ธปท.ยันไทย ไม่ติดกับดักสภาพคล่อง
ในสถานการณ์ปัจจุบันถึงประเทศไทยจะมีสภาพคล่องส่วนเกิน แต่ยังไม่ถือว่าเป็นปัญหากับดักสภาพคล่อง
โดย...พรสวรรค์ นันทะ
การดำเนินนโยบายการเงินผ่านตลาดเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อดูแลสภาพคล่องให้อยู่ในระดับเหมาะสม กลายเป็นความจำเป็นที่ ธปท.ต้องดูดซับสภาพคล่องจำนวนมากกลับมาผ่านหลายๆ ช่องทาง เพื่อให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่ให้กดดันดอกเบี้ยนโยบาย และไม่สร้างปัญหาต่อเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจ ส่งผลให้มีภาระขาดทุนจากการจ่ายดอกเบี้ยมาอย่างต่อเนื่อง ในปี 2558 ขาดทุนสุทธิ 8.9 หมื่นล้านบาท รวมขาดทุนสะสมทั้งหมด 6.4 แสนล้านบาท คำถามจึงเกิดขึ้นว่า “เศรษฐกิจไทยติดกับดักสภาพคล่องหรือไม่?”
หากดูข้อมูลการบริหารสภาพคล่องของ ธปท.จะพบว่า มียอดการดำรงเงินฝากกระแสรายวันที่ ธปท. ณ วันที่ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่ 1.36 แสนล้านบาท และมีการนำเงินมาฝากของสถาบันการเงินอีก 7.7 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตรแบบทวิภาคี (Bilateral Repurchase Transactions) ที่ ธปท.จะขายพันธบัตรออกไปให้สถาบันการเงินถือชั่วคราวทั้งระยะ 1 วัน 7 วัน 14 วัน หรือ 6 เดือน และมีสัญญาซื้อคืนซึ่งจะทำผ่านคู่ค้า (Primary Dealers) 10 รายที่แต่งตั้งขึ้น โดยในปีนี้จะเห็นการดูดซับสภาพคล่องส่วนเกิน ที่เสมือนการดูดน้ำที่ล้นบ่อกลับมาเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 5-9 แสนล้านบาท ในทุกๆ วัน ล่าสุด ณ วันที่ 15 ก.ค.มีการดูดสภาพคล่องที่ 7.8 แสนล้านบาท แบ่งเป็นระยะ 1 วัน 5.02 แสนล้านบาท ระยะ 7 วัน 1.85 แสนล้านบาท และระยะ 14 วัน อีก 9,595 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี ยอดข้างต้นยังไม่รวมการออกพันธบัตร ธปท.อายุไม่เกิน 15 วัน เพื่อดูดสภาพคล่องในแต่ละเดือนซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาท/ครั้ง และยังมีเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงินที่ ธปท.กำหนดให้มีการตั้งสำรอง ซึ่งธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่มักจะตั้งไว้สูงเกินเกณฑ์ สะท้อนว่าสภาพคล่องส่วนเกินยังล้นระบบแทบทุกจุด
ขณะเดียวกัน เงินที่มีอยู่จำนวนมากก็ไม่ได้ออกไปสู่ระบบเศรษฐกิจเท่าที่ควร แม้ยังมีความต้องการกู้อยู่ไม่น้อยก็ตาม ส่งผลให้ปล่อยกู้ที่พึ่งก่อให้เกิดการนำไปใช้จ่ายหรือก่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีไม่มากนัก ดูได้จากสินเชื่อทั้งระบบเมื่อเดือน พ.ค.ปีนี้ยังชะลอ โตเพียง 4.3% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน มียอดคงค้างอยู่ที่ 1.63 ล้านล้านบาท ขณะที่ยอดเงินฝากโตที่ 4.4% มียอดคงค้างอยู่ที่ 1.75 ล้านล้านบาท
วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันถึงประเทศไทยจะมีสภาพคล่องส่วนเกิน แต่ยังไม่ถือว่าเป็นปัญหากับดักสภาพคล่อง และสาเหตุที่สภาพคล่องในระบบมีมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และการลงทุนยังมีไม่มาก และยังมีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาสมทบด้วย ซึ่ง ธปท.ก็มีการดูแลดูดซับสภาพคล่องให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมอยู่แล้ว สภาพคล่องจึงไม่ได้เป็นปัญหากับระบบเศรษฐกิจ
“สำหรับวิธีการดูแลสภาพคล่อง ถามว่าจำเป็นต้องปรับวิธีการดูแลหรือไม่นั้น ธปท.มีการทบทวนอยู่ตลอดเวลาว่า วิธีที่ทำอยู่เหมาะสมหรือไม่ เพราะในการดูแลเสถียรภาพโดยรวมนั้นต้องให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจ เช่น การใช้เกณฑ์บาเซิล 3 ธปท.เราก็ไม่ได้ใช้หมด เอามาใช้เฉพาะที่จำเป็นกับสถาบันการเงินไทยเท่านั้น” ผู้ว่าการ ธปท. กล่าว
ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวอีกว่า ปริมาณสภาพคล่องส่วนเกินในปัจจุบันอยู่ในระดับที่เท่าไร ไม่สามารถบอกได้ชัดเจน เนื่องจากดูได้ในหลายนิยาม อาทิ การดูจากอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยิลด์) ก็สะท้อนสภาพคล่องอยู่พอสมควร เพราะการที่สภาพคล่องเข้าไปลงทุนมากขึ้น ก็ทำให้ราคามันสูงขึ้น บวกกับมีสภาพคล่องไหลเข้ามาเพิ่มหลังเหตุการณ์เบร็กซิต ซึ่งทำให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้น แต่ภาพการไหลเข้ามาเช่นนี้มันอาจเป็นภาวะชั่วคราว
สำหรับปัญหาสภาพคล่องในระบบสูงแต่คนที่ต้องการกู้เงินเข้าไม่ถึง เพราะคุณสมบัติอาจไม่ผ่านเกณฑ์ของสถาบันการเงินนั้น ธปท.และภาครัฐได้พยายามช่วยให้มีการเข้าถึงสินเชื่อมากขึ้นด้วยตัวช่วยใหม่ๆ มากกว่าการจะลดหรือผ่อนเกณฑ์ในการกำกับดูแลสถาบันการเงิน เช่น ดึงบทบาทของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามามากขึ้น กำหนดหลักประกันประเภทใหม่ๆ เพิ่มขึ้นจาก พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจ การสร้างฐานข้อมูล เพื่อให้เข้าใจข้อมูลการเงินได้มากขึ้น เพื่อเป็นอีกกลไกหนึ่งให้สถาบันการเงินทำงานได้ดีขึ้น
ด้าน เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ประเทศไทยไม่ถือว่าเข้าข่ายติดกับดักสภาพคล่อง ไม่ถือว่าสภาพคล่องผิดปกติ เพราะหากดูจากสภาพการแข่งขันกันระดมเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ และการขยายตัวของสินเชื่อยังสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน โดยในยามสินเชื่อชะลอตามภาวะเศรษฐกิจย่อมไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มการระดมเงินฝาก เนื่องจากในภาวะเศรษฐกิจชะลอปริมาณเงินที่จะใช้ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจก็ย่อมลดลงตามไปด้วย
“ถ้าการเกิดกับดักสภาพคล่อง น่าจะเป็นภาพของธนาคารกลางอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบแล้ว แต่สินเชื่อไม่ได้ขยายตัวเพิ่ม หรือไม่ได้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือเกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มเท่าที่ควรมากกว่า เช่น ญี่ปุ่น ยุโรป ที่ลดดอกเบี้ยติดลบ อัดฉีดเงินเข้าระบบทำคิวอี แต่เงินที่ใส่เข้าไปในระบบมันติดหล่ม ต่างจาก ธปท.เราที่ไม่ได้อัดฉีดเงินเช่นนั้น เป็นแค่การดูแลตามปกติ” เชาว์ ระบุ