บริษัทมีลูกจ้าง100รายต้องตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
คลังส่งร่างกฎหมาย กบช.เข้า ครม. บังคับเอกชนมีลูกจ้างตั้งแต่ 100 ราย ต้องตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
คลังส่งร่างกฎหมาย กบช.เข้า ครม. บังคับเอกชนมีลูกจ้างตั้งแต่ 100 ราย ต้องตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้เสนอรายละเอียดร่าง พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาแล้ว โดยสาระสำคัญของกฎหมายจะบังคับให้ผู้ประกอบการทุกรายตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้กับลูกจ้าง
ทั้งนี้ กบช.จะเริ่มบังคับในปี 2561 เบื้องต้นจะบังคับกับผู้ประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 รายขึ้นไปก่อน เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี โดยจะให้นายจ้างและลูกจ้างจ่ายสมทบเงินเข้ากองทุนฝ่ายละ 3% ใน 3 ปีแรก และจะเพิ่มเป็นฝ่ายละ 5% และ 7% ในช่วงเวลาต่อไป
นอกจากนี้ จะยกเว้นสำหรับลูกจ้างที่รายได้ไม่ถึง 1 หมื่นบาท/เดือน ไม่ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ แต่ให้นายจ้างจ่ายสมทบฝ่ายเดียว เพราะถือเป็นผู้ที่มีรายได้น้อย
"คาดว่าเงื่อนไขนี้จะไม่เป็นภาระกับผู้ประกอบการมากนัก ผู้ประกอบการรายใหญ่สามารถจ่ายเงินสมทบโดยไม่กระทบกับฐานะการดำเนินงาน สำหรับลูกจ้างที่ต้องจ่ายเงินสมทบก็ไม่มีภาระเพิ่มขึ้น เพราะในปี 2561 การลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะมีผลบังคับใช้ ทำให้มีภาระเสียภาษีน้อยลง คลัง ก็ต้องการให้นำภาระภาษีที่ลดลงกลับมาเป็นเงินออมเพื่อใช้ในวัยเกษียณ" นายสมชัย กล่าว
สำหรับการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย ซึ่งปิดรับเมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2559 คาดว่ามีคนลงทะเบียน 5.5 ล้านราย และคลังจะนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์เพื่อออกมาตรการช่วยเหลือในสิ่งที่คนมีรายได้น้อยยังขาดอยู่ ซึ่งจะเสนอให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เห็นชอบ
ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ยังได้เสนอมาตรการต่างๆ รอให้ ครม.พิจารณาเห็นชอบอีกหลายเรื่อง ทั้งมาตรการแก้ไขหนี้นอกระบบ มาตรการดูแลผู้สูงอายุที่รอบรรจุเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.