‘นักเก็ตปลาส้ม’ผลงานเยาวชน นวัตกรรมเมนูอีสาน
ปลาส้มนั้นเป็นอาหารขึ้นชื่อของภาคอีสาน นอกจากกรรมวิธีถนอมอาหารภูมิปัญญาพื้นบ้าน
โดย...จักรพันธ์ นาทันริ
ปลาส้มนั้นเป็นอาหารขึ้นชื่อของภาคอีสาน นอกจากกรรมวิธีถนอมอาหารภูมิปัญญาพื้นบ้าน ปัจจุบันปลาส้มยังเป็นสินค้าพื้นถิ่นที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย แต่ก็ยังไม่มีการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์มากนัก
แต่ความช่างคิดของนักเรียนมัธยมปลายของโรงเรียนอุบลรัตน์พิทยาคม อ.อุบล รัตน์ จ.ขอนแก่น กลุ่มหนึ่ง ซึ่งสังเกตเห็นว่า แม้ปลาส้มจะมีคุณค่าทางโภชนาการ แต่ก็ไม่เป็นที่นิยมของกลุ่มวัยรุ่นสักเท่าไหร่
จึงคิดต่อยอดนำกรรมวิธีถนอมอาหารภูมิปัญญาบรรพบุรุษมาปรับปรุงพัฒนาให้เข้ากับวิถีความชอบของวัยรุ่นในปัจจุบัน
นักเก็ตปลาส้มยัดไส้ไข่ปลาสมุนไพรแฟนซีผลงานของน้องๆ กลุ่มนี้ จึงได้รับรางวัลชนะเลิศ ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี และทุนการศึกษา 5 หมื่นบาท ในการประกวดโครงงานหัวข้อ “การใช้ประโยชน์จากฐานทรัพยากรหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น” ซึ่งจัดโดยสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) ประจำปี 2558
พรธีวา สอนโว นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนอุบลรัตน์พิทยาคม บอกว่า ได้ร่วมกับเพื่อนคิดค้นแปรสภาพปลาส้ม ซึ่งมักจะทำทั้งตัวให้กลายเป็นชิ้นขนาดพอคำ นำปลาส้มมาต่อยอดแปรรูปปลาส้มและไข่ปลาส้มให้เป็นนักเก็ตปลาส้มและนักเก็ตไข่ปลาส้ม รวมทั้งนักเก็ตปลาส้มยัดไส้ไข่ปลา แบบนักเก็ตไก่ หรือนักเก็ตหมูที่กลุ่มวัยรุ่นนิยมรับประทาน
“หลังจากที่ทุกคนได้ข้อสรุปในการทำนักเก็ตปลาส้ม 3 รูปแบบ ได้หารือกับอาจารย์ที่ปรึกษาและคิดค้นเทคนิควิธีร่วมกันกับปราชญ์ชาวบ้านในพื้นที่จนได้ผลิตสูตรนักเก็ตขึ้นมา นำสมุนไพรพื้นบ้านซึ่งถือเป็นสูตรพิเศษมาคั้นเอาน้ำ ก่อนที่จะนำเนื้อปลาส้ม ไข่ปลาส้ม และไข่ปลา กับน้ำสมุนไพรที่แยกแต่ละชนิดผสมคลุกเคล้าให้เข้ากัน จากนั้นตักใส่แม่พิมพ์ให้ง่ายต่อการรับประทานในขนาดพอคำนำไปนึ่งประมาณ 15-20 นาที เพื่อให้ปลาส้มมีความสุกพอดี นำนักเก็ตที่นึ่งสุกแล้วไปชุบไข่และนำไปคลุกกับเกล็ดขนมปัง ทอดในน้ำมันความร้อนปานกลางจนสุก กรอบ รับประทานได้ในทุกกลุ่ม ทุกเพศ และทุกวัย เก็บได้นาน 3 วัน และที่สำคัญคือยังคงไว้ซึ่งสารอาหารและคุณสมบัติทางโภชนาการต่างๆ จากสมุนไพรที่นำมาเป็นส่วนผสมอีกด้วย”
ด้าน สุรัตน์ หารวาระ รองผู้อำนวยการโรงเรียนอุบลรัตน์พิทยาคม กล่าวว่า จากโครงงานที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงวิถีชีวิตจริงต่อยอดเป็นนวัตกรรมและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง โรงเรียนยังคงจะให้การสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ปลาส้มที่จะสามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ต่อไปในอนาคต และไม่สงวนลิขสิทธิ์ให้กับชุมชนในการนำกลับไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ปลาส้มที่ทำจำหน่ายอยู่แล้วให้กลายเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่นของชาวอุบลรัตน์ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น