ทรัพย์สินรอการขาย เรียกง่ายๆ ว่า NPA
หากลองค้นหาข้อมูลในโลกของอินเทอร์เน็ตจากคำว่า “ทรัพย์สินรอการขาย” หรือ “ทรัพย์สินพร้อมขาย” หรือ “เอ็นพีเอ (NPA)”
โดย...ต.เต่า
หากลองค้นหาข้อมูลในโลกของอินเทอร์เน็ตจากคำว่า “ทรัพย์สินรอการขาย” หรือ “ทรัพย์สินพร้อมขาย” หรือ “เอ็นพีเอ (NPA)” ซึ่งย่อมาจากคำว่า Non-Performing Asset อยู่คู่กับชื่อของธนาคารหรือบริษัทบริหารสินทรัพย์ หลายท่านอาจจะยังสงสัยว่าทรัพย์สินเหล่านี้ สถาบันการเงินได้มาอย่างไร และทำไมจึงนำออกมาขายให้คนอื่นแทนที่จะเก็บไว้ทำกำไรเอง
สถาบันการเงินทำหน้าที่ให้บริการทางการเงิน เช่น การรับฝากและถอนเงิน การให้สินเชื่อ และทำธุรกรรมทางการเงินอื่นๆ ตามที่ได้รับอนุญาต กรณีที่ลูกหนี้รายนั้นๆ มียอดสินเชื่อค้างชำระเกินกว่า 3 เดือนขึ้นไป เข้าข่ายเป็นลูกหนี้ด้อยคุณภาพ หรือที่เรียกกันติดปากว่า เอ็นพีแอล (NPL หรือ Non-Performing Loan) สถาบันการเงินเองไม่อาจปล่อยให้ปริมาณ NPL เพิ่มมากขึ้น เพราะจะต้องกันเงินสำรองในอัตราที่สูงขึ้น ซึ่งจะกระทบกับฐานะของสถาบันการเงินในที่สุด
นี่จึงเป็นเหตุให้สถาบันการเงินต้องรีบเร่งแก้ปัญหา NPL ด้วยการเจรจาทวงถาม หรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หรือแม้แต่บังคับด้วยกระบวนการทางกฎหมาย ในกรณีที่ไม่สามารถติดตามทวงถามหรือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้สำเร็จ และจากการแก้ปัญหา NPL ดังกล่าว ทำให้ลูกหนี้ NPL บางรายที่ไม่สามารถชำระเป็นเงินสดได้ต้องนำทรัพย์สินอื่นๆ มาชำระหนี้แทน จึงเป็นที่มาซึ่ง NPA ของสถาบันการเงินนั่นเอง
NPA ที่ได้มาเหล่านี้สถาบันการเงินจะกลายเป็นเจ้าของ และจะต้องบริหารจัดการหรือจำหน่ายโดยเร็วเพื่อให้ได้เงินกลับคืนมาใช้ในการดำเนินธุรกิจหลักของสถาบันการเงินต่อไป NPA ที่สถาบันการเงินได้มาส่วนใหญ่จึงมีความหลากหลาย ทั้งที่เป็นสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ อาทิ ที่ดิน คอนโด ตึกแถว อาคาร สิทธิการเช่า ตราสารการเงิน เป็นต้น เนื่องจากเป็นทรัพย์สินที่ลูกหนี้ NPL จำนองไว้เป็นหลักประกัน
ด้วยเหตุที่ NPA เป็นทรัพย์สินที่เคยผ่านการเลือกสรรมาแล้วจากเจ้าของหรือนักลงทุนเดิม เราจึงมักจะพบทรัพย์สินที่สถาบันการเงินประกาศขายตั้งอยู่ในทำเลที่ดีที่หาซื้อทั่วไปไม่ได้แล้วอยู่บ่อยๆ และนี่ก็คือเสน่ห์ของ NPA ที่นักลงทุนจำนวนมากในปัจจุบันหันมาสนใจติดตามกัน และหากคุณเริ่มสนใจ ก็ลองค้นหาข้อมูลในโลกของอินเทอร์เน็ตจากคำว่า “ทรัพย์สินรอการขาย” ดูครับ