จากปากคลองสู่ตลาดไอยรา ศูนย์ผลไม้ระดับอาเซียน
ประเทศไทยกำลังก้าวสู่เทรนด์ใหม่ คือ การเป็นสังคมเมืองที่ทันสมัย (Urbanization) ย่านการค้าดั้งเดิมหลายแห่งถูกพัฒนาให้เป็นตลาดสมัยใหม่ เช่น ย่านปากคลองตลาด ขณะเดียวกันย่านการค้าดั้งเดิมเหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการพัฒนาตลาดแบบใหม่ขึ้นมาและตลาดไอยราก็เป็นหนึ่งในนั้น
ประเทศไทยกำลังก้าวสู่เทรนด์ใหม่ คือ การเป็นสังคมเมืองที่ทันสมัย (Urbanization) ย่านการค้าดั้งเดิมหลายแห่งถูกพัฒนาให้เป็นตลาดสมัยใหม่ เช่น ย่านปากคลองตลาด ขณะเดียวกันย่านการค้าดั้งเดิมเหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการพัฒนาตลาดแบบใหม่ขึ้นมาและตลาดไอยราก็เป็นหนึ่งในนั้น
สุวัจ เดชเทวัญดำรง ประธานกรรมการ บริษัท พี เอส เมนแลนด์ ผู้บริหารตลาดไอยรา ศูนย์กลางกระจายผลไม้ทั้งนำเข้าและส่งออกย่านคลองหลวง จ.ปทุมธานี เล่าที่มาว่า เกิดและเติบโตที่ปากคลองตลาด ผูกพันกับตลาดผลไม้มาตั้งแต่อายุ 15 ปี ผ่านความยากลำบากมานับไม่ถ้วนจนเข้าใจในอาชีพนี้เป็นอย่างดี
สุวัจและภรรยามีโอกาสเปิดแผงขายผลไม้ที่ตลาดสี่มุมเมือง โดยติดต่อซื้อผลไม้จากชาวสวนโดยตรงเรื่อยมา ปัจจุบันเป็นผู้ซื้อผลไม้ไทยเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ ทั้งทุเรียน ลำไย ลิ้นจี้ มังคุด รวมถึงการนำเข้าผลไม้ประเภทองุ่น แอปเปิ้ล ส้มจากต่างประเทศเพื่อนำมาจำหน่ายในประเทศไทย ซึ่งต่อมาได้ขยายกิจการโดยการสร้างห้องเย็น
ปัจจุบัน สุวัจ มีธุรกิจเกี่ยวกับผลไม้ คือบจ.อินเตอร์เฟรช และ บจ.ดำรงชัย ฟรุ๊ต จนมาถึง บจ.พี เอส เมนแลนด์ ซึ่งได้ขยายไลน์ธุรกิจจากแนวคิดและความผูกพันจากสองบริษัทดังกล่าว
“จากความผูกพันกับตลาดผลไม้มาทั้งชีวิตช่วงประมาณปี 2556 ได้ทำการซื้อที่ดินทั้งหมด 50 ไร่บริเวณตลาดไท และตัดสินใจร่วมกับภรรยาว่าต้องการใช้พื้นที่ตรงนี้ทำธุรกิจที่ทางครอบครัวถนัดที่สุด ซึ่งก็คือการสร้างตลาดผลไม้เพื่อให้เป็นศูนย์กลางการค้าขายผลไม้ ทั้งผลไม้ไทยและผลไม้นำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อให้คู่ค้าและพ่อค้าแม่ค้าทุกท่านมีส่วนร่วมในกิจกรรมของตลาดผลไม้และมีความเป็นเจ้าของร่วมกัน” สุวัจ กล่าว
สำหรับตลาด “ไอยรา” วางตำแหน่งเป็นศูนย์กลางกระจายผลไม้ไทยทั้งนำเข้าและส่งออกแห่งใหม่ย่านคลองหลวง ก่อตั้งเป็นทางการเมื่อปี 2557 บนเนื้อที่กว่า 50 ไร่ โดยใช้เงินลงทุนราว 500 ล้านบาท มีแนวคิดและวัตถุประสงค์หลักเพื่อการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบตลาด โดยมีอาคารพาณิชย์จำนวน 225 คูหา มีแนวคิดในการให้เช่าพื้นที่ เพื่อเพิ่มมูลค่าของอาคารพาณิชย์ที่อยู่โดยรอบตลาด เพื่อให้เกิดกิจกรรมการค้าขายในตลาด โดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ ต้องการสร้างงาน สร้างอาชีพ เพื่อก่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ
สุวัจ บอกว่า ยึดแนวทางการดำเนินธุรกิจแบบเอาใจเขามาใส่ใจเรา เข้าใจการทำธุรกิจของผู้อื่นเสมือนเป็นของเราเอง ผู้ค้าอยู่ได้ เราอยู่ได้ อาคารพาณิชย์ที่สร้างขึ้นภายใต้แนวคิดที่ต้องการให้พ่อค้าแม่ค้ามีที่อยู่อาศัยใกล้กับที่ค้าขายของ มีความเป็นชุมชน ไม่ต้องเสียเวลาเดินทางระหว่างที่อยู่อาศัยและที่ทำมาหากิน สามารถมีทรัพย์สินเป็นของตัวเอง นอกจากนี้ยังให้คำแนะนำปรึกษาช่องทางการค้าผลไม้ที่หลากหลายให้แก่คู่ค้าในตลาดผลไม้ เพราะมุ่งมั่นและตั้งใจให้ผู้ค้าเติบโตไปพร้อมกัน
“ทำเลตรงนี้ถือเป็นทำเลทองเรื่องการค้าขาย เพราะการคมนาคมขนส่งที่สะดวกสบาย พร้อมกับความทันสมัยที่บริษัทมุ่งลงทุนไว้รองรับผู้ค้าและผู้ใช้บริการ ที่สำคัญได้เตรียมการรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) เพราะเล็งเห็นว่าประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของประชาคมอาเซียน ที่มีความพร้อมทั้งในเรื่องเส้นทางการส่งออกและนำเข้า มีท่าเรือขนาดใหญ่ที่รองรับด้านโลจิสติกส์ได้เป็นอย่างดี” สุวัจ กล่าว
สำหรับผู้ค้าที่สนใจ ขณะนี้ตลาดไอยรายังคงเปิดให้เช่าพื้นที่ค้าขายโดยเก็บค่าเช่าพื้นที่ในอัตราที่ต่ำกว่าตลาดอื่นๆ บริเวณใกล้เคียง รวมทั้งมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายให้กับผู้ค้าอย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนของตัวโครงการตลาดจะแล้วเสร็จและเริ่มเปิดตัวอย่างเป็นทางการประมาณต้นปี 2559 พร้อมขยายโครงการตลาดสดไอยราควบคู่กันไป โดยจะพิจารณาขยายโครงการตลาดไอยราไปยังโซนอื่นๆ ต่อไปในอนาคต
ถือเป็นอีกหนึ่งเถ้าแก่ที่เติบโตและขยายธุรกิจจากแรงบันดาลใจที่มีกับธุรกิจดั้งเดิมที่ยึดถือมาตลอด และหวังจะสร้างโอกาสให้กับผู้ค้ารายอื่นต่อไป