posttoday

ปั้นรายได้ 5 หมื่นล้าน ทีโอทีปล่อยเช่า "เสา" หาพันธมิตรมือถือ

03 กุมภาพันธ์ 2559

นับเป็นโจทย์หินสำหรับผู้บริหารทีโอที ที่ต้องเร่งปั๊มรายได้ทดแทนรายได้จากสัมปทานที่หายไป

โดย...วิทยา ปะระมะ

เป็นอีก 1 รัฐวิสาหกิจที่ถูกคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เร่งรัดแผนฟื้นฟูกิจการ สำหรับรัฐวิสาหกิจด้านโทรคมนาคมรายใหญ่ เช่น บริษัท ทีโอที ที่แหล่งรายได้ก้อนใหญ่จากส่วนแบ่งรายได้ตามสัญญาสัมปทานมือถือกับค่ายเอไอเอส ได้สิ้นสุดลงเมื่อปลายปี 2558

จึงนับเป็นโจทย์หินสำหรับผู้บริหารทีโอที ที่ต้องเร่งปั๊มรายได้ทดแทนรายได้จากสัมปทานที่หายไป และต้องกลับมามีกำไรให้ได้ด้วย

มนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที ให้ข้อมูลว่า ปี 2558 ที่ผ่านมา ทีโอทีมีรายได้จากการดำเนินการ ประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาท และรายได้จากสัมปทาน ประมาณ 6,000 ล้านบาท โดยกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายตัดจ่าย (อีบิตดา) ติดลบประมาณ 1,400 ล้านบาท แต่ก็ยังถือว่าติดลบน้อยกว่าเป้าที่ตั้งไว้ที่ 3,800 ล้านบาท

ขณะที่ผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิ อยู่ที่ 5,000 ล้านบาท แต่ถือว่าน้อยกว่าเป้าหมาย 52% เนื่องจากทีโอทีลดค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

"โครงสร้างรายได้ในปี 2558 รายได้กว่า 45% มาจากการให้บริการบรอดแบนด์ และอีก 35% มาจากการให้บริการโทรศัพท์พื้นฐาน (Fixed Line) ส่วนที่เหลือเป็นรายได้จากธุรกิจสื่อสารข้อมูล โดยมีรายได้จากธุรกิจโมบายไม่ถึง 5% หรือเพียง 400 ล้านบาทเท่านั้น" มนต์ชัย กล่าว

สำหรับทิศทางการดำเนินธุรกิจในปี 2559 นั้น มนต์ชัย บอกว่า ปีนี้จะเป็นปีที่ทีโอทีมีผลขาดทุนมากที่สุด คือ ประมาณ 1-1.1 หมื่นล้านบาทเลยทีเดียว เนื่องจากได้ตั้งเป้ารายได้ไว้ประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ในขณะที่รายจ่ายจะอยู่ที่ 6 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาเฉพาะอีบิตดา ทีโอที ประเมินว่า ปีนี้จะมีกำไรประมาณ 4,000 ล้านบาท ซึ่งก็ถือเป็นสัญญาณที่ดี เพราะถือเป็นรายได้จากน้ำพักน้ำแรงของทีโอทีเอง เพียงแต่โดนตัดค่าเสื่อมทำให้ขาดทุนทางบัญชี

"รายได้จากการดำเนินการในปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาท แต่ที่ทำให้รายได้เพิ่มขึ้นมาเป็น 5 หมื่นล้านบาท คือ รายได้จากการให้เช่าเสา และรายได้จากการเป็นพันธมิตร 3จี บนคลื่น 2100 MHz กับเอไอเอส รวมทั้งยังมีรายได้จากสัมปทานโทรศัพท์พื้นฐานของทรูและทีทีแอนด์ทีอีกประมาณ 1,000 ล้านบาทด้วย แต่รายจ่ายที่สูงถึง 6 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากค่าเสื่อมของโครงข่ายเป็นหลัก" มนต์ชัย ระบุ

มนต์ชัย กล่าวว่า ในส่วนธุรกิจหลักที่จะเป็นตัวชูโรงในปีนี้ คือ ธุรกิจเสาโทรคมนาคมและการเป็นพันธมิตรกับเอไอเอส ซึ่งคาดว่าจะสร้างรายได้สุทธิให้ทีโอทีกว่า 1 หมื่นล้านบาท/ปี ในช่วง 5 ปีแรก แบ่งเป็นการให้เช่าเสา 1.2 หมื่นต้น และโครงข่าย 2จี 900 MHz ปีละกว่า 5,000 ล้านบาท ใน 5 ปีแรก และ 3,000 ล้านบาท/ปี ในช่วง 10 ปีหลัง โดยเอไอเอสจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาโครงข่าย

ส่วนการเป็นพันธมิตรธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2100 MHz ทางเอไอเอสจะขยายโครงข่าย 2100 MHz แล้วซื้อความจุที่ 80% ซึ่งจะทำให้ทีโอทีมีรายได้สุทธิปีละเกือบ 4,000 ล้านบาท/ปี และความจุที่เหลือ 20% ทีโอทีจะทำตลาดเอง โดยคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ปีละกว่า 1,000 ล้านบาท โดยความคืบหน้าในขณะนี้ทางเอไอเอสจะยุติข้อพิพาท แลกกับการเช่าเสาทีโอทีในระยะยาว ส่วนสัญญาพันธมิตรอยู่ระหว่างส่งร่างสัญญาให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณา และคาดว่าน่าจะลงนามได้ภายในไตรมาสแรกปีนี้

"ทางทรูก็ยื่นเรื่องขอเช่าเสามาเหมือนกัน แต่โดยหลักการแล้วเราต้องแบ่งเป็นเสาที่มีข้อพิพาทและไม่มีข้อพิพาท ในส่วนที่ไม่มีข้อพิพาท เราจะพิจารณาประโยชน์สูงสุดที่ทีโอทีจะได้รับเป็นหลัก แต่เสาที่ยังเป็นข้อพิพาทก็ต้องไปเคลียร์ให้จบก่อน เพราะถ้าข้อพิพาทไม่จบแล้วเราเอาไปปล่อยเช่า มันจะกลายเป็นข้อพิพาทซ้อนขึ้นมาอีก" มนต์ชัย กล่าว

นอกจากธุรกิจโมบายแล้ว ทีโอทียังตั้งเป้าเพิ่มรายได้จากธุรกิจบรอดแบนด์อีก 10% โดยปัจจุบันมีลูกค้าประมาณ 1.4 ล้านราย และคาดว่าปีนี้จะเพิ่มอีก 1.7-1.8 แสนราย และคาดว่าจะทำรายได้ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท

"แม้ว่าในปีนี้จะเป็นปีที่ทีโอทีขาดทุนมากที่สุด 1 หมื่นล้านบาท แต่ถ้าดู EBITDA เรามีกำไร ส่วนปี 2560 คาดการณ์ว่าจะยังขาดทุน แต่ขาดทุนลดลงเหลือ 2,000-3,000 ล้านบาท แล้วพลิกกลับมามีกำไรในปี 2561" มนต์ชัย สรุป