การบริหารพอร์ตการลงทุน สำหรับคนหลังเกษียณ (3)
โดย...สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP
โดย...สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP
ครั้งที่แล้ว เราพูดกันถึงพอร์ตการลงทุนสำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นสำหรับชีวิตวัยเกษียณไปแล้ว วันนี้เรามาต่อพอร์ตการลงทุนสำหรับค่าใช้จ่ายในอนาคตกันเลยครับ
m ควรเป็นการลงทุนให้ผลตอบแทนพอสมควร อย่างน้อยควรมากกว่าเงินเฟ้อจากตารางข้างล่างหากเงินออมของเราได้ผลตอบแทน = 0% ต่อปี และเราถอนเงินออมมาใช้ปีละ 10% ในเวลาเพียง 10 ปี เงินออมเราก็จะหมด แต่หากเงินออมของเราได้ผลตอบแทน = 5% ต่อปี และเราถอนเงินออมมาใช้ปีละ 10% เงินออมเราก็จะหมดในเวลาเพียง 14 ปี และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามผลตอบแทนของเงินออมเรา อย่างไรก็ตามการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง มักจะมีความเสี่ยงสูง การกระจายความเสี่ยงจะช่วยลดความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนได้ดี ขณะเดียวกันการลงทุนที่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีก็ช่วยเพิ่มผลตอบแทนของเงินออม เช่น LTF RMF
สำหรับการกระจายประเภทหลักทรัพย์ พอร์ตการลงทุนที่เหมาะสมสำหรับคนเกษียณเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของคนเกษียณ มีดังนี้
หลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น หุ้น กองทุนหุ้น ฯลฯ ประมาณ 5-15%
หลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงปานกลาง เช่น หุ้นกู้เอกชน กองทุนอสังหาริมทรัพย์ กองทุนตราสารหนี้ระยะยาว ฯลฯ ประมาณ 20-40%
หลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น พันธบัตรรัฐบาล กองทุนตลาดเงินประมาณ 40-80%
ที่มา : Retirement planning, Financial perspectives Pte Ltd., Singapore
แต่เมื่อพูดเกี่ยวกับการวางแผนการลงทุนในวัยเกษียณ ก็ไม่ใช่ว่าเราจะสนใจเรื่องการลงทุนอย่างเดียว เพราะการลงทุนอาจช่วยลดความเสี่ยงกรณีเรามีอายุยืนยาว เช่น ความเสี่ยงด้านรายได้ ความเสี่ยงจากการว่างงาน ฯลฯ คือความเสี่ยงกรณีไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับชีวิตเรา
แต่ในชีวิตวัยเกษียณก็มีความเสี่ยงอีกอย่างคือ ความเสี่ยงกรณีมีอะไรเกิดขึ้นกับชีวิตเรา ซึ่งความเสี่ยงพวกนี้ การลงทุนอาจไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด เช่น ความเสี่ยงจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ความเสี่ยงด้านสุขภาพ โดยเฉพาะความเสี่ยงด้านสุขภาพเป็นความเสี่ยงที่น่ากลัวมาก เหตุผลเพราะร่างกายเราจะเสื่อมลงเรื่อยๆ ตลอดเวลา และเมื่ออายุยิ่งมากอัตราการเสื่อมยิ่งเยอะ ปัญหาสุขภาพจึงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นควบคู่กับวัยเกษียณ
และสิ่งที่ซ้ำเติมความน่ากลัวของความเสี่ยงด้านสุขภาพก็คือ ค่ารักษาพยาบาลที่แพงขึ้นทุกๆ ปี โดยเฉลี่ยปีละ 7% และอีกอย่างก็คือ ตอนที่เราเกษียณ เวลาเราไปโรงพยาบาล เรามักจะไปเป็นคนไข้ใน หรือเลวร้ายกว่านั้นคือ นอน ICU ซึ่งค่ารักษาพยาบาลแพงมาก จนหลายคนที่ไม่ได้วางแผนการรักษาพยาบาลมาอย่างดี เงินที่ออมมาตลอดชีวิตอาจหมดได้ ดังนั้นการวางแผนเพื่อวัยเกษียณจึงควรมองอย่างครบถ้วนทุกด้าน
ท่านที่สนใจบทความทางการเงินที่ผมได้เขียนเองและได้รวบรวมจากแหล่งต่างๆ สำหรับเผยแพร่ให้ท่านผู้สนใจ ขอเชิญไปกด Like ได้ที่ Page ใน Facebook ชื่อ Sathit CFP เพื่อติดตามข้อมูลข่าวสารต่อไปได้ครับ...ขอบคุณครับ