว้ ส่วนอนาคตจะเป็นอย่างไร?

“คีรี กาญจนพาสน์” ประธานกรรมการและคณะกรรมการบริหาร BTS  กล่าวว่า เราจะจ่ายน้อยลงได้อย่างไร จึงมีโจทย์ต่อไปให้ต้องคิด

วิธีการดำเนินงานของกรุ๊ปเราจะเน้นเรื่องของการสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งให้กับกิจการและจะทำทุกอย่างให้มีผลประกอบการที่ดีและมั่นคง ซึ่งยอมรับว่าที่ผ่านมานั้นเราเหนื่อยกันมากเพื่อที่จะทำให้ทุกอย่างเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ และให้หุ้น BTS เป็นของจริงที่สุด ไม่ใช่แค่ความหวังเพียงอย่างเดียว แต่การทำอย่างนี้ผู้ลงทุนอาจไม่ชอบ เพราะราคาหุ้นไม่หวือหวา แต่จริงๆ ก็อยากบอกนักลงทุนว่า BTS จะเป็นหุ้นที่ต้องการความมั่นคง  ถึงตอนนี้ทีมผู้บริหารก็รู้แล้วว่าเราคิดไม่ผิด หากวัดผลจากผลประกอบที่จะประกาศออกมาแล้วก็จะพบว่า BTS เป็นบริษัทที่มีการเติบโตอย่างมั่นคง และผลงานที่ออกมาก็ดีกว่าที่คาดหวังไว้

BTS ปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ และแบ่งธุรกิจหลักมี 4  ประเภท คือ 1.ธุรกิจเดินรถ 2.ธุรกิจสื่อโฆษณา 3.ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์  และ 4.ธุรกิจบริการ

คีรี เล่าให้ฟังว่า ธุรกิจระบบขนส่งมวลชน หรือธุรกิจเดินรถ เป็นธุรกิจหลัก โดยบีทีเอสซี หรือบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้นอยู่ 97.46%) ได้รับสัมปทานจาก กทม. ในปี 2535 ให้เป็นผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบนทางวิ่งยกระดับสายแรกของกรุงเทพฯ ซึ่งครอบคลุมสายสุขุมวิทและสายสีลม ระยะทางรวม 23.5 กิโลเมตร เป็นระยะเวลา 30 ปี โดยรถไฟฟ้าบีทีเอสเปิดให้บริการต่อประชาชนเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2542

นอกจากนี้ บีทีเอสซียังได้รับการว่าจ้างจากกรุงเทพธนาคมให้เป็นผู้ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสในส่วนต่อขยายสายสีลม ตอนที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่ ระยะทาง 2.2 กิโลเมตร ซึ่งเปิดให้บริการประชาชนเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2552 ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง ระยะทาง 5.25 กิโลเมตร ซึ่งเปิดให้บริการประชาชนเมื่อวันที่ 12 ส.ค. 2554 และส่วนต่อขยายสายสีลม ตอนที่ 2 ช่วงวงเวียนใหญ่-บางหว้า ระยะทาง 5.3 กิโลเมตร ซึ่งเปิดให้บริการครบทั้งสายเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2556  รวมทั้งสิ้น 36.25 กิโลเมตร รวม 34 สถานี

บีทีเอสซียังได้รับการว่าจ้างจากกรุงเทพธนาคมให้เป็นผู้ให้บริการเดินรถโดยสารด่วนพิเศษ BRT ตั้งแต่วันที่ 29 พ.ค. 2553 และเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2556  ได้ขายรายได้ค่าโดยสารสุทธิของระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพสายหลัก ระยะทางรวม 23.5 กิโลเมตร ภายใต้สัญญาสัมปทานตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย. 2556 จนถึงวันสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในวันที่ 4 ธ.ค. 2572 ให้แก่กองทุน BTSGIF ซึ่งบริษัทซื้อและเป็นผู้ถือหน่วยลงทุนจำนวน 1/3 ของกองทุน BTSGIF

“ธุรกิจเดินรถนี้บริษัทมีความชัดเจนที่จะเข้าไปลงทุนร่วมประมูลกับภาครัฐในโครงการรถไฟฟ้าทางคู่ ซึ่ง BTS มีความพร้อมทั้งเรื่องเงินทุนและประสบการณ์ต่างๆ เมื่อรัฐเปิดประมูลก็จะเข้าร่วมทุกโครงการ

ธุรกิจสื่อโฆษณา ดำเนินการผ่านบริษัท วี จี ไอ โกลบอล มีเดีย (VGI) ซึ่งยอมรับว่า ผลประกอบการของ VGI ในปี 2557 นั้นออกมาต่ำกว่าเป้าหมาย เพราะธุรกิจสื่อกลางแจ้งมีการแข่งขันที่สูงมากโดยเฉพาะเรื่องของราคา แต่เป็นธุรกิจที่สร้างเงินสดทั้งนั้น ในปีนี้ต้องดูว่าจะมีธุรกิจอะไรใหม่ๆ ที่ใส่เข้าไป โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับดิจิทัลหลังจากนี้อาจเห็นการดึงพันธมิตรต่างประเทศที่มีความชำนาญเรื่องธุรกิจดิจิทัลในต่างประเทศและอยากเข้ามาเปิดตลาดในเมืองไทย  และล่าสุด VGI ได้ซื้อหุ้นบริษัท แอลอีดี แอดวานซ์ สัดส่วน 20% มูลค่าเงินลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท เตรียมบุกสื่อใหม่ในสนามบินทันที และรับรู้กำไรจากเงินลงทุนกลางปีนี้ ซึ่งก็หวังให้ VGI กลับมามีกำไรดีขึ้นในปีนี้ตามเป้าหมายที่วางไว้

ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งขณะนี้มีความชัดเจนมากหลังจาก BTS ได้ตัดสินใจนำบริษัทลูก 2 แห่ง แลกหุ้นกับทางแนเชอรัล พาร์ค (N-PARK) และมีบริษัทใหม่ขึ้นมาคือ บริษัท ยู ซิตี้ (U) ซึ่ง BTS ถือหุ้นในสัดส่วน 35.64% เพื่อทำอสังหาริมทรัพย์และโรงแรม รวมถึงอาคารสำนักงานให้เช่า  และการร่วมกับบริษัท แสนสิริ (SIRI) จัดตั้ง บริษัท บีทีเอส แสนสิริ โฮลดิ้ง ทู ซึ่ง BTS และ SIRI ถือหุ้นฝ่ายละ 50%  พัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้าทุกเส้นทาง ทาง BTS มีพื้นที่พร้อมเพื่อการพัฒนา ขณะที่ SIRI มีความชำนาญในการทำคอนโดมิเนียม ในเร็วๆ นี้จะเปิดโครงการคอนโดมิเนียมบริเวณรถไฟฟ้าหมอชิต สำหรับการลงทุนร่วมกับ SIRI นั้นจะเป็นลักษณะการจัดตั้งบริษัทย่อยขึ้นมา ซึ่งขณะนี้มีการจัดตั้งแล้ว 12 บริษัทภายใน 1 ปีนี้ เพื่อพัฒนาโครงการต่างๆ

“BTS มีความชัดเจนว่าในอนาคตอสังหาฯ จะเป็นอีกธุรกิจที่สำคัญ และตั้งเป้าหมายว่าในแต่ละปีจะใช้เงินลงทุนขั้นต่ำประมาณ 3 หมื่นล้านบาท หรือแต่ละโครงการไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท ซึ่งยืดหยุ่นตามความเหมาะสมที่จะเกิดขึ้น”

คีรี เล่าว่า  การเข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยอมรับว่าครั้งแรกมีการเจรจากับบริษัทหลายแห่ง แต่สุดท้ายมาจบที่แสนสิริ เพราะคุยกันเข้าใจง่าย  อีกทั้งแบรนด์ของแสนสิริก็มีคุณภาพ มีทีมงานที่ดี
ซึ่งในปี 2559 จะเริ่มเห็นการรับรู้รายได้จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างชัดเจน

ธุรกิจบริการ จะสนับสนุนการดำเนินงานธุรกิจหลักของกลุ่ม รวมถึงการให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-money) ที่มีระบบตั๋วร่วม (Common Ticketing System)ภายใต้ชื่อ “rabbit (แรบบิท)” ปัจจุบันบัตร rabbit มีผู้ถือบัตร 3.5 ล้านใบ ในอนาคตจะเพิ่มเป็น 5 ล้านใบ และก็ยังมีโอกาสที่จะเติบโตอีกมาก

เสาหลัก 4 ธุรกิจของบีทีเอส จะสนับสนุนการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและมั่นคง  เมื่อผลประกอบการออกมาเติบโตทุกๆ ปี โอกาสที่จะเห็นราคาหุ้นเพิ่มขึ้นตามก็ไม่ใช่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพียงแต่ คีรี ไม่ได้คาดหวังในเรื่องราคาหุ้นมากนัก แต่อยากเห็นกิจการที่มั่นคงมากกว่า