posttoday

ดาต้าเซ็นเตอร์บูม รับไทยยุคดิจิทัล

14 เมษายน 2559

การแข่งขันของธุรกิจผู้ให้บริการด้านดาต้าเซ็นเตอร์ จะเน้นหนักเรื่องคุณภาพด้านการให้บริการมากกว่าแค่ราคา

โดย...ณัฏฐ์ธยาน์ สุทธิเจริญ

เทคโนโลยีใหม่ที่เกิดขึ้นในยุคนี้ ไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์หรือคลาวด์คอมพิวติ้ง ส่งผลให้องค์กรจำนวนมากต้องการเคลื่อนย้ายระบบจัดเก็บข้อมูล เครือข่าย และแบนด์วิธ ไปสู่ดาต้าเซ็นเตอร์เพื่อให้การใช้งานผ่านอุปกรณ์ทำได้ง่ายขึ้น ซึ่งศูนย์ข้อมูลใกล้เคียงหรือ Neighborhood Data Center ควรที่จะพร้อมรับความท้าทายด้านประสิทธิภาพ ความยืดหยุ่น การประมวลผล และความสามารถในการจัดเก็บ

พิเชฏฐ เกตุรวม ผู้จัดการภูมิภาคอินโดจีน ของบริษัท อิเมอร์สัน เนทเวอร์ค พาวเวอร์ กล่าวว่า ในปี 2559 นี้ได้มีการคาดการณ์เกี่ยวกับอัตราการบริโภคข้อมูลทางดิจิทัลเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้เกิดการอัดบีบตัวของข้อมูล ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล

“ระบบศูนย์ข้อมูลใกล้เคียง หรือ Neighborhood Data Center จึงมีความสำคัญอย่างมาก ในการทำหน้าที่จัดเก็บข้อมูล รวบรวม วิเคราะห์ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยระบบโครงสร้างพื้นฐานให้มีความยืดหยุ่น โดยเฉพาะย่านธุรกิจและธนาคารที่สำคัญให้คุ้มค่าต่อการลงทุนและพร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ”

ทั้งนี้ พิเชฏฐเพิ่งได้รับการแต่งตั้งให้มาทำหน้าที่ดูแลและขับเคลื่อนธุรกิจในตลาดอินโดจีน ได้แก่ ไทย เมียนมา ลาว และกัมพูชา เจาะตลาดเชิงรุกในอุตสาหกรรมหลัก เช่น อุตสาหกรรมการสื่อสารและโทรคมนาคม การพัฒนาระบบโครงสร้างคอลเลกชั่น การแพทย์และการดูแลสุขภาพ รวมทั้งธุรกิจธนาคาร

“สถานการณ์ทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจของภูมิภาคมีความเสถียรมากขึ้นเป็นตลาดที่มีศักยภาพและเปิดกว้างต่อการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยส่งผลต่อการใช้จ่ายด้านไอทีเพิ่มขึ้น 10.6% ประมาณ 13.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 469 พันล้านบาท จากการนำเทคโนโลยีคลาวด์ โมบิลิตี้ และบิ๊กดาต้าเข้ามาใช้ในเชิงธุรกิจมากขึ้น”

ในขณะที่ประเทศเมียนมาที่กำลังเป็นดินแดนแห่งโอกาส ก็มีอัตราการเติบโตภาคไอทีในระดับ 15% ต่อปี โดยคาดว่าตลาดนี้จะมีมูลค่าสูงถึง 268.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 9,400 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับอานิสงส์จากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมและการลงทุนจากภาคธุรกิจด้านไอที

การ์ทเนอร์ บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาด้านไอทีชื่อดังจากประเทศสหรัฐอเมริกา คาดการณ์ไว้ว่าปี 2563 จะมีอุปกรณ์เชื่อมต่อมากถึง 6,400 ล้านชิ้นเข้าด้วยกัน จากอิทธิพลของอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ ถือว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือและประสิทธิภาพของการใช้งาน

“สังคมที่เชื่อมต่อถึงกันได้ง่ายขึ้น ทำให้ผู้ใช้งานออนไลน์คาดหวังถึงแอพพลิเคชั่นที่ตอบสนองการทำงานได้อย่างต่อเนื่อง แม้บางครั้งการทำงานอาจต้องสะดุดจากความล้มเหลวของเครื่องสำรองไฟก็ตาม จากการศึกษาล่าสุดของ Ponemon เกี่ยวกับสาเหตุการหยุดทำงาน (Downtime) ของระบบดาต้าเซ็นเตอร์ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายสูงถึง 8,851 เหรียญสหรัฐ/นาที หรือประมาณ 3.15 แสนบาท/นาที” พิเชฏฐ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ความล้มเหลวจากการทำงานของเครื่องสำรองไฟฟ้ายังเป็นสาเหตุสำคัญอันดับหนึ่งที่ทำให้ระบบศูนย์ข้อมูลเสียหาย คิดเฉลี่ยประมาณ 7.4 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 26 ล้านบาท/ครั้ง หากเลือกใช้ยูพีเอสที่มีความคงทนจะช่วยปกป้องอุปกรณ์ไอทีให้ปลอดภัยจากกระแสไฟที่ไม่สม่ำเสมอได้

“การใช้งานดาต้าเซ็นเตอร์อย่างมีประสิทธิภาพและราบรื่น ไม่ใช่แค่คำนึงว่าระบบจะมีจำนวนความจุของข้อมูลได้เท่าไหร่ แต่ต้องคำนึงถึงระบบสำรองไฟฟ้าที่มีความเสถียรด้วย หากเกิดกรณีฉุกเฉินขึ้นมาจะแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงทีเพียงใด” พิเชฏฐ กล่าว

ไอดีซียังได้คาดการณ์การแข่งขันในตลาดดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทยไว้ว่า การแข่งขันของธุรกิจผู้ให้บริการด้านดาต้าเซ็นเตอร์ จะเน้นหนักเรื่องคุณภาพด้านการให้บริการมากกว่าแค่ราคา ซึ่งตัวชี้วัดคุณภาพของบริการจะหมายรวมถึงความซ้ำซ้อน ความพร้อมใช้งานและลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ที่เป็นปัจจัยสำคัญวัดความสามารถของผู้ให้บริการ และยังคาดว่าภายในปี 2560 พื้นที่ดาต้าเซ็นเตอร์จะเพิ่มขึ้นกว่า 180% เทียบกับปี 2558