คลังถอยให้เอกชนเช่าที่99ปี
คลังลั่นไม่ให้เอกชนเช่าที่ดินรัฐนานถึง 99 ปี ยืนยัน 30 ปี เหมาะสมแล้ว
คลังลั่นไม่ให้เอกชนเช่าที่ดินรัฐนานถึง 99 ปี ยืนยัน 30 ปี เหมาะสมแล้ว
นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง เปิดเผยว่า การแก้ไข พ.ร.บ.การเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์และอุตสาหกรรม ปี 2542 จะมีการเปลี่ยนแปลงขยายระยะเวลาการทำสัญญาเช่าที่ดิน จากเดิมสูงสุดที่ระบุในกฎหมาย 50 ปี ให้เป็น 99 ปี
อย่างไรก็ดี การให้เช่าที่ดิน 99 ปี ที่กำลังแก้ไขนี้ จะใช้เฉพาะกรณีการเช่าที่หน่วยงานรัฐทำด้วยกันเองเท่านั้น ซึ่งจะเริ่มจากการเช่าที่ดินบริเวณมักกะสันของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับกรมธนารักษ์ แลกกับกระทรวงการคลังใช้หนี้ให้ 6.2 หมื่นล้านบาท โดยกรมธนารักษ์จะทำสัญญาเช่าที่ดินมักกะสันกับ รฟท. เป็นเวลา 99 ปี
"ขณะนี้มีความเข้าใจผิดว่าการแก้ไข พ.ร.บ.ให้เช่าที่ดินเป็นเวลา 99 ปี จะใช้เป็นการทั่วไป ซึ่งไม่เป็นความจริง โดยเฉพาะการให้ต่างชาติมาเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัยเป็นเวลา 99 ปี ซึ่งรัฐบาลไม่มีนโยบายดังกล่าว แต่มีการนำประเด็นไปตีความและเผยแพร่ในโลกออนไลน์ จนทำให้สังคมเกิดความสับสนและเข้าใจผิดแก่ประชาชน" นายวิสุทธิ์ กล่าว
นายวิสุทธิ์ กล่าวอีกว่า การเช่าที่ดินทั่วไปต้องขึ้นอยู่กับกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่กำหนดการทำสัญญาเช่าได้นานสุด 30 ปี ซึ่งรัฐบาลไม่มีนโยบายที่จะแก้ไขในส่วนนี้อยู่แล้ว เพราะเห็นว่าเวลาที่กำหนดการเช่าที่อยู่ในขณะนี้มีความเหมาะสมอยู่แล้ว
รมช.คลัง กล่าวว่า ในส่วนของการโอนที่ดินมักกะสัน ทางคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด มีมติให้ รฟท.โอนที่ดินให้กับกรมธนารักษ์ให้เสร็จภายใน 2 ปี เพื่อแลกกับหนี้ 6.2 หมื่นล้านบาท จากหนี้ทั้งหมดประมาณ 1.2 แสนล้านบาท ส่วนหนี้ที่เหลือจะต้องหาทางอื่นแก้ไขต่อไป
สำหรับความคืบหน้าในการแลกหนี้กับสิทธิการเช่าที่ดินระหว่างกรมธนารักษ์และ รฟท. ในเบื้องต้นทาง รฟท.นั้น คาดว่าทั้งสองหน่วยงานจะลงนามในบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ได้ภายในเดือน ก.พ.นี้ และคาดว่า รฟท.จะส่งมอบที่ดินได้ภายใน 2 ปี
ทั้งนี้ โครงการพัฒนาที่ดินย่านมักกะสัน หรือ มักกะสัน คอมเพล็กซ์ มีทำเลอยู่กลางเมือง เป็นจุดเชื่อมระหว่างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิกับศูนย์กลางเมืองธุรกิจ (แอร์พอร์ตลิงค์) ตามแผนเดิมจะเดินหน้าพัฒนาพื้นที่ในเชิงพาณิชย์
นายวิสุทธิ์ กล่าวอีกว่าการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ของกระทรวงการคลังจาก 3.8% เหลือ 3.7% เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวลดลง อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยปีนี้ได้รับผลบวกจากมาตรการเติมเงินกองทุนหมู่บ้าน 3.5 หมื่นล้านบาท ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.15% รวมถึงการเร่งลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของรัฐในปี 2559 และ 2560 วงเงินถึง 4.2 แสนล้านบาท