สั่งกฟผ.แก้ปมต้านโรงไฟฟ้า
พล.อ.อนันตพร สั่ง กฟผ.จัดทำข้อมูลด้านไฟฟ้า ลดแรงต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน
พล.อ.อนันตพร สั่ง กฟผ.จัดทำข้อมูลด้านไฟฟ้า ลดแรงต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน
พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยได้สั่งการให้ กฟผ.ไปจัดทำข้อมูลด้านไฟฟ้าให้ชัดเจนทั้งกำลังผลิตไฟฟ้า แผนสำรองไฟฟ้า สัดส่วนเชื้อเพลิงที่นำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า ตลอดจนแผนการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศเพื่อนำเสนอต่อนักลงทุน สาธารณชนให้เข้าใจถึงสถานการณ์ด้านไฟฟ้าของประเทศให้มากขึ้น
ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังจากกระแสการต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขยายวงกว้างออกไปในหลายพื้นที่ โดยมีการชี้แจงเหตุผลว่าการสำรองไฟฟ้าของประเทศ ไทยยังอยู่ในระดับสูง รัฐบาลไม่จำเป็นต้องเร่งลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่
พล.อ.อนันตพร กล่าวว่า อีกเรื่องต้องพิจารณาการวางระบบสายส่งไฟฟ้าเพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นครอบคลุมเพียงพอหรือไม่ ซึ่ง กฟผ.รายงานว่า จะลงทุนขยายระบบสายส่งไฟฟ้าใหม่ทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ โดยจะเริ่มทยอยแล้วเสร็จในปี 2566
สำหรับนโยบายการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นต้องยอมรับว่า กฟผ.ยืนยันว่าเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้กับโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่ จ.กระบี่ และโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จ.สงขลา เป็นถ่านหินสะอาด อย่างไรก็ตามจะเข้าไปดูเทคโนโลยีถ่านหินว่าเป็นอย่างไร ดีจริงเหมือนที่ระบุไว้หรือไม่
นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า ปัจจุบัน กฟผ.มีกำลังผลิตไฟฟ้าได้ 15,482 เมกะวัตต์ จากกำลังผลิตรวมทั้งประเทศ 34,668 เมกะวัตต์ คิดเป็น 45% ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ปี 2556 อยู่ที่ 26,598 เมกะวัตต์ ปี 2557 เป็น 26,942 เมกะวัตต์ ปี 2558 ร่วม 27,345 เมกะวัตต์ เพิ่มตามเศรษฐกิจ ทำให้ต้องเตรียมความพร้อม
ทั้งนี้ แผนการพัฒนาโรงไฟฟ้าใหม่ของ กฟผ. เพื่อรองรับปริมาณการใช้ไฟตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 2 กำลังการผลิต 848 เมกะวัตต์ กำหนดแล้วเสร็จเดือน ม.ค. 2559 โรงไฟฟ้าทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 4-7 กำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ กำหนดแล้วเสร็จเดือน พ.ย. 2561 โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ 800 เมกะวัตต์ กำหนดแล้วเสร็จเดือน ธ.ค. 2562 โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา 2 โรง กำลังผลิตรวม 2,000 เมกะวัตต์ กำหนดแล้วเสร็จในปี 2564 และ 2567 ตามลำดับ